ทางการไทยเผายาเสพติดของกลาง มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.06.25
กรุงเทพฯ
180625-TH-drugs-1000.jpg เจ้าหน้าที่จัดเตรียมยาเสพติดของกลางที่สิ้นสุดคดีแล้ว เพื่อเผาทำลาย วันที่ 25 มิ.ย. 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ทางการไทยดำเนินการเผาทำลายยาเสพติดของกลางจำนวนมากกว่า 14 ตัน เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประกอบด้วยกัญชา 8.4 ตัน และยาเสพติดประเภทยาบ้า ยาไอซ์ เฮโรอีนรวมกันอีกกว่า 6.3 ตัน รวมมูลค่ากว่า 13,697 ล้านบาท โดยพล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติดระบุว่า ยาเสพติดที่ยึดได้ทั้งหมดผลิตจากประเทศพม่าร่วมกับนายทุนแก๊งค์ 14K ในประเทศมาเลเซียเพื่อจำหน่ายทั่วโลก

สำหรับยาเสพติดให้โทษของกลางที่เผาทำลายในวันนี้ เป็นของกลางที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบของกลาง แล้วสามารถนำมาทำลายได้จำนวนกว่า 7,000 คดี ประกอบด้วย เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า น้ำหนักกว่า 5,514 กิโลกรัม (ประมาณ 61 ล้านเม็ด) ยาไอซ์น้ำหนักกว่า 486 กิโลกรัม เฮโรอีนน้ำหนักกว่า 108 กิโลกรัม ยาอีหรือยาเลิฟ (MDMA/MDA) น้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม โคคาอีนน้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม ฝิ่นน้ำหนักกว่า 122 กิโลกรัม และกัญชาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีก กว่า 8,400 กิโลกรัม

“นอกจากจำนวนยาเสพติดของกลางที่นำมาเผาทำลายในครั้งนี้ ยังมียาเสพติดของกลางที่เก็บรักษาไว้ในคลังยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอีกมากกว่า 85 ตัน ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีในชั้นศาล” นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุ

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาระบุว่า สถิติการเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางตั้งแต่ปี 2520-2561 รวมทั้งสิ้น 48 ครั้ง น้ำหนักรวมกว่า 128,776 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 197,343 ล้านบาท ซึ่งยาเสพติดของกลางประเภท เมทแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีน มีจำนวนมากที่สุดถึง 74,708 กิโลกรัม รองลงมาคือ ฝิ่นและอื่น ๆ 28,760 กิโลกรัม เฮโรอีนกว่า 25,127 กิโลกรัม และเอ็คซ์ตาซีจำนวนกว่า 179 กิโลกรัม

ส่วนการปราบปราม ในปีงบประมาณ 2561 (1 ต.ค. 2560-12 มี.ค. 2561) นี้ สามารถจับกุมได้ 900 คดี ยึดทรัพย์สินได้ 39.50 ล้านบาท

 

ยาเสพติดจากพม่า... สู่มือแก๊งค์ 14K ในมาเลเซีย

พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ระบุว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จับและยึดยาเสพติดที่ผลิตจากว้าได้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้ทำให้จำนวนยาเสพติดในตลาดลดน้อยลงไปเลย ตรงกันข้ามเจ้าหน้าที่กลับพบว่า กลุ่มผู้ผลิตได้เพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเต็มกำลัง เพื่อทดแทนจำนวนยาเสพติดที่หายไปจากตลาด

ผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด ระบุว่า พบความเชื่อมโยงจากกลุ่มว้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศพม่าติดกับประเทศจีน กับกลุ่มนายทุนที่เรียกตัวเองว่า 14K จากประเทศมาเลเซีย ลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำนำออกไปทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเอาไปพักไว้ที่ประเทศมาเลเซีย ก่อนกระจายออกไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย แอฟริกา จนถึงอเมริกา

“แก๊ง 14K เป็นนายทุนใหญ่ที่เรากำลังจับตาดูอยู่” พล.ต.ท.สมหมายระบุ “สามเหลี่ยมทองคำบริหารยาเสพติดด้วยระบบ 14K เพราะ 14K มีเครือข่ายทั่วโลก ยังไม่รวม เฮล แองเจิล และแบนดิดอส”

ด้าน พล.ต.ต.ชยพจน์ หาสุณหะ ผู้บังคับการฝ่ายข่าวกรองยาเสพติด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเบนาร์นิวส์ ระบุว่า แหล่งผลิตยาเสพติดที่มีคุณภาพระดับพรีเมียมของโลกอยู่ที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยมีเครือข่ายที่เรียกว่า 14K มาจากการรวมตัวกันของคนจีน 14 คน ซึ่งอาศัยในที่ต่างๆ รวมถึงเกาลูนและไต้หวัน ใช้ภาษาจีนและภาษาอังกฤษดีเยี่ยม จึงสามารถต่อยอดในการกระจายยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำไปทั่วภูมิภาคของโลก ประเทศไทยจึงกลายเป็นเส้นทางในการลักลอบลำเลียงยาเสพติดไปยังประเทศมาเลเซีย และกระจายไปทุกที่ที่มีคนจีนอาศัยอยู่ เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ใต้หวัน จนถึงแคนาดา และมหานครนิวยอร์ค

“เราบังคับใช้กฎหมายปราบปรามกับขบวนการนี้อย่างเข้มข้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้จำนวนยาเสพติดที่จับได้เริ่มลดน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มี เพียงแต่รูปแบบการลำเลียงมันเปลี่ยนไป ทั้งสูตรและเส้นทาง เราเรียกมันว่า ปรากฎการณ์” พล.ต.ต.ชยพจน์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ปรากฎการณ์ สงครามเคมิเคิล

พล.ต.ท.สมหมาย ระบุถึง สาเหตุที่ยาเสพติดที่ผลิตโดยกลุ่มว้าเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เนื่องจากคุณภาพดีเยี่ยมระดับพรีเมียม โดยมีความบริสุทธิ์ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ และยังนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดประเภทอื่นๆ ได้อีกด้วย และส่งผลให้กำลังซื้อจากทั่วโลกมีมาก ดังนั้นการปราบปรามขบวนการลักลอบขนยาเสพติดข้ามชาติที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้เป็นเพียงการปกป้องคนในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปกป้องคนจากทั่วโลกด้วย

“ประเทศเพื่อนบ้านเราเข้าใจเราดีมาก เขมร ลาว พม่า มาเลเซีย ผนึกกำลังกับเราอย่างไม่เคยมีมาก่อน เราถึงได้มีวันนี้ แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเรารู้ว่าการผลิตไม่ได้หยุด ล่าสุดเรารู้ว่ามีการนำเข้าสารเคมี โซเดียมไซยาไนด์ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองทองคำไปเป็นสารตั้งต้นการผลิตยาเสพติด ตรงนี้น่ากลัวมาก” พล.ต.ท.สมหมาย กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ ผู้บังคับการฝ่ายข่าวกรองยาเสพติด ยอมรับกับเบนาร์นิวส์ว่า เป็นความจริงโดยพบข้อมูลว่ามีการขนส่ง โซเดียมไซยาไนด์ (Sodium cyanide) ไปยังสามเหลี่ยมทองคำปริมาณ 8,000 ตันต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณสินแร่ทองคำของพม่า ไม่น่าจะต้องการปริมาณสารเคมีเยอะขนาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามเหลี่ยมทองคำไม่ใช่สถานที่ทำเหมืองแร่ และได้รับการยืนยันจากผลการตรวจสารเคมีจากห้องปฏิบัติการจากต่างประเทศ

“สามเหลี่ยมทองคำขึ้นชื่อเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้านเคมิเคิล ที่ทำ amphetamine-type stimulants (ATS) เพราะติดประเทศจีน และอินเดีย ที่อยู่ในห้าโรงงานชั้นนำของโลก ที่เป็นแหล่งผลิตสารเคมี ซึ่ง อเมริกา จีน อินเดีย เป็นสามประเทศหลักของโลกที่ผลิตสารเคมีที่เรียกว่า phenyl-2-propanone (P2P)... และสามเหลี่ยมทองคำเป็นแหล่งผลิตไอซ์ที่ดีที่สุดของโลก” พล.ต.ต.ชยพจน์ ระบุ

พล.ต.ต.ชยพจน์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ขบวนการลักลอบขนยาเสพติดข้ามขาตินับเป็นปรากฎการณ์ เพราะเป็นอาชญากรรมที่มีพัฒนาการมากที่สุดเปรียบเทียบกับอาชญากรรมประเภทอื่น เพราะไม่มีรูปแบบตายตัวแน่นอน และขบวนการฯ จะมีปรากฎการณ์ระลอกใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ เพื่อหนีการจับกุมปราบปรามจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนี้พบว่าขบวนการฯ พยายามทดสอบการลำเลียงยาเสพติดโดยไม่ผ่านประเทศไทย และยกตัวอย่างกรณีที่ทางการมาเลเซียสามารถจับยาไอซ์น้ำหนักมากกว่าหนึ่งตันได้ ซึ่งเป็นยาเสพติดล๊อตที่ไม่ผ่านประเทศไทย

“ถ้าวันหนึ่งมันหายไป อย่าคิดว่ามันหายนะ มันแค่เปลี่ยนวิธีการส่ง แต่ยุคนี้ตอนนี้ยังต้องผ่านไทยอยู่... ต่อไป จากพม่าสามารถส่งออกทะเลไปได้เลย ขณะนี้พบว่ามีการทดลองทางกันแล้ว” พล.ต.ต.ชยพจน์ ระบุ

“วิธีการที่ดีที่สุดในการสกัดกั้นยาเสพติดคือ ยึดทรัพย์ หลังจากเราปลุกระดมให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงานที่ทำงานด้านยาเสพติดให้จับยาได้แล้ว เราก็เปลี่ยนหน้าที่ของเราเป็นยึดทรัพย์ เพราะไล่จับเท่าไหร่มันก็ผลิตมาเติม แต่ถ้าไม่มีเงิน เราเชื่อว่าจะทำให้มันหยุดชะงักได้” พล.ต.ท.สมหมาย กล่าวทิ้งท้าย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง