นายกฯ ยกปัญหายาเสพติดเป็นวาระเร่งด่วน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.06.26
พระนครศรีอยุธยา
190626-TH-drugs-1000.jpg ยาเสพติดของกลางถูกนำมาเตรียมเพื่อการเผาทำลาย ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 26 มิ.ย. 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน ว่า รัฐบาลกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระเร่งด่วน ในขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางกว่า 30 ตัน มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัย เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2562 ผ่านช่องยูทูบทำเนียบรัฐบาล ว่า ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับประชาคมโลก เพื่อรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดทุกชนิดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

“รัฐบาลกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระเร่งด่วน สังคมไทยเข้มแข็งและรอดพ้นภัยจากยาเสพติด ด้วยภูมิคุ้มกัน มาตรการลดผู้ค้าและผู้เสพ และความร่วมมือระหว่างประเทศด้านยาเสพติด บรรลุผลตามพันธกรณีและวิสัยทัศน์ของอาเซียน ภายในปี 2562… ผมได้เน้นย้ำแนวทางการทำงานในเรื่องการปราบปรามปัญหาเดิม ป้องกันปัญหาใหม่ และการบำบัดรักษาผู้เสพยา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“การแก้ไขปัญหายาเสพติดจะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนของสังคม ในการหยุดยั้งยาเสพติดไม่ให้ขยายตัวออกไป ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวไทย และทุกหน่วยงาน ที่ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และเสียสละเวลา เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลสังคมของเราให้ปลอดภัยจากยาเสพติด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดพิธีเผาทำลายยาเสพติดของกลาง ครั้งที่ 49 ในเวลา 11.00 น. ณ ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยยาเสพติดทั้งหมดถูกเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติกอินซิเนอะเรชัน คือ เผาที่อุณหภูมิสูง ไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้เกิดการสลายตัวของโมเลกุลกลายเป็นคาร์บอนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เกิดมลพิษในอากาศ และสิ่งแวดล้อมน้อย

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะประธานในพิธี กล่าวว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อต้านยาเสพติดอย่างจริงจัง วันนี้ จึงได้นำยาเสพติดของกลางที่ผ่านการพิพากษาจากศาลชั้นต้นแล้วมาทำลายต่อหน้าสักขีพยาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจะไม่ยอมให้ยาเสพติดที่จับได้รั่วไหลสู่สังคม

“26 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประเทศไทยยืนยันเจตนารมณ์แน่วแน่ร่วมกับประชาคมโลก ในการต่อต้านยาเสพติด… ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ร้ายแรง เป็นภัยเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข เนื่องจากส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคมและสาธารณสุข ก่อปัญหาเชื่อมโยงกับอาชญากรรมหลายประเภท อาทิ การค้ามนุษย์ การฟอกเงิน การทุจริตคอรัปชั่น” นายแพทย์ธเรศ กล่าว

“ปีนี้จะไม่มีการเผากัญชาของกลาง เพราะ ปปส. จะได้นำไปตรวจว่ามีสารโลหะหนัก หรือยาฆ่าแมลง หรือเปล่า แล้ว ปปส. จะนำส่วนที่ใช้ได้ส่งไปยังหน่วยงานที่จะทำการวิจัยต่างๆ” นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ปริมาณยาเสพติดให้โทษของกลางที่ถูกเผาทำลาย ปี 2562 นี้ มีน้ำหนัก 16,467 กิโลกรัม จากคดียาเสพติด 6,910 คดี ประกอบด้วย เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า 12,369 กิโลกรัม หรือประมาณ 137 ล้านเม็ด ยาไอซ์ 3,443 กิโลกรัม เฮโรอีน 143 กิโลกรัม ยาอี 14 กิโลกรัม ฝิ่น 258 กิโลกรัม โคคาอีน 44 กิโลกรัม และยังมีวัตถุออกฤทธิ์ชนิดอื่นอีกกว่า 193 กิโลกรัม รวมทั้ง เมล็ดกัญชาจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 16,499 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 20,047 ล้านบาท

การเผาทำลายยาเสพติดในปีนี้ ถือว่ามากกว่าปีที่แล้ว โดยปี 2561 เผาทำลายยาเสพติดของกลางทั้งสิ้น 14,722 กิโลกรัม จากคดียาเสพติด 7,245 คดี ประกอบด้วย เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า 5,514 กิโลกรัม หรือประมาณ 61 ล้านเม็ด ยาไอซ์ 486 กิโลกรัม เฮโรอีน 108 กิโลกรัม ฝิ่น 122 กิโลกรัม ยาอี 10 กิโลกรัม โคคาอีน 5 กิโลกรัม นอกจากนี้ มีกัญชาและพืชกระท่อม ของกลางที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดนำมาร่วมเผาอีก 8,400 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 13,697 ล้านบาท

โดยการเผาทำลายครั้งที่ 49 นี้ จะแบ่งเป็นสองครั้งคือ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2562 และวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 โดยตั้งแต่ปี 2520-2562 ประเทศไทยได้เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง รวมทั้งสิ้น 49 ครั้ง มีน้ำหนักรวมกว่า 145,243 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 217,390 ล้านบาท โดยยาเสพติดที่เผาทำลายมากที่สุด คือ เมทแอมเฟตามีน แอมเฟตามีน ฝิ่น และเฮโรอีน ตามลำดับ

การบำบัดผู้ติดยาเสพติด

นายแพทย์ธเรศให้ข้อมูลว่า ปีงบประมาณ 2562 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้านำผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัด 219,275 คน เป็นระบบสมัครใจ 136,725 คน บังคับบำบัด 56,550 คน ต้องโทษ 26,000 คน

โดย ผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561-18 มิถุนายน 2562 มีผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดแล้ว 133,962 คน คิดเป็นร้อยละ 61.09 ระบบสมัครใจ 61,360 คน ระบบบังคับบำบัด 58,864 คน และระบบต้องโทษ 13,738 คน โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง รองรับพร้อมด้วยระบบบำบัดรักษาที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งสำหรับประชาชนที่ต้องการจะปรึกษาปัญหายาเสพติด สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1655

สถิติผู้ติดยาเสพติด และการจับกุมยาเสพติดในประเทศไทย

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยพบผู้ใช้สารเสพติดใน 1 ปี ประมาณ 1.4 ล้านคน แต่เข้าสู่ระบบบำบัดของกรมสุขภาพจิตเพียง 2.4 หมื่นคน

“ผู้ใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่ง 1.1 ล้านคน และเป็นผู้ติดสารเสพติด 3.2 แสนคน เข้าสู่ระบบการบำบัดของกรม 24,196 คน พบเป็นผู้ป่วยจิตเวชติดสารเสพติดรุนแรง 5,757 คน และเป็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) 577 คน”

นายแพทย์เกียรติภูมิให้ข้อมูลว่า สถิติผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรงในสังคมเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น 3.92 เท่า ในปี 2561 ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรง 267 ราย ลักษณะของการก่อความรุนแรงในสังคม พบการทำร้ายร่างกายตนเอง และผู้อื่นมากที่สุด 90 คน รองลงมาเป็นการทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย 58 คน และทำลายข้าวของ 44 คน

พบผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงในข่าวเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่เคยเข้ารับการบำบัด 104 คน ซึ่งการสังเกตเฝ้าระวังพฤติกรรม และอาการที่เข้าข่ายเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา ได้แก่ หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวงไร้เหตุผล อยากฆ่าตัวตาย ทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่น พูดจาก้าวร้าว พูดจาเพ้อเจ้อ หลงผิด และแต่งกายแปลกกว่าคนปกติ

สถิติผลปราบปรามยาเสพติดปี 2561 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 3,442,501 คน ยึดทรัพย์กว่า 947 ล้านบาท จับกุมยาบ้าของกลางกว่า 313 ล้านเม็ด ยาไอซ์ 18,836 กิโลกรัม เฮโรอีน 900 กิโลกรัม และ กัญชากว่า 16,400 กิโลกรัม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง