นักเศรษฐศาสตร์ชี้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.03.18
กรุงเทพฯ
200318-TH-covid-bar-1000.jpg เจ้าหน้าที่แจ้งให้เจ้าของบาร์หยุดกิจการ เนื่องจากรัฐได้ออกมาตรการเพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา บนถนนข้าวสาร ถิ่นที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ในกรุงเทพฯ วันที่ 18 มีนาคม 2563
เอพี

ในวันพุธนี้ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เพิ่ม 35 ราย เป็นการประกาศพบผู้ติดเชื้อในวันเดียวจำนวนมากที่สุด ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 212 ราย ซึ่งได้สร้างแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มที่จะติดลบ

ในวันนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 35 ราย

“เรามีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 42 ราย อยู่โรงพยาบาล 169 ราย เสียชีวิต 1 ราย ติดเชื้อยืนยัน 212 ราย เพิ่มขึ้น 35 ราย ผู้ที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค 7,546 ราย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปีในปีนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะติดลบ และได้เสนอแนวทางให้รัฐบาลดำเนินมาตรการทางการเงินการคลัง เพื่อรับมือกับปัญหาทั้งโรคโควิด รวมทั้งภัยแล้ง

“สถานการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการประเมินล่าสุด ยังไม่สามารถชี้ชัดว่า จะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับโลกหรือวิกฤตการณ์ในไทยหรือไม่ แต่แน่นอนมีความเสี่ยงที่จะเกิดมากขึ้นตามลำดับ ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วที่ระดับ 1.8% มีแนวโน้มจะปรับลดลงจากระดับนี้ค่อนข้างมาก มีแนวโน้มสูงที่เศรษฐกิจไทยทั้งปี น่าจะติดลบ” นายอนุสรณ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“เศรษฐกิจไทยเวลานี้ คาดว่าน่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิคแล้ว ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบแน่ในไตรมาสแรก และอาจจะติดลบต่อเนื่องในไตรมาสสองติดต่อกัน โดยคาดว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกอาจหดตัวเกือบ 2%” นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ได้ส่งผลลบต่อธุรกิจของประเทศไทยหลายภาคส่วน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม- 29 กุมภาพันธ์ 2563 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยลดลง 40% และโดยเฉพาะจากจีนลดลง 81% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือ การท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบ 6 เดือน หรือสิ้นสุดการแพร่ระบาดในเดือนเมษายน ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดต่ำที่สุดในเดือนพฤษภาคม จะใช้ระยะเวลาฟื้นตัวราว 3 เดือน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 30 ล้านคน หรือติดลบ 24% จาก 39.8 ล้านคนในปีก่อน และจะมีรายได้ราว 1.5-1.6 ล้านล้านบาท หรือหายไปประมาณ 4 แสนล้านบาท

ด้าน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สถิติการค้าชายแดนของไทย ในรอบต้นปี 2563 (ม.ค.) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 86,070 ล้านบาท ลดลง 10.76% แบ่งเป็นการส่งออก 59,501 ล้านบาท (ลดลง 9.44%) และการนำเข้า 26,569 ล้านบาท (ลดลง 13.57%) ทั้งนี้ การค้าชายแดนมาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มูลค่า 31,024 ล้านบาท (ลดลง 16.39%) เป็นการส่งออก 19,599 ล้านบาท (ลดลง 9.56%) นำเข้า 11,425 ล้านบาท (ลดลง 25.99%) รองลงมาคือ สปป.ลาว มูลค่า 24,060 ล้านบาท กัมพูชา มูลค่า 16,784 ล้านบาท และเมียนมา มูลค่า 14,203 ล้านบาท

ด้าน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศไทย โดย 12 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, เครื่องสำอาง, เคมี, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, หัตถกรรมสร้างสรรค์, โรงเลื่อย โรงอบไม้, ไม้อัดไม้บาง และวัสดุแผ่น, อัญมณีและเครื่องประดับ, เทคโนโลยีชีวภาพ, อาหาร และ สมุนไพร อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลาง 9 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์, เครื่องปรับอากาศ, สิ่งทอ, เซรามิก, แก้วและกระจก, ยา, เหล็ก, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง และ ต่อเรือซ่อมเรือ

ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย ปรับตัวลดลงจาก 1,586.16 จุด ในวันที่มีข่าวพบผู้ป่วยรายแรกในไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 มาปิดอยู่ที่ 1,048.15 จุด ณ วันที่ 18 มีนาคม 2563 นี้

ผศ.ดร.อนุสรณ์ เสนอแนะให้รัฐทบทวนงบประมาณปี 2563

ดังนั้น ผศ.ดร.อนุสรณ์ จึงเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องนำงบประมาณปี 2563 มาทบทวนใหม่ และ การจัดเตรียมงบประมาณปี 2564 โดยต้องนำผลกระทบของโควิด-19 มาพิจารณาในฐานะปัจจัยสำคัญด้วย

“เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ใหม่ โดยงบกลาง 518,770 ล้านบาทนั้น ควรนำมาจัดสรรให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 หากมีผู้ป่วยพร้อมๆ กันมากกว่า 10,000 คน เพราะหอแยก และอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ โรงพยาบาลของรัฐไม่สามารถรองรับได้ ต้องจัดสรรงบให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพมาร่วมให้บริการ และทำให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องปรับลดงบประมาณการจัดซื้ออาวุธหรืองบประมาณอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อนำงบมาใช้ตรวจและรักษาฟรี” นายอนุสรณ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่าการระบาดยังอยู่ระดับ 2 ยังไม่ถึงขั้นต้องปิดประเทศ

“ถ้าใช้คำว่าปิดประเทศมันวุ่นวายไปหมด หรือปิดจังหวัด ถ้าปิดจังหวัดจริง คนก็เข้า-ออกไม่ได้ รถยนต์ต่างๆ ก็เข้าไม่ได้ ก็จะเหมือนกับอู่ฮั่นที่เคยทำที่ปิดเมือง เราคงยังไม่ต้องการขนาดนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในวันนี้

“แต่ถ้าถึงขนาดนั้นจริง ผมก็ต้องปิดอย่างที่ว่า แล้วอาหารการกินจะอยู่กินกันอย่างไร ก็ต้องเตรียมมาตรการกันอีก ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะไปคนละทางสองทาง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกาศมาตรการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม การระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เช่น การให้ธนาคารออมสินปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ธนาคารอื่นๆ เพื่อปล่อยกู้ให้ผู้ได้รับผลกระทบในอัตราร้อยละ 2 มีการเติมทุนให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก 250,000 ล้านบาท การเติมเงินในระบบอีกกว่า 123,000 ล้านบาท โดยการขยายระยะเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปจากเดือนมีนาคมเป็นเดือนมิถุนายน การพักเงินต้นและผ่อนชำระดอกเบี้ย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษโดยสำนักประกันสังคม การปรับลดภาษี หัก ณ ที่จ่าย การเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม การบรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟ และมาตรการอื่น ๆ อีกหลายมาตรการ

จุฬาราชมนตรีสั่งระงับละหมาดวันศุกร์ - นราธิวาสปิดจุดผ่อนปรน

ในวันพุธนี้ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยให้งดการละหมาดวันศุกร์ การละหมาดญะมาอะห์ และการจัดกิจกรรมและการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม สำหรับในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศห้ามรวมตัว

“ให้งดการละหมาดวันศุกร์ การละหมาดญะมาอะห์ ที่มัสยิด โดยให้ละหมาดบ่าย(ดุฮ์ริ) 4 รอกาอัดที่บ้านแทน… ให้ผู้บริหารมัสยิดจัดการละหมาดเฉพาะกลุ่มที่มีจำนวนไม่เกิน 5 คน โดยมีการเว้นระยะห่างในแถวอย่างน้อย 2 เมตร… งดการจัดกิจกรรมแล้วรวมตัวกันเป็นกลุ่ม” ประกาศจุฬาราชมนตรี ระบุ

เมื่อวานนี้ พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ลงพื้นที่ยังด่าน ศุลกากรสุไหงโกลก อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส พร้อมออกมาตรการประกาศปิดจุดผ่อนปรนทั้ง 13 จุด ในพื้นที่ชายแดนของจังหวัดนราธิวาส โดยตั้งแต่เวลา 05.00 วันพุธที่ 18 มี.ค. 63 จะไม่อนุญาตให้มีการเข้าออกผ่านจุดผ่อนปรนทั้งหมด เพื่อสกัดกั้นและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 โดยได้ประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชนที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยโดยใช้ช่องทางด่านหลักทั้ง 3 ด่าน เท่านั้น

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 207,860 คน มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 160 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 8,657 คน รักษาหายแล้ว 81,972 คน

ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ จีน อิตาลี อิหร่าน สเปน เยอรมัน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้น ระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว ส่วนประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตเพียงหนึ่งราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง