นักวิชาการสามประเทศเอเชียอาคเนย์ร่วมสัมมนา ระดมความรู้หวังแก้ปัญหาความขัดแย้งตามวิถีสันติ
2015.09.30
กลุ่มนักวิชาการจากสามประเทศในเอเชียอาคเนย์ที่มีปัญหาการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาล ได้ร่วมจัดสัมมนาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณและสร้างความร่วมมือทางวิชาการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อประมวลองค์ความรู้ร่วมสมัยเกี่ยวกับความขัดแย้งและสันติภาพในมุมมองของศาสนาอิสลาม และเพื่อสร้างเครือข่ายนักวิชาการและปัญญาชนมุสลิมทั้งในระดับภูมิภาคชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยและในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยในวันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 นี้ ที่ห้องประชุม อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ องค์กรวิชาการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกับสถาบันอิสสลาม มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จัดประชุมวิชาการนานาชาติ สันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “สังคมมุสลิม, ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมเพื่อเชื่อมต่อความรู้ ประสบการณ์ และสานความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษาใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ที่ต่างประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อย โดยหวังขับเคลื่อนด้วยความรู้ กระตุ้นสังคมตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลาม ในการจัดการกับปัญหาด้วยแนวทางสันติ และเปิดกว้างยอมรับต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม
สังคมมุสลิมในภูมิภาคอาเซียน: ในความขัดแย้งที่คล้ายกัน หากมีกระบวนการสันติภาพที่ต่างกัน
ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อเปิดประเด็นให้แวดวงวิชาการและผู้คนในสังคม ตระหนักว่าสังคมมุสลิมในภูมิภาคอาเซียนนั้น มีทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะหลักคำสอนในศาสนาอิสลาม ที่เอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และการเปิดกว้างต่อการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นฐานให้กับการผลักดันสันติภาพเกิดขึ้นได้ แม้ว่าในหลายพื้นที่จะมีความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงก็ตาม
“การที่เราเชื่อมโยงให้เห็นว่าพื้นที่อย่างมินดาเนาของฟิลิปปินส์ และอาเจะห์ในอินโดนีเซีย กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่นี่ ก็เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพราะเราต่างเผชิญกับความขัดแย้งที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่มีขั้นตอนหรือกระบวนการสันติภาพที่แตกต่างกัน” ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าวในที่ประชุมสัมมนา
“ผมเชื่อว่าหากเราสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานความรู้ด้วยกัน เราอาจพัฒนาประสบการณ์ของทั้งสามพื้นที่นี้ให้เป็นตัวแบบในการแก้ไขความขัดแย้งต่อไปได้ในอนาคต” ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติม
บันทึกความร่วมมือระหว่าง 5 สถาบัน
นอกจากนี้ ในการสัมมนาที่มีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ทางการทูต และองค์กรระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ นักการศาสนา นักกิจกรรมภาคประชาสังคม และนักศึกษา เข้าร่วมกว่า 1000 คน ยังมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง 5 สถาบันการศึกษา จาก 3 พื้นที่ความขัดแย้ง เพื่อพัฒนาความร่วมมือในทางวิชาการ
ในบันทึกความร่วมมือระหว่างสถาบันในครั้งนี้ มีการลงนามโดยผู้แทน 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี วิทยาลัยประชาชน มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมินดาเนา และมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งชาติอัลรานิรี โดยจะมีเนื้อหาที่ระบุถึงความร่วมมือในการทำวิจัย และการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อต่างๆ ร่วมกัน การแลกเปลี่ยนบุคลากรทั้งนักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา ตลอดจนแบ่งปันข้อมูลข่าวสารในทางวิชาการระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสถาบันต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ประชุมไตรสันติภาพครั้งที่ 2 ที่มินดาเนา ฟิลิปปินส์
ด้าน ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวยังรวมไปถึงข้อตกลงที่สถาบันการศึกษาในแต่ละพื้นที่ จะสลับหมุนเวียนกันจัดประชุมวิชาการนานาชาติ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทุกๆ ปี โดยจะถือว่าการประชุมไตรสันติภาพครั้งนี้เป็นการริเริ่มครั้งแรก
และในปีต่อไปมีการตกลงว่าจะจัดขึ้นอีกครั้งที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ตนเห็นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะยกระดับสถานะของงานวิชาการที่เกี่ยวกับการศึกษาความขัดแย้งและสันติศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับอิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษาให้เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่อยู่ในภาวะความขัดแย้งอีกด้วย
“ไม่ใช่ว่าเราเท่านั้นที่ต้องการเรียนรู้จากบทเรียนต่างๆ จากเพื่อนบ้านเหล่านี้ แต่พวกเขาเองก็ต้องการเก็บรับประสบการณ์หลายอย่างจากเราด้วยเช่นกัน ผมคิดว่านี่คือ ย่างก้าวที่สำคัญ” ผศ.ดร.สุกรี กล่าว
ความรุนแรงต่อเนื่อง ในสามจังหวัดชายแดนใต้
สถานการณ์ความรุนแรง ยังคงเกิดต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างวันจันทร์ ถึงวันพุธนี้ 28-30 กันยายน 2558 เกิดเหตุกลุ่มก่อความรุนแรงซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ และราษฎร ทั้งสิ้น 7 เหตุการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ที่จังหวัดยะลา และนราธิวาส และมีการเผยแพร่ใบปลิวอีก 1 เหตุการณ์ ในจังหวัดปัตตานี
โดยวันพุธที่ 30 กันยายน 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุว่ามี เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนถูกคนร้ายยิง เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ 2 นาย บริเวณริมถนนเลียบแม่น้ำสุไหงโกลก บ้านศรีพงัน ต. เกาะสะท้อน อ. ตากใบ จ.นราธิวาส ทราบชื่อคือ จ.ส.ต.ณรงค์ฤทธิ์ หนูทอง 35 ปี และ ส.ต.ต.วินัย ฉีดเกตุ 26 ปี
ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุ คนร้ายยิงราษฎร ขณะอยู่ในรถยนต์ บริเวณบ้านบาตู ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ. นราธิวาส แต่กระสุนพลาดเป้า จึงไม่มีผู้บาดเจ็บ
ต่อมา ในวันเดียวกัน มีเหตุคนร้ายยิงใส่รถยนต์ชาวบ้าน เป็นเหตุให้ นายซาบาวี สาและ ถูกยิงบริเวณลำตัว ได้รับบาดเจ็บ ที่บริเวณบ้านสาคอ ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา และถูกนำส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา
เมื่อช่วงเย็น เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวน ยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นาย ซมิง บือซา อายุ 45 ปี ได้รับบาดเจ็บ ที่บริเวณบ้านฮูลูปาเระ ต. ตันหยงมัส อ. ระแงะ จ. นราธิวาส ถูกนำส่งโรงพยาบาลระแงะ จ.นราธิวาส
ส่วนในเช้าวันที่ 29 ก.ย. 2558 เกิดเหตุคนร้ายบุกยิงราษฏร เป็นเหตุให้ นายกอรี กูวา อายุ 26 ปี ถูกยิงเสียชีวิต ในที่เกิดเหตุ ขณะกำลังพักผ่อนอยู่บริเวณใต้ถุนบ้าน บ้านตาเนาะปูเต๊ะ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
เช้าวันจันทร์ที่ 28 ก.ย. 2558 คนร้ายยิงราษฎร เป็นเหตุให้ นายบูรฮัน เกียรติอนุรักษ์ อายุ 24 ปี กระสุนถูกบริเวณศีรษะ 1 นัด เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ขณะขับรถยนต์มาเพียงลําพัง บริเวณริมถนนสายปาลอบาตะ –ตะโล๊ะหะลอ ต.สุวารี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
ช่วงค่ำวันจันทร์นั้น คนร้ายยิงอาสาสมัครทหารพรานจำนวนหลายนัด กระสุนถูกบริเวณศีรษะ เสียชีวิต 1 นาย คือ อส.ทพ.ดอเล๊าะ ดูโระฮาดี อายุ 32ปี สังกัด ร้อย.ทพ.45 บริเวณหน้าบ้านเช่า บ้านตะละ ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
ส่วนประเด็นและสาเหตุในเหตุการณ์ทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสอบสวนและสืบสวน เจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
นับตั้งแต่กลุ่มมาราปาตานี ได้เจรจานอกรอบกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นครั้งที่สามในรอบปี ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และได้เปิดตัวต่อสื่อมวลชน ในวันที่ 27 สิงหาคม จนถึงวันที่ 22 กันยายนนี้ ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งเหตุยิง วางระเบิด การปะทะด้วยอาวุธ และการก่อกวนอื่นๆ รวม 29 ครั้ง ในจำนวนนี้ มีเหตุแขวนป้ายผ้าต่อต้านรัฐบาลไทย 9 จุด มีประชาชนและกำลังพลเสียชีวิต 9 ราย ได้รับบาดเจ็บ 35 ราย ตามข้อมูลศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กอ.รมน. 4 ส่วนหน้า
ใบปลิวปลุกระดมในปัตตานี
ในวันจันทร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนประจำอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบใบปลิวปลุกระดมภาษาไทยกับภาษายาวี ทิ้งในพื้นที่เป็นจำนวนมาก บริเวณบ้านยะรัง ต.ยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โดยใบปลิวมีข้อความเขียนภาษาไทยว่าเป็นประกาศจาก BRN มีใจความตอนหนึ่งว่า“จะไม่ให้พวกเราชาวปัตตานี ทำอะไรตามแนวทางของชาวพุทธทั้งสิ้น พวกเราจะเดินหน้าจนถึงวันสำเร็จ สุดท้าย เราขอประกาศว่า เราชาวปัตตานี เราต้องร่วมมือร่วมใจกัน เป็นหนึ่งเพื่อปัตตานี”