ไทยยังไม่สามารถระบุที่อยู่ของทักษิณ อีกเพียงไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง
2019.03.20
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการ ระบุว่า ไทยยังไม่ได้ดำเนินการขอตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากฮ่องกง กลับมารับโทษตามที่สื่อต่างประเทศ South China Morning Post รายงานข่าว เนื่องจาก ปัจจุบัน ไทยยังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่แน่นอนของนายทักษิณในฮ่องกงได้ ซึ่งเหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ก่อนการเลือกตั้งครั้งแรกของไทย หลังจากที่ประเทศไทยว่างเว้นจากการเลือกตั้งมานานเกือบ 8 ปี
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ของฮ่องกง เผยแพร่ข่าวที่ระบุว่า ทางการไทยจะยื่นเรื่องถึงทางการฮ่องกง เพื่อขอให้ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางไปยังฮ่องกง เพื่อร่วมงานแต่งงานของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว ที่จะจัดขึ้นที่โรงแรมโรสวู้ด ฮ่องกง ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ มารับโทษ แต่สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว
“ทราบข่าวจากข่าวเหมือนกัน พอทราบข่าวก็ได้ดำเนินการตรวจสอบ... ก็มีการถามไปยังตำรวจสากลประเทศนั้นประเทศนี้ ถ้ามันมีความชัดเจนก็จะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเพื่อขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนตามระเบียบต่อไป” พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“กรณีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีอำนาจในการทำเรื่อง” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รายงานข่าวชิ้นดังกล่าวไม่ถูกต้อง
“เป็นการรายงานข่าวที่คลาดเคลื่อน เพราะหากจะขอตัว ต้องมีตำแหน่งที่ชัดเจนให้กับเขา ซึ่งเราทำเองไม่ได้ ต้องพนักงานสอบสวน ส่งข้อมูลให้กับเรา ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีการส่งข้อมูล ยังไม่ได้ทำเรื่อง” นายชัชชม กล่าวผ่านโทรศัพท์
ทั้งนี้ ไทยกับฮ่องกงไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ซึ่งถ้าหากไทยต้องการตัวผู้รายซึ่งหลบหนีอยู่ในฮ่องกง จำเป็นต้องขอตัวเป็นกรณีๆไป
นายทักษิณ ชินวัตร ถูกทำรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา วันที่ 11 สิงหาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่นายทักษิณ เป็นจำเลยจากความผิดในการทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ร่วมกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ซึ่งก่อนหน้านั้นนายทักษิณได้ขออนุญาตศาลเดินทางไปชมกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 แต่นายทักษิณไม่ได้กลับมาฟังคำพิพากษาตามที่ศาลนัด
จากนั้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำพิพากษาลับหลังตัดสินจำคุกนายทักษิณเป็นเวลา 2 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนคุณหญิงพจมาน ถูกยกฟ้อง ปัจจุบัน นายทักษิณอาศัยอยู่ในนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่เคยเดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกเลย นับจากนั้น
ประชาชนชอบประยุทธ์ แต่รักเพื่อไทย
ปัจจุบัน เหลือเวลาอีกเพียง 3 วัน ก็จะถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง ครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังจากที่รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ท่ามกลางบรรยากาศความวุ่นวายทางการเมืองของกลุ่มต่อต้านเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร
และด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งมีบทเฉพาะกาลที่ให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ร่วมเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่ง ส.ว. ทั้งหมดจะถูกคัดเลือกโดย คสช. ทำให้นักการเมือง นักวิชาการ รวมถึงประชาชนบางกลุ่มมองว่า กลไกทางกฎหมายนี้ จะทำให้พรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน คสช. กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง โดยผลสำรวจความคิดเห็นหลายชิ้นชี้ว่า พลเอกประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับความนิยมจากประชาชนสูงที่สุด
โดยผลการสำรวจความคิดเห็นของ เมื่อช่วงต้นมีนาคมของสองสถาบันแห่งชาติ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ได้รับคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง หากในการสำรวจความนิยมพรรค พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด
ด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในวันพุธเดียวกัน ได้เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้แวะเข้ากราบหลวงพ่อโสธร ที่พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร โดยเปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ได้ขอพร
“ขอให้ประเทศชาติปลอดภัย ประชาชนมีความสุข ปราศจากความเดือดร้อน และขอให้สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ปลอดภัย และขอเวลาทำงาน สิ่งสำคัญทุกคนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อทำงานให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้า” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
นักวิชาการเชื่อ ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ อีกสมัย
นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นผ่านเบนาร์นิวส์ว่า พลเอกประยุทธ์ จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ตามด้วยกลไกของกฎหมาย ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคที่มีที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด
“มันเป็นการจัดการเลือกตั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทยที่ผ่านมา ทั้งบทบาทของ กกต. ความโปร่งใส การตรวจสอบพรรคต่างๆ... แต่เพื่อไทยยังจะได้เยอะสุดอยู่ แม้คะแนนน่าจะน้อยลงพอสมควร เพราะคราวนี้ ไม่ใช่มีแค่ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย แต่มีพลังประชารัฐ มีอนาคตใหม่ด้วย” นายฐิติพล กล่าว
นายอุเชนทร์ เชียงเสน สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มีโอกาสสูงที่พลเอกประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และพรรคประชาธิปัตย์คือ ตัวแปรสำคัญ
“ในบทเฉพาะกาล (รัฐธรรมนูญ 2560) มันให้โหวตได้ทั้งคนที่เป็น ส.ว. และ ตัว ส.ว. มันก็จบที่ คสช. เลือก ตอนนี้ที่เรารู้แน่นอนคือ ประยุทธ์เป็นนายกฯ แน่ เพราะรวมกับ ส.ส. พรรคพวก ส.ว. แล้วก็ประชาธิปัตย์ เพราะประชาธิปัตย์ ประกาศชัดแล้วว่าไม่ร่วมกับเพื่อไทย แล้วเขาจะอยู่ไหนล่ะ ถือเป็นการสืบทอดอำนาจตามกฎหมาย พรรคการเมืองจะโดดเดี่ยวประยุทธ์ ก็ต้องรวมตัวกันให้มากที่สุด ประชาธิปัตย์เป็นคีย์แมน” นายอุเชนทร์ กล่าว
สองพรรคใหญ่ไม่เอาประยุทธ์
ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี เผยแพร่คลิปวิดีโอที่ระบุว่า ตนเองจะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แน่นอน ซึ่งเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนครั้งแรกต่อจุดยืนเรื่องนี้
“ชัดๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ถูกเสนอเชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในบัญชีของพรรคเพื่อไทย กล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุว่า “เสียดายที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่แสดงจุดยืนที่มั่นคงร่วมกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ว่าจะไม่เอาเผด็จการ และการสืบทอดอำนาจผ่านพรรคการเมืองที่ถูกตั้งขึ้น ถ้า ปชป. ไม่เอาพลังประชารัฐอีกพรรคเดียว ทหารก็ต้องกลับเข้ากรมกองกันหมดแล้ว” คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุ