ศอ.บต. ออกบัตรรับรองสถานะชั่วคราวแก่ชาวมานิ ในเบตง

มารียัม อัฮหมัด
2019.12.30
ปัตตานี
191230-TH-indigeneous-tribe-800.jpg พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. พูดคุยกับชาวมานิ ที่บ้านนากอ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา วันที่ 29 ธันวาคม 2562
ภาพโดย ศอ.บต.

ในวันนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ทางศูนย์อำนวยการฯ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวโอรังอัสลี หรือ ที่คนไทยรู้จักในนาม เงาะป่าซาไก ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยจะพิจารณาให้บัตรประจำตัว และตั้งถิ่นฐานในลักษณะนิคมสร้างตนเอง ตามแนวทางพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง ศอ.บต. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่บ้านนากอ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อติดตามการช่วยเหลือคุณภาพชีวิตของเงาะป่าซาไก ที่เรียกตัวเองว่าชาวมานิ หรือกลุ่มลาซะ กลุ่มนี้ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีสมาชิกจำนวน 50 คน จาก 6 ครัวเรือน

“ได้มีการขับเคลื่อน และบริหารจัดการในรูปแบบของนิคมสร้างตนเอง สนับสนุนด้วยการจัดสรรที่ดินชั่วคราว ให้สามารถมีพื้นที่ทำกิน เลี้ยงดูตนเอง และประชากรในกลุ่มได้ สนับสนุนให้เข้าถึงการบริการของรัฐด้านต่างๆ ด้วยการออกบัตรรับรองสถานะ เพื่อยืนยันตัวตนชั่วคราว ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่กลุ่มเหล่านี้ ควรจะได้รับการดูแลสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เพื่อการดำรงชีวิต เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่ให้ตรงตามความเหมาะสมของกลุ่ม การเข้าถึงวัคซีนที่จำเป็นแก่เด็ก รวมถึงการบริการด้านสาธารณสุข” พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า ชาวมานิกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ มีอาชีพรับจ้างถางป่า ถางสวน ตัดหญ้า กรีดยาง ซึ่งบางคนสามารถพูดภาษามาลายูได้คล่องแคล่วอีกด้วย

พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนพร้อมคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 เป็นการขับเคลื่อนตามแนวทางพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์โอรังอัสลี และทรงดำริให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความสำคัญกับกลุ่มเหล่านี้ ทั้งในด้านของสุขภาวะ ด้านการศึกษา การส่งเสริมอาชีพให้มีที่ดินทำกิน ซึ่งอาจจะเกิดจากความเชี่ยวชาญ ความสามารถเฉพาะตัว อาทิ การทำเครื่องประดับ การทำยาสมุนไพร การทำอาวุธที่ใช้ป้องกันตัวเอง เพื่อนำไปเป็นสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นจากกลุ่มโอรังอัสลี สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวของเขาได้

“กลุ่มโอรังอัสลีกลุ่มนี้ คือเสน่ห์ในพื้นที่ เนื่องจากผืนแผ่นดินมีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ทั้งไทย มาลายู จีน และโอรังอัสรี ในวันข้างหน้าเมื่อทุกชาติพันธ์สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม โดยไม่มีความหวาดระแวงต่อกัน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง และจะทำให้แผ่นดินใต้เป็นที่ต้องการของผู้มาเยือนในพื้นที่ต่อไป" พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ ชาวมานิ เป็นชนเผ่าในชาติพันธุ์นิกรอยด์ หรือเนกริโต มาจากภาษาสเปน แปลว่า "นิโกรเล็ก" อาศัยอยู่ในเทือกเขาบรรทัด มีการเคลื่อนย้ายพื้นที่ทำกินในจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส

ในจังหวัดสตูล ได้มีการให้บัตรประชาชนแก่ชาวมานิไปแล้ว 313 คน ซึ่งทำให้พวกเขาได้รับสวัสดิการด้านต่าง ๆ จากรัฐบาลไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ มีชาวมานิ ที่ดำรงชีพในป่าและได้เคลื่อนย้ายมามีปฏิสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่มากขึ้น ประมาณไม่ถึง 500 คน โดยอีกส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดพัทลุง กว่า 70 คน

ในต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย จะเรียกประชากรกลุ่มนี้ว่า "Semang" ซึ่งในปี 2545 มีการสำรวจประชากรอยู่ที่สองถึงสามพันคน และปัจจุบันคาดว่าอยู่ที่ 4,500-5,000 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง