ศาลฎีกาสั่งจำคุกมือปืนป๊อปคอร์น 37 ปี 4 เดือน เหตุยิงกลุ่มผู้ชุมนุมปี 57

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.11.07
กรุงเทพฯ
181107-TH-protest-gunman-1000.jpg ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ (ในขณะนั้น) ยิงใส่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล ด้วยอาวุธปืนอัตโนมัติที่ซ่อนอยู่ในถุง ในเขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557
เอเอฟพี

ในวันพุธนี้ ศาลฏีกาพิพากษาจำคุกนายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือ มือปืนป๊อปคอร์น เป็นเวลา 37 ปี 4 เดือน จากการใช้ปืนยาวไม่ทราบชนิด และขนาดยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าไอทีสแควร์ หลักสี่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 3 ราย

การพิพากษาครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มประชาชน และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง ได้ร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องให้ ผู้ชุมนุม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่พยายามขัดขวางการเลือกตั้งของประชาชนในเขตหลักสี่ เปิดทางให้กับผู้ที่ต้องการจะเลือกตั้ง มาลงคะแนนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่สถานการณ์บานปลายจนเป็นเหตุปะทะ และนายวิวัฒน์เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้อาวุธปืนยิงใส่ฝ่ายที่เรียกร้องให้เปิดทางสำหรับการเลือกตั้ง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บดังกล่าว โดยนายวิวัฒน์ ได้ใช้กระสอบใส่เมล็ดข้าวโพดสีเหลืองเขียว ซึ่งมีอักษรภาษาระบุว่า “Pop corn” คลุมปืนที่ใช้ก่อเหตุ นำมาซึ่งฉายา "มือปืนป๊อบคอร์น" ในเวลาต่อมา

คดีนี้ อัยการในฐานะโจทก์ฟ้องว่า นายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ อายุ 28 ปี จำเลยในความผิดฐานร่วมกันฆ่า, พยายามฆ่าผู้อื่น, มีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พกพาอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไปในเมืองที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และ นำอาวุธปืนออกนอกเคหะสถานภายในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8, 72 และ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 5, 6, 11, 18

จากกรณีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่ง นายวิวัฒน์ และพวก มีปืนเล็กยาวไม่ทราบชนิด และขนาด ติดตัวไปที่แยกหลักสี่ เขตหลักสี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และยิงเข้าไปในอาคารศูนย์การค้าไอทีแสควร์ ในการชุมนุมกลุ่ม กปปส. เพื่อสกัดผู้ชุมนุมกลุ่ม เรียกร้องเลือกตั้ง ที่จะเข้ามาปะทะกันจนเป็นเหตุให้นาย อะแกว แซ่ลิ้ว เสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 3 ราย

“ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์ และโจทก์ร่วมนำสืบแล้วเห็นว่า นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งได้ทำการสืบสวนพยานหลักฐานวงจรปิดของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณแยกหลักสี่ กับภาพเคลื่อนไหวบันทึกเหตุการณ์จากอินเทอร์เน็ตบางส่วน จึงสืบทราบว่า คนร้ายชุดดำที่สวมหมวกไหมพรม ใช้อาวุธปืนสวมถุงกระสอบข้าวโพดสีเขียวเหลืองปิดบังอาวุธปืน ยิงใส่กลุ่มผู้สนับสนุนการเลือกตั้งบริเวณไอทีแสควร์” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

“เปรียบเทียบบุคคลได้ชัดว่า เป็นตัวจำเลย และพี่ชายของจำเลยก็ให้การว่า บุคคลตามภาพมีลักษณะตรงกับจำเลย พยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาให้ยกฟ้องจำเลยนั้นยังคลาดเคลื่อนไปจากพยานหลักฐานที่โจทก์ และโจทก์ร่วมนำสืบมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับให้จำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นเวลา 37 ปี 4 เดือน” คำพิพากษา ระบุ

ในวันนี้ ทั้งก่อนและหลังการพิจารณา นายวิวัฒน์ ซึ่งอยู่ในชุดสีน้ำตาลของเรือนจำ ไม่ได้กล่าวอะไรกับผู้สื่อข่าว และผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีแต่อย่างใด

นายวิวัฒน์ ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2557 และถูกควบคุมตัวระหว่างการสอบสวน และการพิจารณา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาแล้วกว่า 4 ปี ที่ผ่านมา นายวิวัฒน์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 ให้จำคุกนายวิวัฒน์ เป็นเวลา 37 ปี 4 เดือน เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทย์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า นายวิวัฒน์ เป็นคนเดียวกับคนร้ายที่สวมชุดดำ และในมือสวมถุงกระสอบข้าวโพดสีเขียวเหลือง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง

ต่อมา ในวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำให้การศาลชั้นต้น ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า คดีนี้มีพยานโจทก์หลายปาก แต่ไม่มีประจักษ์พยานมายืนยัน จึงยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ แต่ยังให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา กระทั่งศาลฎีกาพิพากษา ให้จำคุกจำเลยตามศาลชั้นต้นในวันนี้

ประวัติการต่อสู้ของ กปปส.

การชุมนุมของประชาชนในนาม กปปส. เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ได้ เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน (พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการยกโทษให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในวิกฤตทางการเมืองทุกคน ซึ่งอาจหมายรวมถึงนายทักษิณ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย

ซึ่งประชาชนบางส่วน ไม่เห็นด้วยกับการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ จึงเริ่มชุมนุมครั้งแรกที่ สถานีรถไฟสามเสน และใช้การเป่านกหวีดเป็นสัญลักษณ์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการปราศรัย ต่อมา แม้สภาผู้แทนราษฎรจะถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ออกจากการพิจารณาแล้ว แต่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป โดยเปลี่ยนประเด็นมาเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลงจากตำแหน่ง และเรียกร้องการปฎิรูปประเทศไทย เพื่อขับไล่ “ระบอบทักษิณ”

จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา เพื่อให้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ กปปส. ยังคงประท้วงขับไล่รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และขัดขวางการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทำให้มีบางหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถจัดการเลือกตั้ง และประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

ระหว่างการชุมนุมของ กปปส. ผู้ร่วมชุมนุมได้เข้ายึดสถานที่สาธารณะ และสถานที่ราชการหลายแห่ง จนทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับกลุ่มผู้คัดค้านการชุมนุม มีการใช้อาวุธสงคราม และระเบิด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน และบาดเจ็บกว่าหนึ่งพันคน ตลอดระยะเวลาการชุมนุมราว 7 เดือน

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเดือนมีนาคม 2557 ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ และวินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 10 คน พ้นจากตำแหน่ง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่มีผู้นำ ทหารจึงประกาศกฎอัยการศึก และประกาศยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง