ดอกไม้เหล็ก : หญิงไทยกว่าพันรายสมัครเป็นทหารพรานในปีนี้

มารียัม อัฮหมัด
2020.09.25
ปัตตานี
200925-TH-deepsouth-women-recruit-1000.jpg น.ส.รุซมีนา เด่นอุดม (ซ้ายมือ) ผู้เข้าสอบคัดเลือกเป็นอาสาสมัครทหารพรานหญิง สังกัดกองทัพภาคที่ 4 ยึดพื้นในระหว่างการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ที่กรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี วันที่ 25 กันยายน 2563
เบนาร์นิวส์

แม้จะรู้ว่าการเป็นทหารพรานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นั้นเสี่ยง แต่ น.ส.รุซมีนา เด่นอุดม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองแอบทางบ้านมาสมัครสอบเป็นอาสาสมัครทหารพราน ในวันศุกร์นี้ เพื่อให้มีโอกาสได้รับใช้สังคม และจะบอกให้ทางครอบครัวรับรู้ เมื่อสอบผ่าน

น.ส.รุซมีนา สาวน้อยวัย 21 ปี ที่มีภูมิลำเนาในอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เมื่อตนทราบว่า ทางกองทัพภาคที่สี่ประกาศรับสมัครทหารพรานหญิง ตนเองกับพี่สาวก็ได้ฟิตร่างกายเพื่อให้พร้อมกับการทดสอบ โดยไม่บอกทางบ้าน

“ทางบ้านยังไม่ทราบ หนูตั้งใจว่าจะบอกครอบครัวตอนที่สอบได้แล้ว คิดว่าแม่ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นงานที่มีศักดิ์ศรี ส่วนตัวมองว่าการทำหน้าที่เป็นทหารพรานหญิงไม่น่ากลัว และสามารถช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน จึงชอบงานนี้” น.ส.รุซมีนา กล่าวในระหว่างการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ที่กรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในวันนี้

“พอทราบการเปิดรับสมัครทหารพรานหญิง รีบชวนพี่มาสมัคร และกลับไปเตรียมร่างกายทุกวัน วันนี้มาสอบจะทำให้เต็มที่ มีความหวังมากว่าจะได้มาเป็นทหารพรานหญิง ชอบงานลุย ๆ เป็นงานอาสาที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านด้วย” น.ส.รุซมีนา กล่าวอย่างกระตือรือร้น

นับตั้งแต่การปะทุของความรุนแรงระลอกใหม่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ได้ทำให้ทหารเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 587 นาย และบาดเจ็บ 2,786 นาย ในจำนวนนี้ เป็นทหารพรานหญิงถูกยิงเสียชีวิต 1 นาย

กองกำลังทหารพรานได้มีบทบาทมากขึ้น หลังจากที่กองทัพบกได้เปลี่ยนนโยบาย ให้กำลังทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ดูแลพื้นที่ที่มีการก่อเหตุรุนแรง โดยขบวนการก่อความไม่สงบ แทนกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1 ถึง 3 ที่ถูกถอนกลับต้นสังกัดทั้งหมด เมื่อปี 2560 ในปัจจุบัน กองทัพภาคที่ 4 มีกำลังทหารพรานชาย-หญิง ในกรมทหารพราน 13 กรม รวมกว่า 21,000 นาย ซึ่งทางกองทัพภาคที่ 4 จะเปิดรับสมัครกำลังพลตามอัตราที่ขาดแคลนทุกปี

ในปีนี้ พันเอก คมกฤช รัตนฉายา ผบ.กองกำลังทหารพรานชายแดนใต้ กล่าวว่า มีผู้สมัครหญิงทั่วประเทศ ทั้งหมด 1,261 คน ในภาคเช้าทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ส่วนช่วงบ่ายสอบภาควิชาการโดยข้อสอบจากส่วนกลาง ซึ่งทางหน่วยจะคัดเหลือ 135 คน จากนั้นผู้ที่ผ่านรอบแรก จะสอบขั้นที่สองในวันที่ 29 กันยายน 2563 โดยจะรับจริง 15 คน และขึ้นบัญชี เพื่อสำรองไว้รวมเป็น 45 คน แต่คนที่จบด้านนิติศาสตร์ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

“พยายามดูความพร้อม และความสามารถที่เขาทำได้ แต่คนที่จบด้านนิติศาสตร์จะพิจารณาเป็นพิเศษ ส่วนคนที่จบปริญญาโทด้านวิศวะสองคน ที่มาสอบด้วยนั้น ก็ต้องเป็นไปตามกติกา ที่เขามาสมัครเยอะ เพราะเขาอยากเป็นทหารพราน เป็นแล้วมีศักดิ์ศรี ทำงานอาสาเพื่อประชาชน ถือว่าการแข่งขันหนึ่งในร้อย น้อง ๆ เขาก็ทำอย่างเต็มที่” พันเอกคมกฤช กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน พ.อ.จีรศักดิ์ คงทน รอง ผบ. กองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ทางกองกำลังฯ รับตามอัตราที่ขาด 15 คน แต่จะขึ้นบัญชีเอาไว้สามเท่าของยอดที่ขาด ในกรณีที่ต้องทดแทนการสูญเสียกำลังพล เช่น การลาออก การไปมีครอบครัว ไปทำงานอื่น สอบนายสิบได้ สอบข้าราชการส่วนอื่นได้ โดยผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่สามจังหวัด และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ ส่วนภาคอื่น ๆ มีประมาณไม่ถึงหนึ่งร้อยคน

สำหรับสาเหตุที่มีผู้เข้าสมัครกันเป็นจำนวนมากนั้น พ.อ.จีรศักดิ์ กล่าวว่า คงเป็นเพราะน้อง ๆ เขามีความตั้งใจ รักอาชีพการเป็นทหารที่มีวินัย และอีกเหตุผลหนึ่ง อาจจะมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะการระบาดของโรคโควิด-19

น.ส.อัมภาพร รอดนุช ได้เดินทางมาไกลจากจังหวัดสุรินทร์คนเดียว และถึงปัตตานี เมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้ โดย น.ส.อัมภาพร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองได้รับแรงบันดาลใจมาจากรุ่นพี่ในหมู่บ้านที่บ้านเกิด ที่เป็นทหารพรานนาวิกโยธิน และได้มาประจำการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทางครอบครัวสนับสนุนเต็มที่

“หวังว่าจะสามารถสอบได้ ก็พอรู้บ้างว่ารับ 15 คน สมัครเป็นพัน และจะขึ้นบัญชี 45 คน จะทำให้เต็มที่ เพราะชอบงานนี้มาก ได้ช่วยชาวบ้านเป็นงานจิตอาสาที่มีศักดิ์ศรี จะภาคภูมิใจมาก ถ้าได้เป็นหนึ่งใน 15 คน ตอนเด็ก ๆ ฉันเคยไม่ชอบสามจังหวัด และไม่คิดจะมา เพราะเห็นข่าวตลอด แต่พอโตขึ้นคิดว่า ถ้ามีโอกาสเราจะลงมาช่วยชาวบ้าน” น.ส.อัมภาพรกล่าว

พ.อ.จีรศักดิ์ คงทน ให้ข้อมูลว่า ทหารพรานนั้นมีการทำสัญญาปีต่อปี ในส่วนของรายได้และสวัสดิการนั้น ประกอบด้วยเงินเดือนขั้นต่ำตามวุฒิ ม.3 ที่รับสมัคร ประมาณ 9,000-10,000 บาท ค่าเสี่ยงภัย 2,500 บาท เบี้ยเลี้ยงภาคสนาม วันละ 200 บาท รวมเบ็ดเสร็จประมาณ 18,500 บาทต่อเดือน

อาสาสมัครทหารพรานรุ่นพี่อย่าง อส.ทพ.หญิง ซัมซูนี แวสาเหาะ สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 กล่าวว่า ด้วยความที่เป็นผู้หญิง ทหารพรานหญิงสามารถทำหน้าที่ได้หลากหลายได้เป็นอย่างดี โดยไม่ทำให้การปฏิบัติศาสนกิจต้องย่อหย่อนลงไป

“ผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงชาวบ้านได้ดีมาก ปิดล้อมตั้งด่านตรวจ เราจะทำหน้าที่ตรวจค้นผู้หญิงและเข้าไปพูดคุย... ในการทำหน้าที่ตรงนี้ ได้มารักษาชาติ ดูแลประเทศ ทหารพรานหญิงทำได้ทุกอย่าง เป็นครู เป็นพยาบาล เป็นแม่ครัว ตามที่ชุมชนต้องการให้เป็น แม้เราต้องเต็มที่กับภารกิจของการดูแลประชาชน การปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาเรา ก็สามารถทำได้เต็มที่เช่นเดียวกัน” อส.ทพ.หญิง ซัมซูนี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ฉันเชื่อว่าทหารพรานหญิงจะสามารถสร้างสันติสุขในพื้นที่ได้ เพราะสามารถเข้าถึงชุมชนง่าย ด้วยความอ่อนหวานที่ซ่อนความแข็งแกร่ง”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง