จับ 2 ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุระเบิด 6-7 เมษายนแล้ว

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.04.25
จังหวัดชายแดนภาคใต้
TH-isoc4-1000 พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงข่าวการจับกุมตัวมือทำวงจรระเบิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมระบบไฟฟ้าเมื่อต้นเดือนเมษายน วันที่ 25 เมษายน 2560
เบนานิวส์

ในวันอังคาร (25 เมษายน 2560) นี้ พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงความคืบหน้าการสืบสวนหาตัวผู้วางระเบิดและเผาทำลายเสาไฟฟ้าและเสาสัญญาณโทรศัพท์ ระหว่างวันที่ 6-7 เมษายน 2560 โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อเหตุได้แล้ว 2 ราย จากหมายจับที่ออกแล้วรวม 3 หมาย

พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการรวบรวมหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และภาพจากกล้องวงจรปิด นำไปสู่การออกหมายเรียกผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุ และนำไปสู่การควบคุมตัวในที่สุด โดย 3 หมายจับแรกนี้ เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบระเบิด สำหรับผู้ต้องหาทั้งสองราย คือ นายมัฮหมูด หาแว และนายอัสรีย์ โต๊ะเย๊ะ

“เหตุแรกที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี พบสารพันธุกรรมดีเอ็นเอของนายมัฮหมูด หาแว บนวงจรจุดระเบิด ซึ่งนายมัฮหมูด หาแว ถูกจับกุมตัวในคดีอนาจาร เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 หรือก่อนเกิดเหตุหนึ่งวัน ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส จากการสอบสวนเชื่อว่านายมัฮหมูด หาแว มีส่วนเกี่ยวข้องในการประกอบชุดวงจรระเบิดก่อนที่จะถูกจับกุมตัว ต่อมากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้นำวงจรมาก่อเหตุ พนักงานสอบสวนจึงได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับ ป.วิอาญา” พ.อ.ยุทธนามกล่าว

“ในจุดที่สอง ที่ตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ตรวจพบสารพันธุกรรมดีเอ็นเอของ นายอัสรีย์ โต๊ะเย๊ะ บนแผงวงจร เจ้าหน้าที่สามฝ่าย จึงได้ทำการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก เพื่อซักถามที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2560 ผลการซักถาม นายอัสรีย์ ให้การว่าถูกชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วม และเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 ชาย 2 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้มาพบที่บ้าน และสั่งให้ทำแผงวงจรระเบิดจำนวน 3 ชุด หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ในวันที่ 6 และ 7 เมษายน 2560” พ.อ.ยุทธนาม กล่าวเพิ่มเติม

พ.อ.ยุทธนามระบุว่า จากการสอบสวน ทำให้เชื่อว่านายอัสรีย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุที่ อ.รามัน จ.ยะลา จึงได้มีการออกหมายจับ ป.วิอาญา นำไปสู่การจับกุมตัวในที่สุด

ส่วนจุดที่สาม เหตุเกิดที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส พบดีเอ็นเอเชื่อมโยงถึงบุคคลผู้ประกอบระเบิดในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี จึงได้ออกหมายจับ ป.วิอาญา 1 คน โดยเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องสงสัยต่อไป ขณะเดียวกันเชื่อว่า จากหลักฐานที่มีจะทำให้สามารถออกหมายเรียกและหมายจับผู้ต้องสงสัยก่อเหตุเพิ่มเติมได้ในระยะเวลาอันใกล้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สรุปผลการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 6-7 เมษายน 2560 ระบุมีการก่อเหตุ 32 เหตุ แยกเป็น เผาสายโทรศัพท์ 2 เหตุ ระเบิด 6 เหตุ เผายาง 5 เหตุ ระเบิดเสาไฟฟ้า 13 เหตุ เผาเสาไฟฟ้าแรงสูง 1 เหตุ เผาเสาไฟฟ้า 3 เหตุ ยิงหม้อแปลงไฟ 2 เหตุ

ล่าสุดในตอนค่ำของวันพุธ (19 เมษายน 2560) ได้เกิดเหตุผู้ก่อความไม่สงบ โจมตีเป้าหมายที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งหน่วยความมั่นคงด้วยระเบิดและอาวุธปืนใน 13 อำเภอ ของสามจังหวัดชายแดนใต้ และเสียชีวิตด้วยระเบิดของตนเอง 2 ราย ในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่สันติบาลของมาเลเซียได้ให้ข้อมูลว่า ผู้ก่อความไม่สงบมีแผนการที่จะก่อเหตุรุนแรงในอำเภอสะบ้าย้อยอีก

เมื่อวานนี้ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นข้อมูลข่าวสารที่เจ้าหน้าที่ไทยไปรับมาตรวจสอบจากฝ่ายมาเลเซีย และนำไปป้องกันเหตุ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้พบผู้ต้องสงสัย 1 ราย ขณะขับรถยนต์ต้องสงสัยเข้าไปในพื้นที่ สารภาพว่าขโมยรถมา แต่ไม่เปิดเผยจุดประสงค์ โดยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างทำการซักถาม

“ตำรวจไทยและมาเลเซียมีการแลกเปลี่ยนข่าวสารกันอย่างดี มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล เพื่อเฝ้าระวัง สืบสวนติดตามคนร้ายมาโดยตลอด” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพยายามจัดการ “พูดคุยเพื่อสันติสุข” โดยส่งตัวแทนรัฐบาลเข้าพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ใช้ชื่อว่า “องค์กรมาราปาตานี” พยายามหารือ และกำหนดข้อตกลงการสร้างความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเจรจาซึ่งมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวก และให้ใช้พื้นที่ในการเจรจา

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานีได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองตั้ง หนึ่งอำเภอเป็นพื้นที่ปลอดภัย เบื้องต้นได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพื้นที่ที่น่าจะเป็นไปได้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 5 พื้นที่ เพื่อเสนอแล้วจะคัดเลือกให้เหลือเพียงหนึ่งพื้นที่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง