โอ๊ค-พานทองแท้ ปฏิเสธข้อหาฟอกเงิน คดีกรุงไทยปล่อยกู้ให้กฤษดานคร

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.11.05
กรุงเทพฯ
181105-TH-court-panthongtae-1000.jpg นายพานทองแท้ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน หลังขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต่อศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง ปฏิเสธข้อกล่าวฟอกเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีที่ธนาคารกรุงไทยทุจริตปล่อยกู้ให้กับ บริษัท กฤษดานคร จำกัด ในปี 2546 หลังจากที่พนักงานอัยการเพิ่งมีความเห็นสั่งฟ้องนายพานทองแท้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เนื่องจากเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง

นายพานทองแท้ ชินวัตร หรือโอ๊ค เดินทางมาตามนัดศาลฯในเวลา 10.00 น. พร้อมกับครอบครัว โดยมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายคนเข้าร่วมฟังการพิจารณา ก่อนที่ น.ส.ศิริพร กาญจนสูตร ผู้พิพากษาจะขึ้นบัลลังก์สอบคำให้การ โดยได้อ่านคำบรรยายฟ้องของโจทก์ระบุว่า นายพานทองแท้ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตปล่อยกู้กฤษดามหานครฯ เนื่องจากพบหลักฐานว่า นายพานทองแท้รับเช็คจากอดีตผู้บริหารบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด

“ระหว่างวันที่ 11 กันยายน 2546-17 พฤษภาคม 2547 นายวิชัย (วิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหาร กฤษดานคร-จำเลยคดีทุจริตกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดามหานคร) ได้สั่งจ่ายเช็คเป็นเงิน 10 ล้านบาทให้จำเลย ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 จำเลยได้นำเงินดังกล่าวไปซื้อหุ้น บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) โดยพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการโอน รับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือเพื่อซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง” ตอนหนึ่งของ คำบรรยายฟ้อง

“กระทำการเพื่อปกปิด อำพรางการได้มา การโอนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เป็นการสมคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฉบับที่ 5 พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 รวมถึง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2526 มาตรา 4 โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด” คำบรรยายฟ้องโดยสรุป

จากคำบรรยายฟ้องดังกล่าว นายพานทองแท้ ให้การปฏิเสธต่อศาล โดยอ้างว่า การรับเช็คดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ และขอให้ข้อมูลเป็นหนังสือต่อศาลในภายหลัง

“ให้การปฏิเสธ ไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง เป็นเงินที่ร่วมลงทุนกับเพื่อนในสมัยนั้น เหตุเกิดนานมาก ขอรวบรวมรายละเอียดยื่นต่อศาลเป็นเอกสารต่อไป” นายพานทองแท้ กล่าวต่อศาล

ทั้งนี้ ศาลได้กำหนดให้ จำเลยยื่นรายละเอียดคำให้การเป็นเอกสารภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 และ นัดให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบ เเละรวบรวมพยานหลักฐานจากคู่ความ หรือผู้มีอำนาจกระทำการเเทนของคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย มาศาลเพื่อส่งให้เจ้าพนักงานคดี 4 นัด ในวันที่ 22 มกราคม 2562, 26 กุมภาพาพันธ์ 2562, 20 มีนาคม 2562 เเละ 29 เมษายน 2562 ศาลนัดคู่ความทั้งสองฝ่ายมาตรวจสอบพยานหลักฐาน ในวันที่ 25 มิถุนายน 2562

ในระหว่างนี้ นายพานทองแท้ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ 1 ล้านบาทค้ำประกันในชั้นอัยการ และห้ามเดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับการอนุญาตจากศาล

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการสอบคำให้การและนัดพร้อม นายพานทองแท้ กล่าวแก่สื่อมวลชนที่หน้าอาคารศาลฯระบุว่า ไม่ต้องการให้รายละเอียดใดๆเกี่ยวกับคดี เนื่องจากต้องการให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

“ผมก็มาตามนัดศาลเขานัดมา เรื่องอื่นก็น่าจะไม่มีอะไร ให้การปฏิเสธสิครับ ขออนุญาตไม่ให้รายละเอียดเรื่องคดี เพราะเรื่องนี้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว มันอยู่ในขั้นตอนแล้ว” นายพานทองแท้ กล่าว

คดีของนายพานทองแท้คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านพิพากษาในคดีที่ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร และพวก ซึ่งเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงไทย พนักงานธนาคารกรุงไทย และพนักงานบริษัทเอกชนหลายแห่งรวมถึงบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด รวม 27 คนเป็นจำเลย ในความผิดตามพระราชบัญญติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, พระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา จากการที่ธนาคารกรุงไทยอนุมัติเงินกู้ 9.9 พันล้านบาท ให้กับบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด ซึ่งขณะนั้น มียอดขาดทุนสะสมสูง และอาจไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ และเชื่อว่า นายทักษิณอยู่เบื้องหลังการกระทำครั้งนี้ และมีจำเลยรายอื่นให้การสนับสนุน

ศาลได้พิพากษาสั่งให้ จำเลย 24 คนจากทั้งหมดมีความผิด และถูกจำคุก 12 ราย จำเลย 2 รายได้รับการยกฟ้อง ขณะที่คดีส่วนของนายทักษิณถูกจำหน่ายเนื่องจาก ไม่ได้มารายงานตัวต่อศาล เพราะหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2561 คดีทุจริตปล่อยกู้กฤษดานครฯ ดังกล่าว ถูกกลับมาทำใหม่อีกครั้งในส่วนของนายทักษิณ โดยอ้างคำให้การในชั้นศาลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่ระบุว่า “บิ๊กบอส” เป็นคนสั่งให้ธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ให้กับกฤษดามหานคร และพบหลักฐานว่า นายพานทองแท้ และคนใกล้ชิดของนายทักษิณ ได้รับการโอนเงินจากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด

โดยนายพานทองแท้ ได้รับเช็ค 10 ล้านบาท จากนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชายของนายวิชัย ในปี 2546 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการฟอกเงิน จึงส่งสำนวนให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็น สั่งฟ้องนายพานทองแท้ในวันที่ 10 ตุลาคม 2561 กระทั่งคดีเข้าสู่ชั้นศาลในวันจันทร์นี้ ซึ่งหากนายพานทองแท้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดจริง จะถูกจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 10 ปี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง