กอ.รมน. จดทะเบียนผู้ใช้ซิมการ์ดใหม่ในสามจังหวัดชายแดนใต้
2019.04.22
เบนาร์นิวส์
ในวันจันทร์นี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกาศออกมาตรการป้องกันการถูกโจมตีด้วยระเบิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการเร่งดำเนินการการจดทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์ใหม่ ภายในวันสิ้นปีนี้ และให้ประชาชนหันมาใช้ถังแก๊สที่ทำจากวัสดุคอมโพสิตแทนภายในเดือนกันยายนนี้
พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว สืบเนื่องมาการประชุมหน่วยขึ้นตรงกอ.รมน. ครั้งที่ 4/2562 โดยมีผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงของ กอ.รมน. (ส่วนกลาง) และผู้แทนของ กอ.รมน.ภาค 1-4 เข้าร่วม โดยมี พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธานการประชุม
พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า ทาง กอ.รมน. มีแนวทางการจัดระเบียบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้กำหนดมาตรการระยะสั้น กำกับดูแลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้อยู่ในพื้นที่
"มอบให้ กอ.รมน. ภาค 4 สน. รับผิดชอบดำเนินการ 4 ประเด็น หนึ่ง เร่งดำเนินการลงทะเบียนซิมการ์ดใหม่ทั้งหมด เพื่อยืนยันตัวตน เริ่มตั้งแต่ 12 เม.ย. ถึง 31 ธ.ค. 2562 สอง พิจารณาจัดเพิ่มจุดบริการลงทะเบียนซิมการ์ดให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนสถานที่พร้อมอุปกรณ์ โดยใช้สถานที่ที่ว่าการอำเภอและเทศบาล เป็นต้น" พล.ต.ธนาธิป กล่าว
ในข้อที่สาม พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า พิจารณายกเลิกประกาศของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเดิมที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนฯ ที่เคยออกไว้ก่อน และไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติตามที่ได้ออกประกาศไว้ และสี่ ให้ กสทช. เร่งดำเนินการลงทะเบียน และเพิ่มจุดลงทะเบียน อำนวยความสะดวกให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามความเหมาะสม ในส่วนมาตรการระยะยาว จะเป็นการดำเนินการต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่นอกพื้นที่ ที่จะนำมาใช้ในพื้นที่่่่่่่่่่่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมอบหมายให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ร่วมกับ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง
“หากมีความประสงค์จะใช้งานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้ทุกส่วนราชการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับการปฏิบัติดังกล่าว" พล.ต.ธนาธิป กล่าวเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ระบุว่า กลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงฯ ใช้มือถือและนาฬิกา ในการจุดระเบิด ซึ่งมักใช้คู่กับถังแก๊สที่นำมาดัดแปลงเป็นระเบิดแสวงเครื่อง
ในส่วนของถังแก๊สนั้น พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า จากผลสรุปในที่ประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเห็นชอบให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ร่วมกับพลังงานจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส นำถังแก๊สเหล็กที่หมดอายุออกนอกพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2562 ดำเนินการแลกเปลี่ยนถังแก๊สในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 ก.ย. 2562 และได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานเร่งประชุมเจรจากับ บริษัทผู้ค้าก๊าซทั้ง 4 บริษัท ให้เป็นไปตามผลการประชุมฯ
ด้านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ได้มีการเปลี่ยนถังแก๊สเป็นแบบคอมโพสิตแล้ว 162,726 ถัง แต่ไม่ได้ระบุถึงจำนวนส่วนที่เหลือ
“ที่สำคัญถังแก๊สคอมโพสิตมีจุดหลอมเหลวต่ำ หากได้รับความร้อนสูงจากภายนอกจะไม่ระเบิดออกเหมือนถังเหล็ก” พันเอกธนาวีร์ สุวรรณรัตน์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าว
พันเอกธนาวีร์ กล่าวว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เรียกร้องหน่วยงานราชการ ใช้ถังแก๊สคอมโพสิต หลังจาก กอ.รมน.4 ได้สนับสนุนให้ส่วนราชการเปลี่ยนมาใช้ถังแก๊สคอมโพสิตนำร่อง และรณรงค์สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ร่วมกันเปลี่ยนการใช้ถังแก็สเหล็ก 15 ก.ก. เป็นถังคอมโพสิต ขนาด 11 ก.ก. แทน เพื่อความปลอยภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งถังแบบใหม่ ผลิตจากโพลิเมอร์และไฟเบอร์กลาส มีความแข็งแรง ความเหนียว ใช้งานได้นาน 20-30 ปี แต่ถังแก๊สแบบคอมโพสิตมีราคาสูงกว่าถังเหล็ก 30 เปอร์เซ็นต์
นายสาแม แวดอเลาะ ชาวบ้าน จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การจัดระบบทะเบียนโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ ไม่ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่
“การลงทะเบียนโทรศัพท์ ก็คิดว่าไม่น่าเป็นปัญหาอะไรกับชาวบ้าน แต่คิดว่าอาจมีปัญหากับคนนอกพื้นที่ เช่น กทม.ที่อื่นๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ ต้องเจอปัญหาโทรเข้าออกไม่ได้อย่างที่หลายๆ คนเจอตอนนี้ หลายคนเข้าพื้นที่แล้วเจอปัญหาโทรเข้าออกไม่ได้สุดท้ายพอนำไปที่ศูนย์ๆ บอกว่า ต้องลงทะเบียน พอลงทะเบียนก็ใช้งานได้ปกติ” นายสาแม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ส่วนถังแก๊สคอมโพสิต ใช้แล้วหมดเร็ว เพราะถังเล็กกว่า หรือแรงอัดที่มันมีไม่มากก็ไม่รู้นะ แต่ที่แน่ๆ ทอดไก่ต้องทอดนาน ไม่ค่อยกรอบเหมือนถังเหล็ก มันเหมือนไก่อมน้ำมันเลย และถ้าเราซื้อใหม่ ก็จะราคาสูงกว่าถังเหล็กด้วย ทั้งที่ขนาดมันเล็กกว่าถังเหล็กที่ใช้ประจำ" นายสาแม กล่าวเพิ่มเติม