สภาความมั่นคงฯขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชายแดนใต้ ยกเว้นเบตง

มารียัม อัฮหมัด
2018.02.16
ปัตตานี
180216-TH-decree-extend-620.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนตรึงกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน ในอำเภอเมือง ปัตตานี วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันศุกร์นี้ว่า คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 51 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ยกเว้น อ.แม่ลาน ออกไปอีกสามเดือน เพื่อช่วยในการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน ส่วนพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ให้คุ้มครองด้วย พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

การขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประกาศขยายครั้งล่าสุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม สมช. เคยมีมติในวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี ยกเว้น อ.แม่ลาน ออกไป 3 เดือน คือตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2560 ถึง 19 มีนาคม 2561

“การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ความฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไป เพื่อเป็นสิ่งที่ช่วยพี่น้องประชาชนในการพิทักษ์ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในที่ประชุมมีความเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี ขอขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี เว้นอำเภอแม่ลานออกไปอีกสามเดือน ก็คือตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึง 19 มิถุนายน (2561)” พล.อ.วัลลภ กล่าวหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 1/2561 ในวันนี้

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เป็นกฎหมายที่นำมาใช้ เมื่อพื้นที่อยู่ในภาวะคับขัน มีการใช้กำลังและมีการประทุษร้ายกันอย่างรุนแรง การบริหารงานอยู่ในดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องขอหมายศาลก็ได้ ซึ่งในพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชนจะไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดของเจ้าหน้าที่ได้ และไม่สามารถจัดการชุมนุมได้ โดยจะมีการประกาศใช้คราวละไม่เกิน 3 เดือน อัตราโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนจะถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) เป็นกฎหมายที่นำมาใช้เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง โดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารละเมิดสามารถฟ้องร้องเอาความกับเจ้าหน้าที่ได้ สามารถจัดการชุมนุมได้ โดยระยะการประกาศใช้ แล้วแต่ ครม.เป็นผู้กำหนด ซึ่งผู้ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับอำเภอเบตง จังหวัดยะลา นั้น สมช.เสนอให้นำออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แล้วนำพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้แทนเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมธุรกิจของอำเภอเบตง โดยมติที่ประชุม สมช.นี้จะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในการประชุมครั้งที่จะถึงนี้

“กอ.รมน.ได้เสนอปรับลดพื้นที่อำเภอเบตง ออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อนำมาตรการตามพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมาบังคับใช้แทน สืบเนื่องจาก กอ.รมน.ได้ประเมินผลตามตัวชี้วัดการปรับลดพื้นที่พบว่าอำเภอเบตง ผ่านเกณฑ์ จึงเสนอให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน ก็ช่วยส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่” พล.อ.วัลลภกล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายกิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แสดงความคิดเห็นต่อมติที่ประชุม สมช. ในวันนี้ว่า เป็นการเหมาะสมแล้วที่จะปรับลดการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่อำเภอเบตง เนื่องจากที่ผ่านมา ถือว่าอำเภอเบตงมีสถานการณ์ที่สงบเรียบร้อย

“อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ไม่มีการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ มาเป็นระยะหนึ่งแล้ว ที่ประชุมจึงเห็นว่า เหมาะสมที่จะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ดังกล่าว และก็ยังมีการประเมินสำหรับพื้นที่อื่นที่ไม่มีการเกิดเหตุการณ์ เพื่อที่จะยกเลิกในโอกาสต่อไป” นายกิตติกล่าว

นายแวอาแซ แวยูนุ ชาว อ.เบตง จ.ยะลา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่อำเภอเบตง ถูกพิจารณาให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจาก ประชาชนในพื้นที่ต้องการใช้ชีวิตในแบบปกติที่สุด

“ชาวบ้านขอแค่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ไม่ต้องมาเสียเวลากับเรื่องไม่เข้าเรื่องที่ชาวบ้านในหลายพื้นที่ต้องเจอ แบบนั้นเสียเวลาเสียเงินและเสียความรู้สึก” นายแวอาแซกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง