หน่วยงานความมั่นคงเสนอแก้กฎหมาย ถอนคดีกับผู้กลับใจชายแดนใต้

มารียัม อัฮหมัด
2019.05.30
ปัตตานี
190530-TH-dissidents-surrender-625.jpg พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางรับมอบตัวผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้ารายงานตัวร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ที่หน่วยเฉพาะกิจสงขลา ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา วันที่ 27 เมษายน 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงของไทย มีมติในหลักการในการเสนอให้คณะรัฐมนตรีแก้ไขพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ต้องสงสัย เป็นผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้ามอบตัวต่อทางการ โดยให้เจ้าหน้าที่สามารถร้องขอให้ฝ่ายตุลาการยกเลิกข้อหาให้ได้ หากผ่านการอบรมและกลับใจไม่ข้องเกี่ยวกับกลุ่มขบวนการ

นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวในวันพฤหัสบดีนี้ว่า การศึกษาการแก้ไขพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวกขึ้น

“เรื่องนี้ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ ครม. อภิสิทธิ์ เพื่อดูว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่ เช่น การคุ้มครองคนที่กลับตัวมาร่วมพัฒนาประเทศ ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ต้องมีกฎหมายพิเศษมาคุ้มครองเขา ซึ่งกฎหมายเดิมๆ ไม่ค่อยมีบทมาคุ้มครองเท่าไหร่ มาตั้ง พรบ.ความมั่นคง ในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ ก็ยังไม่ได้แก้ แต่มีข้อเสนอว่าจะเพิ่มบทที่จะคุ้มครอง เพิ่มบทที่ให้เจ้าหน้าที่เอามาทำให้เกิดประโยชน์” นายปณิธาน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวหลังจากการประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานว่า ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบในหลักการในการแก้ไขกฎหมายความมั่นคง

“ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบในหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายต่อไป” พล.อ.วัลลภ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ระบุว่า ที่ประชุมได้มีมติในหลักการที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีแก้ไข มาตรา 21 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถขออำนาจอัยการยกเลิกคดีให้กับผู้มอบตัวได้ โดยบุคคลที่มีหมายจับมามอบตัวแล้วนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย จากนั้นให้เข้ารับการอบรม 6 เดือน รับการฝึกอาชีพ และกลับบ้านได้ โดยยังถือว่าเป็นบุคคลที่ต้องความผิดอยู่ และอยู่ภายใต้การติดตามของทางทหาร หากพบว่ามีการกลับใจ ไม่เกี่ยวข้องกับทางขบวนการ ในห้วงเวลาสองปีหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่สามารถขอให้ทางอัยการสูงสุดถอนคดีได้

"เรื่องนี้ เรามีการหารือกันอยู่ เพื่อจะให้ประชาชนได้รับประโยชน์ที่สุดเมื่อเข้าร่วมโครงการ” พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยระบุว่าอีกว่า ขณะนี้ ยังไม่มีรายละเอียดจากส่วนกลาง

อนึ่ง ตามโครงการพาคนกลับบ้าน ในสมัยพลโทปิยวัฒน์ นาคสวัสดิ์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อผู้ก่อความไม่สงบหรือผู้ต้องหาได้มอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้ว จะได้รับความช่วยเหลือในการจัดหาทนายความเพื่อต่อสู้คดี ไม่ได้มีข้อกำหนดในการยกคดีให้อย่างเป็นที่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสะดวก

เมื่อต้นปี 2561 พล.ท.ปิยวัฒน์ ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดการดำเนินโครงการเดิมว่า มี 6 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การรณรงค์สร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องของทุกส่วนราชการที่ต้องรับไปดำเนินการ ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงระดับอำเภอ โดยให้ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา มีส่วนร่วม ขั้นตอนที่ 2 รับรายงานตัวและปรับทัศนคติ ซึ่งกรอบในการดำเนินงานกลุ่มนี้ จะให้ความสำคัญต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีชื่อในระบบฐานข้อมูลหมาย พรก.หมาย ป.วิอาญา ขณะเดียวกันระหว่างการอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติ ขั้นตอนที่ 3 การปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมายและอำนวยความสะดวกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  ขั้นตอนที่ 4 การขับเคลื่อนชมรมพาคนกลับบ้าน ขั้นตอนที่ 5 การส่งเสริมอาชีพและการฝึกอาชีพ และขั้นตอนที่ 6 เมื่อกลับสู่ภูมิลำเนา จะมีการควบคุมและดึงมาช่วยกันสร้างสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป

ด้านนายนิมุ มะกาเจ ผู้นำศาสนาและผู้ทรงคุณวุฒิ จังหวัดยะลา ซึ่งเคยเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้กับผู้ที่ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับการแก้กฎหมาย

“มันจะดีขึ้นมากๆ ถ้าสามารถมีกฎหมายมารับรองด้วย เพื่อที่จะเป็นตัวช่วยให้คนที่จะเข้าโครงการสามารถมีความมั่นใจว่าเข้าร่วมโครงการแล้วจะถูกถอนคดีจริงๆ โครงการนีั พวกเขาจึงรู้สึกดีคลายความเดือดร้อนของพวกเขาได้บ้าง และมันจะดียิ่งถ้าสามารถปรับหรือแก้ตัว กม. ให้สามารถรับรองได้โครงการนี้จะมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่” นายนิมุ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ต่อ พรก.ฉุกเฉิน 33 อำเภอ

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการ สมช. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ตกลงใจในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่ทุกอำเภอ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน ถึงวันที่ 19 กันยายน 2562 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ ทางการได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า สถานการณ์ในอำเภอแม่ลาน เบตง สุคิริน และสุไหงโก-ลก สี่อำเภอ จากทั้งสิ้น 37 อำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความปลอดภัยมากขึ้น

สำหรับเหตุการณ์รุนแรงล่าสุดในวันนี้นั้น พ.ต.อ.วรงค์ เกิดสวัสดิ์ ผกก.สภ.จะแนะ เปิดเผยว่า นางซูฮัยลา โต๊ะหะ อายุ 34 ปี ลูกจ้างเร่งด่วนในโครงการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง ถูกยิงเสียชีวิตที่แผงจำหน่ายอาหาร บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 89 ม.3 บ้านริแง ต.ผดุงมาตร อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เป็นที่พักของเพื่อนที่ผู้ตายใช้เป็นพื้นที่ขายอาหาร เจ้าหน้าที่จะทำการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและติดตามคนร้ายต่อไป

มาตาฮารี อิสมาแอ มีส่วนในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง