ธนาธรมุ่งมั่นเดินหน้าทำงานต่อ หลังศาลชี้สิ้นสุดสภาพ ส.ส.

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.11.20
กรุงเทพฯ
191120-TH-court-thanathorn-800.jpg นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทักทายผู้สนับสนุน เมื่อเดินทางมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังการพิจารณาคดี วันที่ 20 พ.ย. 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ปรับปรุงข้อมูล EST 4:44 pm 2019-11-20

ในวันพุธนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ หลังพบว่า ระหว่างการลงสมัคร ส.ส. นายธนาธรได้ ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเคยเป็นบริษัทผลิตนิตยสาร ด้านนายธนาธร กล่าวมุ่งมั่นจะเดินหน้าต่อ เพื่อสร้างพรรคการเมืองที่แข็งแกร่ง นำความเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่สังคม เชื่อว่า การพ้นสภาพ ส.ส.ของตน จะไม่ส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ

การวินิจฉัยครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีที่นายธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3)

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยมติ 7 ต่อ 2 ว่า นายธนาธร ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ผู้ถูกร้องใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)

“ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งประกอบกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง อันเป็นลักษณะต้องห้าม ทำให้สมาชิกภาพของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ” นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว

“วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติตามหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 มีนาคม และวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้ฟังเป็นวันที่ตำแหน่งว่างลงตามรัฐธรรมนูญ คือวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562”  นายวรวิทย์ ระบุ

หลังฟังคำวินิจฉัยเสร็จสิ้น นายธนาธร กล่าวแก่สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนับสนุนกว่า 100 คนที่มารอให้กำลังใจที่หน้าศาลว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ เป็นเรื่องส่วนตัวของตนเอง ซึ่งจะไม่นำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่

“เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ผมคิดว่าให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนตัดสินใจเอง น่าจะดีที่สุด… เรื่องคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของผม ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ ไม่เกี่ยวกับเรื่องยุบพรรค นี่เป็นเรื่องส่วนตัว พรรคอนาคตใหม่ยังเดินหน้าต่อไป และผมยังเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจะไม่มีการท้อถอย ไม่งอแง เราจะเดินหน้าต่อ เพื่อสร้างพรรคการเมืองที่แข็งแกร่ง ทำงานรณรงค์สร้างสรรค์” นายธนาธร กล่าว

“เมื่อเขาไม่ให้ผมเข้าสภาก็จะใช้เวลาอยู่กับประชาชน ยังมีอีกหลายล้านคนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในยุคนี้ ดังที่ผมย้ำเสมอว่า เราไม่ได้ต้องการเป็น ส.ส. แต่เราต้องการสร้างพรรคการเมืองที่นำความเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่สังคม อยากให้เดินหน้าต่อไป มองเป้าหมายหลัก คือเปลี่ยนแปลงประเทศ นี่คือภารกิจหลักของพวกเรา" นายธนาธร กล่าวเพิ่มเติม

สมาชิกรัฐสภาอาเซียน: ประเทศไทย “ไม่พร้อมจะมีประชาธิปไตยที่โปร่งใสและเป็นอิสระ”

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนทั้งอดีตและปัจจุบันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้วิจารณ์คำตัดสินของศาลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มภูมิภาค ในวันพุธนี้

สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights - APHR) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ “ยุติการใช้กฎหมายคุกคามสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”

“การตัดสินในวันนี้ เป็นเครื่องบ่งชี้อีกอย่างหนึ่งว่า แม้จะมีการเลือกตั้งในปีนี้ รัฐบาลไทยยังไม่พร้อมจะมี ประชาธิปไตยที่โปร่งใสและเสรี” ชาร์ลส์ ซานติอาโก สมาชิกรัฐสภามาเลเซียและประธานกลุ่มสมาชิกฯ กล่าว

“คดีนี้ควรต้องถูกพิจารณาในบริบทที่กว้างขึ้น โดย ส.ส.และพรรคฝ่ายค้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ถูกเลือกปฏิบัติโดยสถาบันที่เรียกว่า เป็นสถาบันเป็นอิสระ ของประเทศไทย สัญญาณทุกอย่างบ่งชี้ว่า นี่เป็นความพยายามของหลายฝ่ายร่วมกันปิดปากพรรคที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเดิม ไปสู่การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ”

และในปัจจุบัน สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ถูกฟ้องกว่า 27 คดีความ ซึ่งรวมถึง คดีฟ้องนางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค และ นายปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค APHR กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในคดีเหล่านี้ “อาจนำไปสู่การยุบพรรคได้”

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชนถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายธนาธร พ้นสมาชิกภาพการ ส.ส. ว่า นายธนาธร ยังคงเป็นหัวหน้าพรรค และสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากพรรคยังอยู่ และไม่ถูกตัดสิทธิ์ เพราะนายธนาธรถูกวินิจฉัยแค่คุณสมบัติการเป็น ส.ส.

เหยื่อทางการเมือง

นายธนาธร อดีตรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ได้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ในปี 2561 และพรรคอนาคตใหม่กลายมาเป็นพรรคการเมืองหัวก้าวหน้ากลุ่มใหม่ ที่กล้าท้าทายกองทัพ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน โดยล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคเดียวที่ลงมติไม่รับ ร่างพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วน ของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 โดยพรรคอ้างว่า  เพื่อเป็นการยืนยันอำนาจของสภาตามรัฐธรรมนุญ ตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร รักษาระบบรัฐสภา และเป็นการปกป้องรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สะท้อนให้เห็นว่า กองทัพคงมองคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ผลคำวินิจฉัยจะส่งผลดีต่อนายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ในระยะยาว

“การตัดสินครั้งนี้ ทุกคนน่าจะคาดการณ์ผลได้อยู่แล้ว ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า ทหารยังมองผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเป็นฝ่ายตรงข้าม ภาพที่เกิดขึ้นคล้ายกับช่วงที่มีพรรคไทยรักไทย และทักษิณ ซึ่งผลการตัดสินจะทำให้ความนิยมของธนาธร หรืออนาคตใหม่ ดีขึ้น และไม่ได้นำไปสู่การสิ้นสุดอนาคตใหม่ น่าจะทำให้มีความเข้มแข็งทางการเมืองมากขึ้นด้วยซ้ำ การยอมรับจากต่างประเทศน่าจะมีมากขึ้นด้วย เพราะ ธนาธรจะถูกมองว่า เป็นเหยื่อทางการเมือง” นายฐิติพล กล่าว

“ผลการวินิจฉัย น่าจะส่งผลดีในระยะยาวต่อธนาธรเอง และอนาคตใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคอนาคตใหม่จะมีพลังในทางการเมืองมากขึ้น คนรุ่นเก่าก็จะค่อยๆหมดไป อย่างไรก็ตาม ผลการตัดสินเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะทำให้เห็นว่า พรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่สามารถอยู่ในระบบนี้ได้อย่างจริงจัง เพราะขณะเดียวกันคนของรัฐบาลไม่ได้ถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อปี 2475 โดยการปฏิวัติของประชาชน และทหาร ในนามคณะราษฎร อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นประเทศไทย ยังมีการทำรัฐประหารถึง 13 ครั้ง และมีความพยายามทำรัฐประหารอีก 13 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

* เพิ่มเติมข้อมูล ข้อแถลงการณ์จากสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง