ศูนย์โควิดเสนอเลื่อนหยุดสงกรานต์-ปิดสถานที่กีฬา-โรงเรียน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมาตาฮารี อิสมาแอ
2020.03.16
กรุงเทพฯ และนราธิวาส
200316-TH-covid-1000.jpg เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้เดินทางกลับมาจากมาเลเซีย ที่ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส วันที่ 16 มีนาคม 2563
มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เปิดเผยว่า ที่ประชุมของศูนย์ฯ โดยมติให้เสนอเลื่อนการหยุดช่วงสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2563 ออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางของคนจำนวนมาก รวมทั้ง ให้มีการปิดสนามกีฬา สถานที่ประเภท ต่างๆ และปิดโรงเรียนโดยใช้การศึกษาผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยในวันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 33 ราย ติดเชื้อสะสมในประเทศไทยรวม 147 ราย ซึ่งเป็นยอดเพิ่มสองเท่าตัวภายในสามวัน

ในการแถลงข่าวที่ถ่ายทอดสดทั่วประเทศในวันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า

“ยืนยันว่าเรายังอยู่ในขั้นตอนที่ 2 ยังไม่ไปสู่ขั้นตอนที่ 3 หรือระยะที่ 3… คณะกรรมการได้พิจารณากันโดยรอบคอบแล้วว่า การที่มีการหยุดยาวรวมกันถึง 5 วัน แล้วก็ยังจะมีวันที่ไม่หยุดต่อไปอีก 2 วันแล้วไปบวกกับวันหยุดช่วงปลายอีก 2 วัน อาจจะทำให้เคลื่อนย้ายและเดินทางมากผิดปกติ เราเกรงกันว่า มันจะมีคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ติดโรคโดยเป็นพาหะอย่างไม่รู้ตัวไปแพร่เชื้อให้ครอบครัวในต่างจังหวัด หรือไปสภาพปกติแล้วติดเชื้อจากต่างจังหวัดมาในกรุงเทพฯ… จึงเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ไปก่อน” นายวิษณุ กล่าว

เจ้าหน้าที่ที่ร่วมแถลงข่าว ยืนยันว่า การระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยยังอยู่ในระยะ 2 ของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ นั่นคือ ยังไม่ได้ระบาดในระดับตำบล อำเภอ หรือจังหวัด และระบาดติดต่อกันจากบุคคลที่หนึ่งถึงบุคคลที่สี่ และพร้อมให้การตรวจและรักษาฟรีกลุ่มเสี่ยง

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ระยะ 3 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ รัฐบาลได้ เตรียมโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน และประสานบุคลากรทางการแพทย์ รัฐ เอกชน และเกษียณอายุ เพื่อรองรับสถานการณ์แล้ว

“ได้เสนอให้มีการปิดสถานบันเทิงบางแห่งชั่วคราว เสนอให้ปิดโรงเรียน และมหาวิทยาลัย และเปิดสอนออนไลน์แทน ให้ภาครัฐและเอกชนเหลื่อมเวลาพักเที่ยง และหากเป็นไปได้ให้ทำงานจากบ้าน และเสนอให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้น หรือใช้การประชุมทางไกลแทน” นายวิษณุ กล่าว

ยอดผู้ป่วย

ด้าน นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันจันทร์นี้พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 33 ราย ซึ่งเมื่อวันเสาร์และอาทิตย์ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพบผู้ติดเชื้อ 7 และ 32 รายตามลำดับ ทำให้ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศไทย 147 ราย

“เราพบว่า มีผู้ป่วยโดยสรุป รักษาหายแล้ว กลับบ้านได้แล้ว 36 คน ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลวันนี้ 108 คน และ 1 ราย ที่ขอแสดงความเสียใจกับญาติ เรายืนยันแล้วว่า มีผู้ป่วยทั้งหมด 147 คน โดยที่วันนี้มีผู้ป่วยเพิ่ม 33 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน 16 คน เช่น สนามมวย(ลุมพินี) สถานที่บันเทิง แล้วก็สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ อีกกลุ่มเป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 17 คน มีส่วนนึงเดินทางมาจากต่างประเทศ อีกส่วนนึงทำงานใกล้ชิดคนต่างชาติ” น.พ.รุ่งเรือง กล่าว

นายแพทย์รุ่งเรือง ระบุว่า ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขเตรียมมาตรการในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอนาคตแล้วเช่นกัน

“1. เฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มข้น 2. เข้าติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันทุกราย 3. ระบบการแพทย์ เตียงหมอ พร้อมหมด 4. มาตรการด้านการสื่อสาร ศูนย์โควิด-19 จะเป็นศูนย์ที่ตอบเรื่องทั้งหมด และ 5. มาตรการทางสังคม เปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้ที่ถูกต้อง… ถ้ามีไข้ ไอ ไม่สบาย มีประวัติเสี่ยง หรือมีอาชีพทำงานกับนักเดินทาง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือไปที่โรงพยาบาล แจ้งว่า เป็นกลุ่มเสี่ยง COVID-19 ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย และค่ารักษาพยาบาลฟรีหมด ถ้าพบการเก็บจะดำเนินคดีเด็ดขาด” น.พ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติม

ประยุทธ์แถลงต่อประชาชน

ทั้งนี้ในช่วงค่ำวันเดียวกัน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงการณ์กรณีสถานการณ์ (COVID-19) ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้ดี หลีกเลี่ยงการไปรวมกลุ่ม

“ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพราะถ้าติดเชื้อจะมีอาการหนัก โอกาสเสียชีวิตสูง การหลีกเลี่ยงไปสถานที่แออัดก็เช่นกัน อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีโอกาสจะแพร่เชื้อ หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ใส่หน้ากากอนามัย รู้สึกไม่สบายก็ควรอยู่บ้าน การกักตุนของ อย่าวิตกกังวลจนเกินไป ขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาล เราจะจัดการให้มีหน้ากากอนามัย เครื่องอุปโภค บริโภค ใช้อย่างเพียงพอ การกระจายข่าวใด ๆ ขอให้มีการตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับการรับมือ กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานเพื่อให้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มกำลังการผลิต จากวันละ 1,200,000 ชิ้น เป็น 1,760,000 ชิ้น แล้ว และอาจมีการนำเข้าหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือจากต่างประเทศเพื่อรอรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ชาวไทยติดเชื้อจากมาเลเซีย

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวถึง เรื่องที่มีประชาชนไทยได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่ Sri Petaling Mosque ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี้ จำนวน 132 คน และมีสองรายที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ติดตามตัวบุคคลที่ร่วมการเดินทางทั้งหมดแล้ว เพื่อมาตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่

ด้าน นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ประชุมทางออนไลน์กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข และได้มอบหมายให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร และผู้นำศาสนาในพื้นที่ ลงไปติดตามตัวบุคคลในข่าย ซึ่งทางผู้ว่าฯ ได้ยืนยันว่าจะดำเนินมาตรการต่าง ในการควบคุมโรคตามขั้นตอนอย่างรัดกุม

ส่วนประเทศมาเลเซียเอง ในคืนวันจันทร์นี้ นายมูฮ์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ประกาศปิดประเทศเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 18 ถึงวันอังคารที่ 31 มีนาคม 2563 เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งวันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อได้พุ่งขึ้นสูงถึง 125 ราย รวมเป็นจำนวนสะสม 553 ราย และสูงที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายมูฮ์ยิดดิน กล่าวในแถลงการณ์ว่า มาตรการปิดประเทศนี้ ห้ามมิให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ และห้ามชาวมาเลเซียไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศ ทั้งกิจกรรมสาธารณะทั้งหมด ทางศาสนาและอื่น ๆ จะถูกจำกัด หน่วยราชการจะหยุดดำเนินการ และบริษัทภาคธุรกิจเอกชนจะต้องปิดตัวลงชั่วคราว

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 169,387 คน มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 140 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 6,513 คน รักษาหายแล้ว 77,257 คน ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ จีน อิตาลี อิหร่าน เกาหลีใต้ สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้น ระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว

ทั้งนี้ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย การจองตั๋วเครื่องบิน ที่พักและการนำเที่ยวในประเทศไทยถูกยกเลิกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การส่งออกบางส่วนชะลอตัว เนื่องจากในหลายประเทศงดเที่ยวบินขาเข้า ขณะที่ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย ปรับตัวลดลงจาก 1,586.16 จุด ในวันที่มีข่าวพบผู้ป่วยรายแรกในไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 มาปิดอยู่ที่ 1,046.08 จุด ในวันที่ 16 มีนาคม 2563 นี้ ซึ่งปัจจุบัน ถือเป็นจุดต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี ของตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพ ร่วมรายงานข่าวนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง