ภรรยานายอับดุลเลาะผู้เสียชีวิต เตรียมแจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ จว.ชายแดนใต้

มารียัม อัฮหมัด และมาตาฮารี อิสมาแอ
2019.08.26
ปัตตานี และนราธิวาส
190826-TH-custody-death-1000.jpg ญาติๆ และเพื่อนบ้านนำศพนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไปฝังที่กุโบร์บ้านเจาะกีแย ม.3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี วันที่ 25 สิงหาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 13:50 ET 2019-08-27

ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ที่ถูกควบคุมตัวในหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจทหารพราน ค่ายอิงยุทธบริหารที่ได้เสียชีวิตในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อตอนเช้าของวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ กล่าวในวันจันทร์นี้ว่า กำลังปรึกษากับทนายความเพื่อที่จะแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่อาจจะกระทำผิดต่อไป ขณะที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวแก่ผู้สื่อข่าววันเดียวกันนี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ

นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจพรก.ฉุกเฉิน ในหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากที่ถูกซัดทอดโดย นายอิบรอเฮงระ มะเซ็ง ผู้ก่อการร้ายระดับแกนนำ ที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ว่า นายอับดุลเลาะ ได้ช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่อำเภอสายบุรี ปัตตานี หลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ ได้เชิญตัวนายอัลดุลเลาะ จากบ้านพักในพื้นที่ ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี เพื่อมาซักถาม โดยผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และภรรยา อยู่ในเหตุการณ์

แต่เมื่อเวลาเช้าของวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 นายอับดุลเลาะ หมดสติและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และโรงพยาบาลปัตตานี โดยแพทย์ระบุเบื้องต้นว่ามีอาการสมองบวม ได้กลายเป็นที่วิพากษ์-วิจารณ์บนอินเทอร์เน็ต ว่า นายอับดุลเลาะ ถูกเจ้าหน้าที่ทรมานระหว่างการซักถามหรือไม่

“เขาให้สัมภาษณ์แล้ว ก็รักษาตัวมาเดือนนึงแล้วก็เสียชีวิตจากการติดเชื้อ ทางโรงพยาบาล 3 โรงพยาบาล เขายืนยันมาแล้ว ติดเชื้อ (ทหาร) ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องของการทำให้เสียชีวิต เดี๋ยวทัพภาค 4 เขาติดตาม” พลเอกประวิตร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันจันทร์นี้

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะว่า เกิดจากปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง (severe pneumonia) และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (septic shock) ญาติๆ ได้ทำพิธีฝังศพนายอัลดุลเลาะ ที่กุโบร์บ้านเจาะกีแย ม.3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อตอนสายของวันอาทิตย์นี้

ในวันจันทร์นี้ นางซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยานายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองเชื่อว่า อาการของนายอับดุลเลาะ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ และจะติดตามทวงถามหาความยุติธรรมต่อไป โดยขณะนี้ ตนกำลังปรึกษากับทนายความเพื่อที่จะแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่อาจจะกระทำผิดต่อไป

“ฉันกำลังปรึกษากับประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความปัตตานี เพื่อดำเนินการแจ้งคดีความทางอาญาแก่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดต่อไป” นางซูไมยะห์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ต้องทวงถามความคืบหน้าจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้กับอับดุลเลาะ จากการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวหมดสติในระหว่างการควบคุมตัว เนื่องจากจนถึงขนาดนี้ ยังไม่ได้คำตอบใดๆ เลย” นางซูไมยะห์กล่าวเพิ่มเติม

อย่างก็ตาม ภรรยาและญาติๆ ของนายอับดุลเลาะ ปฏิเสธที่จะให้เจ้าแพทย์ชันสูตรพลิกศพ เพราะไม่มีความเชื่อมั่น

“แม้จะมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่งตั้งขึ้นมา แต่เวลาผ่านไปกว่า 30 วัน ไม่มีอะไรคืบหน้า แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า หากให้ทางหมอผ่าพิสูจน์จะได้ความจริง บอกตรงๆ เลยว่า ขณะนี้ ด้านญาติไม่เชื่อมั่นเลย” นายโมฮำมัดรอฮมัด มามุ อายุ 36 ปี ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้

องค์กรสิทธิฯ สอบถามความคืบหน้าในการสอบสวน

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ได้สอบถามรัฐบาลถึงความคืบหน้าในการสอบสวน

“ฝ่ายทหารไม่สามารถแม้แต่จะให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อนายอับดุลเลาะ ที่หน่วยซักถาม สาเหตุของการขาดออกซิเจน และวิธีการที่ทหารใช้ในการซักถามเขา” องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ วันจันทร์นี้

“นอกจากนี้ กอ.รมน. ภาค 4 ได้อ้างว่า กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งที่หน่วยควบคุมตัวนั้นไม่ได้ออนไลน์ในเวลานั้น จึงไม่มีเทปบันทึก หรือหลักฐานอื่นใดที่ใช้ประกอบการสอบสวนได้”

ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการสอบสวนคดีให้เสร็จสิ้น

“การเสียชีวิตของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ เป็นคดีทดสอบสำคัญว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการกับคดีการละเมิดสิทธิในระหว่างการควบคุมตัวของทหารหรือไม่” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว “ทางการไทยต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขาจริงจังที่จะให้มีการดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดหรือ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายอีกคดีหนึ่ง”

โดนทำร้ายสมองบวมหรือไม่

หลังจากนายอับดุลเลาะ เข้ารับการรักษาพยาบาลใหม่ๆ พ.อ.ปราโมทย์ ได้แถลงข่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระ เป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วยภาคประชาสังคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่สังคมยอมรับ เข้ามาตรวจสอบเร่งด่วน 2 คณะ คือ คณะกรรมการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการด้านวินัยหรืออาญาทหาร และคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

และเมื่อปลายเดือนกรกฏาคม นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แถลงว่า อาการสมองบวมอาจเกิดจาก 1) สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ซึ่งคณะแพทย์ได้ชันสูตรในขั้นต้นแล้ว ไม่พบร่องรอยการกระทบกระเทือนทางสมอง (2) อาจเกิดจากโรคหลอดเลือดโป่งพอง ซึ่งในชั้นนี้ คณะกรรมการยังไม่สามารถตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียดชัดเจนได้ เนื่องจากรายงานและการให้ถ้อยคำของแพทย์ผู้รักษาอาการผู้ป่วยระบุว่า อาการปัจจุบันของผู้ป่วยพบว่าเลือดในสมองไม่มีการไหลเวียน จึงไม่สามารถฉีดสีเข้าเส้นเลือดในสมอง เพื่อทำการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ หากจะมีการตรวจสอบให้ชัดเจน สามารถทำได้เฉพาะในกรณีตรวจร่างกายผู้เสียชีวิต ซึ่งอาจทำได้ 2 กรณี คือ การผ่าพิสูจน์ และใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ และ (3) ขาดอากาศหายใจหรือไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำ หรือตัวผู้ป่วยหมดสติและมีภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ นางอังคณา นีละไพจิต อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ความเห็นในเรื่องการตายของอับดุลเลาะว่า น่าจะเป็นการขาดอากาศหายใจ จนนำมาสู่อาการสมองบวมและสมองตาย และเกิดโรคแทรกซ้อนในภายหลัง

“ซึ่งต่อมาเขาได้เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน ทั้งที่เขาไม่เคยมีประวัติเจ็บป่วย หรือมีโรคประจำตัวมาก่อน คงยากที่จะอธิบายให้ญาติและสังคมเข้าใจได้ แม้ไม่มีหลักฐานว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่มีหลักฐานเช่นกันว่า ทำไมเขาจึงขาดอากาศหายใจ จะมีก็แต่เพียงการให้ข้อมูลและการสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวเขาเท่านั้น” นางอังคณา กล่าว

“อยากให้บทเรียนจากความเจ็บปวดของครอบครัวครั้งนี้ เป็นจุดเปลี่ยนให้เจ้าหน้าที่ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวมากขึ้น เช่น การให้ญาติเข้าเยี่ยมได้อย่างใกล้ชิด นับแต่เมื่อถูกควบคุมตัว” นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับสถิติผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ ระหว่างถูกควบคุมตัว มีทั้งหมด 5 ราย และบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ได้แก่ นายอัสฮารี สะมะแอ อายุ 25 ปี เสียชีวิตวันที่ 21 ก.ค. 2550 อิหม่ามยะผา กาเซ็ง อายุ 62 ปี เสียชีวิตเมื่อ 21 มี.ค. 2551 นายสุไลมาน แนซา อายุ 25 ปี เสียชีวิต เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2553 นายอับดุลลายิ ดอเลาะ อายุ 41 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2558 และรายล่าสุด คือ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2562

สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ คือ นายมะสุกรี สาและ อายุ 36 ปี ถูกเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2562 ปัจจุบัน นายมะสุกรี สาและ มีอาการแขนขาอ่อนแรง เคลื่อนที่ไม่ได้ ต้องได้รับกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง

* แก้ไขข้อมูลเป็น นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจ พรก.ฉุกเฉิน จากเดิมรายงานว่า ภายใต้กฎอัยการศึก

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง