กองทัพไทยให้ชาวบ้านอาสาสมัครทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสามจังหวัดชายแดนใต้

ดอน ปาทาน
2016.10.06
ยะลา
TH-vols-1000 อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านกำลังรับการฝึกอบรมในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558
เบนาร์นิวส์

ขณะนี้ กำลังพลในสามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีจำนวนน้อยที่สุด นับแต่ที่เคยมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเก้าปีที่แล้ว โดยกองทัพได้ค่อยๆ ลดกำลังพลลง พร้อมกับการเปลี่ยนไปให้กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่แทน

ปัจจุบัน อัตรากำลังพลในสามจังหวัดชายแดนใต้มีเพียง 20,000 นายเศษเท่านั้น จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังพลที่ประจำในพื้นที่นี้เมื่อปี 2550 เพียงเล็กน้อย ตามรายงานของโฆษกกองอำนวยการทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ของไทย

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 กล่าวว่า กำลังพลเกือบทั้งหมดจากภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้ถอนออกจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้แล้ว

เขากล่าวว่า ขณะนี้ เหลือกำลังพลจากพื้นที่อื่นเพียงสามกองพันเท่านั้น โดยแต่ละกองพันมีทหารประมาณ 800 นาย ที่ยังอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และมีผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คนนับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ในเหตุการณ์รุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน

การลดกำลังพลดังกล่าวได้รับการชดเชย โดยการมอบหมายหน้าที่การรักษาความปลอดภัยให้แก่กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ เช่น กองอาสารักษาดินแดน (อส.) และอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) พ.อ.ปราโมทย์ บอกแก่เบนาร์นิวส์

กำลังรักษาความปลอดภัยทั้งหมด รวมทั้งกลุ่มเหล่านี้และเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีจำนวนทั้งสิ้นราว 50,000 นาย ในพื้นที่ที่มีราษฎรจำนวน 1.7 ล้านคน และร้อยละ 80 เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ปัตตานี

“นี่จะไม่ใช่การทดแทนโดยสมบูรณ์ เนื่องจากกองพลทหารราบที่ 15 ของกองทัพภาคที่ 4 จะกำกับควบคุมการปฏิบัติการรายวันในพื้นที่นี้” พ.อ. ปราโมทย์กล่าว

การทยอยลดกำลังพลลงได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2554 โดยกำลังพลลดลงมากที่สุดจำนวน 8,000 นาย ในปี 2558 เพียงปีเดียว พ.อ.ปราโมทย์กล่าว

ให้หน่วยอาสาสมัครมีบทบาทมากขึ้น

หน่วยอาสาสมัครดังกล่าวทำงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่กระทรวงกลาโหม

กองอาสารักษาดินแดนได้รับการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานทางทหารจากกองทัพบกและตำรวจ และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาความปลอดภัยให้แก่ข้าราชการจังหวัด และรับเงินเดือนจากกระทรวงมหาดไทย

หน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านแต่ละหน่วยได้รับเงินจำนวน 20,000 บาทต่อเดือน เป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆ เช่น ค่าขนมและกาแฟ อาสาสมัครหน่วยนี้ได้รับปืนลูกซองและการฝึกอบรมจากหน่วยทหารในพื้นที่ และทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในหมู่บ้าน

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวเสริมว่า ประมาณร้อยละ 40 ของทหารที่เหลือจำนวน 20,000 นายเศษ เป็นหน่วยจู่โจม โดยจำนวนมากในหน่วยนี้เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในท้องที่ กำลังกึ่งทหารเหล่านี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกำลังทหารปกติ แต่ได้รับการเกณฑ์จากคนในท้องที่ และได้รับการฝึกโดยกองทัพบกของไทย

หน่วยจู่โจมดังกล่าวก่อตัวเป็นหน่วยทหารราบเบา และประจำการในพื้นที่ห่างไกล เพื่อทำการลาดตระเวนระยะไกล ตลอดจนปฏิบัติการค้นหาและทำลายเพื่อกำจัดกลุ่มก่อความไม่สงบ แทนกองทัพบกของไทย

เบื่อระอาความรุนแรง

พื้นที่ที่มีความขัดแย้งมาเป็นระยะเวลานานนี้มีกำลังพลประจำการจำนวนสูงสุดเมื่อปี 2550 โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 70,000 นาย ส่วนที่เป็นกำลังทหารมีจำนวนเกินครึ่งมาเล็กน้อยเท่านั้น

สี่ปีต่อมา ในปี 2554 กองทัพได้ตัดสินใจเริ่มลดกำลังพลลง และมอบหมายหน้าที่การรักษาความปลอดภัยให้แก่กำลังติดอาวุธภายในพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่พูดภาษามลายู

ปีนั้นยังมีการบรรจุอัตรากำลังตำรวจเพิ่มขึ้น 1,700 นาย ในพื้นที่นั้นด้วย พ.อ. ปราโมทย์กล่าว

เขายอมรับว่า อัตรากำลังพลในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงการลดอัตราลงอย่างมากจากปี 2550 แต่ยืนยันว่ากำลังที่จ้างภายในท้องที่มีความพร้อม และสามารถรับหน้าที่งานรักษาความปลอดภัยได้

 

ปัจจัยอื่นที่เสริมความมั่นใจของกองทัพคือ เหตุผลที่ว่าราษฎรจำนวนมากอยู่ข้างเดียวกับรัฐบาล

“ผู้คนต่างก็เบื่อระอาความรุนแรง” พ.อ.ปราโมทย์กล่าว

เขาเสริมว่า ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนเหตุรุนแรงโดยรวมได้ลดลงอย่างมาก

การมีกองกำลังทหารยังคงมีความสำคัญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยกล่าว

ตามรายงานจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) องค์กรที่ขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการสันติภาพ ซึ่งมีฐานอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดปัตตานี ระหว่างปี 2547-2550 มีเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 1,926 ครั้ง

ตั้งแต่ปี 2552-2557 ตัวเลขต่อปีลดลงประมาณครึ่งหนึ่งเหลือ 1,027 ครั้งต่อปี ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ตัวเลขนั้นลดลงอีกเหลือประมาณ 60-70 ครั้งต่อเดือน หรือ 840 ครั้งต่อปี

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ DSW กล่าวว่า การมอบหมายให้กลุ่มชาวบ้านในท้องที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยพื้นที่แทน เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระยะยาวของกองทัพ เพื่อลดจำนวนบุคลากรและค่าใช้จ่ายลง

“กองกำลังทหารและจำนวนบุคลากรทหารที่มี ยังคงมีมากอยู่ และการทำงานของกองทัพยังคงเหมือนเดิม แต่กองทัพบกไทยจะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก เพราะการถอนกำลังพลดังกล่าว แต่ประสิทธิภาพของการปฏิบัติการในพื้นที่จะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มชาวบ้านอาสาในท้องที่จะไม่มีขีดความสามารถเดียวกันกับทหารปกติ” ผศ.ศรีสมภพกล่าว

นายสุไฮมี ดูละสะ ผู้อำนวยการวิเทศสัมพันธ์ของสถาบันปาตานี องค์กรสังคมพลเรือนในท้องที่ กล่าวว่า “กองทัพมืออาชีพ ถ้าได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง ควรอยู่ในสถานะที่ดีกว่าที่จะปฏิบัติการสร้างสันติภาพในความขัดแย้ง เช่นที่มีในจังหวัดปัตตานี การติดอาวุธให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น และการให้ชาวบ้านเหล่านี้เสี่ยงชีวิต ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา”

“ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อกองทัพบกไทยเข้าใจว่า การใช้วิธีการทางทหารจะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งที่มีมานานนี้ได้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดพื้นที่การเมือง เพื่อให้เกิดการหารือที่มีความหมายและหาสาเหตุที่แท้จริง หากต้องการแก้ไขความขัดแย้งนี้” นายสุไฮมีกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง