ศาลฎีกาสั่งณัฐวุฒิ จตุพร และเหวง ชดใช้ 21 ล้าน คดีเผาอาคาร ปี 53
2019.10.16
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ ศาลแพ่ง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาสั่งให้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 21 ล้านบาท จากการที่อาคารพาณิชย์ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถูกเผา ระหว่างการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553
ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ นายประสงค์ กังวาฬวัฒนา เจ้าของอาคารพาณิชย์ที่ถูกเพลิงไหม้ระหว่างการชุมนุมปี 2553 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน), นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, กระทรวงมหาดไทย, นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-10
“ศาลฏีกาพิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 8-10 ร่วมกันชำระค่าอาคารพาณิชย์ที่พิพากษา พร้อมทรัพย์สินที่โจทก์เสียหายจำนวน 21,356,650 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับค่าขาดผลประโยชน์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 พฤษภาคม 2554) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระค่าอาคารพาณิชย์ที่พิพากษาพร้อมทรัพย์สินที่โจทก์เสียหายเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ ให้เสียค่าเสียหายได้ไม่เกิน 24 เดือน ให้จำเลยที่ 8-10 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนทรัพย์สินโจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์รวม 100,000 บาท” คำพิพากษา ระบุ
ในการฟังคำพิพากษาวันนี้ ฝ่ายโจทก์ และจำเลย ได้มอบหมายให้ทนายความมาฟังคำพิพากษาแทน ซึ่งหลังฟังคำพิพากษา ทนายความได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
คดีนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าทำการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ จนทำให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย นำไปสู่การเผาอาคารในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งคดีนี้เป็นการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย กรณีเผาอาคารพาณิชย์ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใกล้อาคารห้างเซ็นเตอร์วัน และ อาคารดอกหญ้า
ต่อมา ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด โจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษากลับ แก้ให้นายจตุพร, นายณัฐวุฒิ และ นพ.เหวง จำเลยที่ 8-10 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,509,500 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่นายประสงค์ ผู้เป็นโจทก์ และให้ร่วมกันชำระเงินจำนวน 638,710 บาท ให้แก่โจทก์ และร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลทั้งสองศาลแทนโจทก์ด้วย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท จำเลยจึงใช้สิทธิฎีกา และนำไปสู่การพิพากษาของศาลฎีกา ให้จำเลยที่ 8-10 ต้องชดเชยค่าเสียหาย ในวันนี้
ในห้วงเดือนมีนาคม ไปสิ้นสุดในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 กลุ่ม นปช. ได้จัดการชุมนุมทั่วกรุงเทพฯ เพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยุบสภา เนื่องจากเห็นว่า การเข้ารับตำแหน่งของนายอภิสิทธิ์เป็นการมิชอบ รัฐบาลได้สั่งการให้ทหารเข้าสลายการชุมนุม แต่เนื่องจากมีกลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ซึ่งถูกเรียกว่า “ชายชุดดำ” แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม จึงมีการใช้กระสุนจริงยิงต่อสู้กันบริเวณที่ชุมนุม การชุมนุมลุกลามไปสู่การจุดไฟเผา ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล และเซ็นเตอร์วัน รวมถึงมีการเผาสถานที่ราชการ และศาลากลางในต่างจังหวัดหลายจังหวัด
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ผู้ประกอบธุรกิจย่านราชปรารภ 4 ราย ฟ้องหน่วยงานของรัฐและแกนนำ นปช. สำนวนแรก ซึ่งศาลได้ยกฟ้องหน่วยงานของรัฐแต่ให้ นายจตุพร, นายณัฐวุฒิ และ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง สามแกนนำ นปช. ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ประกอบการรายแรกเป็นเงิน 1,347,000 บาท, ให้โจทก์รายที่ 2-3 อีกรายละ 12 ล้านบาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 6 ล้านบาท โดยศาลให้ชำระเงินต้นดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันรับฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เนื่องจากศาลเห็นว่า คำปราศรัยของแกนนำ นปช.นั้นเป็นลักษณะยั่วยุ ปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมเกิดความโกรธแค้น ซึ่งคาดหมายได้ว่าจะเกิดผลขึ้นตามคำปราศรัย
ในส่วนของคดีอาญานั้น เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องความผิดข้อหาก่อการร้ายของ 24 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จากการประท้วงในช่วงปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตร่วม 100 ราย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายมิใช่การก่อการร้าย ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การตัดสินเป็นไปตามกระบวนการของศาล พยาน และหลักฐาน
หลังการชุมนุมมีการสรุปยอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 ราย ตามรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งผู้เสียชีวิตมีทั้งทหาร ตำรวจ ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนด้วย ได้แก่ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น สำนักข่าวรอยเตอร์ส และ นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิสระ ชาวอิตาลี