ศาลปัตตานีรอลงอาญาเจ้าของปอเนาะชือมา ฐานไม่จดทะเบียน

มารียัม อัฮหมัด
2020.09.16
กรุงเทพฯ
200916-TH-deepsouth-school-1000.jpg นายมูหัมมัดรอมลี เจะยะ (คนกลาง) เจ้าของโรงเรียนอัลอูลูมุลอิสลามมียะห์ พูดคุยกับนายมูฮำมัดอารีฟีน จะปะกิยา (ขวามือ) อดีต ส.ส. ปัตตานี หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จังหวัดปัตตานี สั่งให้หยุดการเรียนการสอน เดือนมิถุนายน 2562
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ (16 กันยายน 63) ศาลจังหวัดปัตตานี พิพากษาให้นายมูหัมมัดรอมลี เจะยะ เจ้าของโรงเรียนอัลอูลูมุลอิสลามมียะห์ (ปอเนาะชือมา) ในจังหวัดปัตตานี มีความผิดตามข้อหาจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบโดยไม่ได้รับอนุญาตและให้ลงโทษ เป็นเวลา 2 เดือน ปรับ 8,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงอาญา เป็นเวลา 2 ปี นับเป็นคดีแรกที่มีการสั่งลงโทษเจ้าของปอเนาะ

นายมูหัมมัดรอมลี เจะยะ (หรือรู้จักกันในนาม บาบอรอมลี ชือมา) เจ้าของโรงเรียนอัลอูลูมุลอิสลามมียะห์ ในตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตกเป็นจำเลยใน คดี อ.ดำ 813/2562 หลังจากสำนักงานการศึกษาเอกชนหนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้สั่งปิดปอเนาะ เพราะไม่มีใบอนุญาตดำเนินการ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่ได้มีผู้ต้องสงสัยวางระเบิด ในตลาดนัดบ่อทอง อำเภอหนองจิก ปัตตานี เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562 หลบหนีเข้ามาในบริเวณปอเนาะ โดยเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ ด.ช.อัยดิลฟิตรี ยะโก๊ะ อายุ 14 ปี และ นางสารีปะห์ อาเย๊าะแซ อายุ 35 ปี เสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวน 23 ราย

นายมูหัมมัดรอมลี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 62 สำนักงานการศึกษาเอกชนหนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้แจ้งความผิดฐานเปิดปอเนาะไม่มีใบอนุญาต จากนั้นในวันที่ 24 มิถุนายน 62 พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อหาจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต และในวันที่ 11 ตุลาคม 62 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี จนกระทั่ง โดยวันนี้ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาตัดสินคดี จำคุก 2 เดือน ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงอาญา 2 ปี

“ที่สู้เพราะต้องการหาความเป็นธรรมให้ตัวเอง เพราะรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เราเป็นคนสอนคนให้เป็นคนดี แต่เขามาใส่ความว่าเราผิด เราไม่ได้ทำธุรกิจ ไม่ได้เอาเงินจากเด็ก ไม่ได้มีเงินสนับสนุนจากไหนเลย สำนักงานการศึกษาต่างหากที่ต้องให้เงินกับเรา จุดนี้ที่รับไม่ได้ หลังจากนี้ จะดำเนินการเรื่องเอกสารที่ดินต่อไป เพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียน เพราะก่อนที่จะถูกดำเนินคดีก็อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่มาถูกดำเนินคดีเสียก่อน” นายมูหัมมัดรอมลี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ โรงเรียนอัลอูลูมุลอิสลามมียะห์ (ปอเนาะชือมา) เป็นโรงเรียนสอนศาสนาขนาดเล็ก มีเด็กและผู้สูงอายุเข้ารับการศึกษา ประมาณ 20 คน ขณะที่มีโรงเรียนในลักษณะเดียวกันอีกนับร้อยแห่ง

ด้าน นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายมุสลิม จ.ปัตตานี กล่าวถึงที่มาของการฟ้องร้องว่า เป็นความสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ที่ได้มีเหตุการณ์คนร้ายวางระเบิดที่ตลาดนัดบ่อทอง ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

“ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายพิเศษ 2 คน คือ นายอาซิ มีนา และนายอับดุลรอเซะ สลาวะ และได้มีการดำเนินคดีทั้งสองต่อศาลจังหวัดปัตตานี โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว ข้อมูลทางการข่าวอ้างว่า หลังเกิดเหตุผู้ต้องสงสัยได้หลบหนีไปอยู่ในปอเนาะ หรือโรงเรียนอัลอูลูมุลอิสลามมียะห์ (ปอเนาะชือมา) ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี” นายอับดุลกอฮาร์  กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัว บาบอเจ้าของปอเนาะ คือ นายมูฮัมหมัดรอมลี เจะยะ ไปทำการซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร และได้ปล่อยตัวในภายหลัง เนื่องจากเห็นว่าบาบอไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ต่อมาทางสำนักงานการศึกษาเอกชน อำเภอหนองจิก (สช.หนองจิก) ได้มีคำสั่งให้ปอเนาะดังกล่าวหยุดการเรียนการสอนศาสนา เนื่องจากไม่มีใบรับอนุญาต หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา นายมูฮัมหมัดรอมลี และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดปัตตานี ในข้อหาจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 20 และ 147 ดังกล่าว

นายทรงพล ขวัญชื่น อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เคสนี้ถือเป็นเคสแรก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการฟ้องร้องกันขึ้น ซึ่งโดยปกติ เมื่อเจอเคสลักษณะนี้ ทาง สช. พื้นที่จะลงไปตรวจสอบและแนะนำตักเตือนมากกว่าที่จะมีการฟ้องร้อง

“จริง ๆ เรื่องนี้ ก่อนที่ผมจะเกษียณ ได้ให้ สช. พื้นที่ลงไปที่ปอเนาะ พบว่าไม่ได้จดทะเบียน จากนั้น เขามาขอขึ้นทะเบียนแล้วเราไม่อนุญาต เพราะมีปัญหาเรื่องเอกสารที่ดิน มีนายภานุ อุทัยรัตน์ สว. มาหารือกันให้ช่วยเหลือ ก็ได้แนะนำให้ไปดำเนินการในเรื่องเอกสารที่ดินแล้วให้มาขึ้นทะเบียน ต่อมามีประเด็นคนทำผิดไปอยู่ปอเนาะ ทหารตามไปเจอในนั้น ก็กลายเป็นโรงเรียนเถื่อน ต่อมานายอำเภอหนองจิก และ สช. พื้นที่ ก็ลงไปดู และได้หาทางออกให้แล้ว ก่อนที่จะเกษียณ แต่ไม่ทราบเลยว่า เรื่องมาถึงขั้นฟ้องร้อง” นายทรงพล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง