รมว.ทรัพยากรฯ ขอให้ประชาชนประหยัดน้ำ ด้วยเหตุภัยแล้ง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.01.03
กรุงเทพฯ
200103-TH-Drought-Mekong-1000.jpg นักท่องเที่ยวเดินเล่นบนสันทราย ในแม่น้ำโขง ที่น้ำแห้งขอด ในจังหวัดนครพนม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสีฟ้าอะความารีนของแม่น้ำโขง ที่พบเห็นล่าสุดนั้น เป็นแสงสะท้อนของท้องฟ้า ส่วนระดับน้ำก็เริ่มต่ำลงอย่างผิดปกติ ทำให้เห็นสันทรายอยู่กลางแม่น้ำ วันที่ 4 ธันวาคม 2562
เอพี

ในวันศุกร์นี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า ปีนี้ ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะน้ำแล้งที่สุดในรอบ 10 ปี จึงขอให้ประชาชนโดยเฉพาะในเมืองหลวงและเมืองขนาดใหญ่ ใช้น้ำอย่างประหยัด ในขณะที่ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้รับผลกระทบจากที่ประเทศจีนมีการลดการปล่อยน้ำ จนทำให้ระดับน้ำโขงเข้าขั้นวิกฤต

นายวราวุธ กล่าวแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะน้ำแล้ง แต่เชื่อว่าจะสามารถฝ่าวิกฤตภัยแล้งได้ โดยขอประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกล่าวว่า มีฝนตกอีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้

“ปีนี้จะเป็นปีที่ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนคนไทยทราบว่า แล้งหนักมากที่สุดในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ประเด็นแรกเราก็อยากขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนคนไทยในการที่จะประหยัดน้ำ ในการใช้น้ำไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ ๆ ส่วนพี่น้องเกษตรกรผมเชื่อว่า ประหยัดกันอยู่แล้ว” นายวราวุธ กล่าว และระบุว่า จะนำน้ำบาดาลมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน

“ประเทศไทยมีน้ำใต้ดินอยู่เกือบ 3 หมื่นลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับเขื่อนขนาดเล็ก สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ การนำน้ำบาดาลมาใช้ดูแลพี่น้องประชาชน เรื่องการอุปโภค บริโภค ต่อมาก็จะเป็นการใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือแล้ว

“ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเตรียมการรับมืออย่างใกล้ชิด ในการขุดบ่อน้ำบาดาล หาแหล่งน้ำสำรอง ตั้งจุดแจกจ่ายน้ำปะปา น้ำอุปโภค บริโภค ผมสั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยเฉพาะตำรวจ ทหาร ส่วนเรื่องของพื้นที่เกษตรกรก็ต้องไปดูว่าจะทำยังไง” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ สถาบันสารสนเทศน์ทรัพยากรน้ำ (สสน.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ปริมาณฝนเฉลี่ยโดยรวมของไทยน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 18 โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง พบมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 24 และพบเขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ถึง 9 เขื่อน คือ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำนางรอง เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเขื่อนอุบลรัตน์น้ำอยู่ในขั้นวิกฤต ปัจจุบัน ใช้น้ำใต้ระดับกักเก็บไปแล้ว 80 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจต้องใช้น้ำก้นอ่างสำหรับการอุปโภค-บริโภคตลอดหน้าแล้งนี้ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เช่นเดียวกับภาคใต้มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ มีน้ำไหลลงเขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลางน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะเขื่อนรัชชประภา

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้งแล้วใน 13 จังหวัด 67 อำเภอ 409 ตำบลทั่วประเทศ คือ จังหวัดเชียงราย น่าน นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และนครราชสีมา

ในด้านฝั่งแม่น้ำโขงนั้น ระดับน้ำที่ต่ำอยู่แล้ว กลับเข้าสู่ขั้นวิกฤต จากการวัดระดับน้ำห้าสถานี หลังจากที่จีนได้ลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหงเพื่อทดสอบอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า โดยลดการระบายน้ำลงจาก 1,200-1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที เหลือ 500-800 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้บางพื้นที่เหลือระดับน้ำแค่หนึ่งเมตร พบเห็นแต่ดอนทราย ตามรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่น

น.ส.อ้อมบุญ ทิพย์สุนา นายกสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน กล่าวว่า น้ำโขงแห้งขอดมากที่สุดในรอบหลายสิบปี ซึ่งสถานีวัดระดับน้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 5 สถานี จาก 6 สถานี วัดระดับน้ำได้เข้าข่ายวิกฤต

“น่าจะแห้งขอดไปตลอดแนวละค่ะ เขื่อนจิ่งหงซ่อมระบบไฟฟ้า 3 ครั้งแล้ว ระบายน้ำ 500-800 ลบ.ม.ต่อวินาที ก็พอ ๆ กันกับเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 62 แห้งในฤดูน้ำหลาก แต่ครั้งนี้ แห้งในฤดูแล้ง คงเดือดร้อนกันไปทั่ว” น.ส.อ้อมบุญ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“เขาฟังใครที่ไหนล่ะ” น.ส.อ้อมบุญ กล่าวตอบคำถามว่า ทางการไทยควรจะบอกกล่าวกับทางจีนว่าอย่างไรบ้าง

ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดเล็กสะท้อนความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในประเทศในช่วงฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูฝน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 43 จังหวัด

ปัจจุบัน รัฐบาลได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไข และบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63 ขึ้นแล้ว โดยพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ส่วนภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบปัญหาการใช้น้ำเกินแผนที่จัดสรรไว้ และน้ำมีค่าความเค็มเกินกว่ามาตรฐานจากปริมาณน้ำทะเลที่รุกล้ำเข้ามา ซึ่งจะแก้ปัญหาโดยการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองคือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ มาช่วยในการผลักดันน้ำเค็ม ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรเลี่ยงการทำนาในช่วงนี้ เนื่องจากเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อน้ำแล้ง และอาจทำให้นาข้าวเสียหายได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง