กระทรวงการต่างประเทศระบุไทยดูแลการเลือกตั้งเองได้

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.12.18
กรุงเทพฯ
181218-TH-election-observers-1000.jpg เจ้าหน้าที่สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) ติดตามการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 สิงหาคม 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวย้ำผ่านผู้สื่อข่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเชิญคณะผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ มาควบคุมตรวจสอบการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า เพราะประเทศไทยมีศักดิ์ศรีและประสบการณ์เพียงพอที่สามารถจัดการเองได้ แต่หากยังมีข้อกังขา คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถเชิญเจ้าหน้าที่การทูตในประเทศไทยมาร่วมสังเกตการณ์ได้

นายดอน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่ได้ห้ามองค์กรต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า โดยเชื่อว่าคนไทยสามารถดูแลจัดการเลือกตั้งกันเองได้ เพราะเป็นเรื่องของกิจการภายในประเทศและเป็นศักดิ์ศรีของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการปลูกฝังการรับรู้ให้กับคนไทยในการมีส่วนร่วมในครั้งนี้

“ต่างชาติมันจะเก่งกว่าเราไปทุกเรื่องได้อย่างไร จริงอยู่เราต้องเรียนรู้จากต่างชาติในหลายเรื่อง แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง และเรื่องอย่างนี้ เรามีประสบการณ์เพียงพอแล้ว เราดูแลกันเองได้” นายดอน ระบุ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การที่ประเทศอื่นเชิญให้องค์กรต่างประเทศเข้าไปสังเกตการณ์เลือกตั้งเป็นเพราะประเทศนั้นมีปัญหา หรืออาจจะเพราะไม่มีประสบการณ์ หรือคนในประเทศดูแลกันเองไม่ได้ ซึ่งเราไม่ต้องการอย่างนั้น โดยย้ำว่าประเทศไทยมีประสบการณ์และกระบวนการที่โปร่งใสและมีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง

“หากยังไม่พอใจ ก็ให้ กกต. ใช้กลไกของสถานทูต โดยใช้นักการทูตที่อยู่ในประเทศไทยมาเฝ้าสังเกตการณ์ เชื่อว่าการที่คนต่างชาติที่อยู่ในไทยและคนไทยด้วยกัน ดูแลกันจะดีกว่า และขอย้ำว่าไม่เคยห้ามให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์” นายดอน กล่าวเพิ่มเติม

โดยเมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ปฏิเสธ หากมีองค์กรต่างประเทศขอเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้ง แต่ระบุว่าเป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการพิจารณา

“เป็นเรื่องของ กกต. นะ ผมพูดไปแล้วว่าประเทศไทยเราต้องแก้ปัญหาของเราเองให้ได้และให้เกิดความโปร่งใส แสดงความเชื่อมั่นให้เขาสิ แสดงความร่วมมือของเราให้เขาเชื่อมั่นให้ได้ อยู่ที่พวกเราทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยประเด็นการให้องค์กรต่างประเทศเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากหลายเดือนที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่านักการเมืองบางรายเสนอให้ต่างชาติส่งคณะผู้สังเกตการณ์เข้ามาตรวจสอบ ติดตามการเลือกตั้งในประเทศไทยเพื่อให้เกิดความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม

โดยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นี้ เฟสบุ๊คเพจ “European Union in Thailand” ของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความชี้แจงกระแสข่าว ที่ว่าคณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป (อียู) จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งว่า อียูไม่ได้มีการเตรียมการตามที่เป็นข่าว แต่หากประเทศไทยมีความประสงค์ ทางสหภาพยุโรปก็สามารถที่จะพิจารณาส่งทีมภารกิจการสำรวจ เพื่อมาพบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทย และประเมินว่าการส่งทีมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งนั้นจะมีประโยชน์และสามารถทำได้หรือไม่ โดยที่ยังเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ

“การสังเกตการณ์การเลือกตั้งของสหภาพยุโรป (EOM) นั้น จะสามารถลงพื้นที่ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการรับเชิญจากเจ้าหน้าที่ทางการให้มาสังเกตการณ์... ซึ่งตอนนี้ทางสหภาพยุโรปยังไม่ได้รับจดหมายเชิญ” คำชี้แจง ระบุ

ในช่วงสายของวันเดียวกันนี้ นางสาว บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงต่อผู้สื่อข่าวในประเด็นเดียวกันย้ำว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพลเมืองชาวไทย และไม่เคยมีครั้งใดที่ต้องเชิญคณะผู้สังเกตการณ์มาจากต่างประเทศ แม้แต่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ต่างจากการเลือกตั้ง และคนไทยสามารถบริหารจัดการได้อย่างดี เป็นที่พอใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“การดำเนินการบริหารจัดการเลือกตั้งของไทยโดยคนไทย น่าจะดีกว่านำคนต่างชาติเข้ามากำกับควบคุม โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจระบบการเมืองของไทย หรือหากประเทศใดมีความสนใจขอร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง กกต. ก็สามารถเชิญให้สถานทูตต่างประเทศในประเทศไทยส่งผู้แทนมาร่วมได้ตามจำนวนที่เห็นเหมาะสม” น.ส.บุษฎี ระบุ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีการเลือกตั้งมาแล้ว 27 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 85 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่อำนวยการการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2540 โดยจัดการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2554

ด้าน นายสมคิด เชื้อคง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า หากเราทำงานอย่างจริงจังทุกอย่างถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร และควรให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ได้

“คุณดอนจะกลัวอะไรถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด เป็นนักการทูตน่าจะยินดีที่ต่างชาติสนใจการเลือกตั้งเรา การเลือกตั้งควรจะเป็นสากล สุจริต และเปิดเผย อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า กกต. เป็นองค์กรอิสระ ที่สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างโปร่งใสอยู่แล้ว” นายสมคิด กล่าว

มติ กกต. ให้มีหมายเลข ชื่อและโลโก้พรรค ในบัตรเลือกตั้งได้

ช่วงสายของวันอังคารนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงมติคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ระบุหมายเลข พร้อมชื่อและโลโก้พรรคการเมือง ในบัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้งต้นปีหน้า

“กกต.มีมติว่า ในบัตรเลือกตั้ง ให้มีหมายเลข ชื่อพรรค และโลโก้พรรค ในบัตรใบเดียวกัน โดยคำนึงถึงให้มีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพราะคำนึงถึงปัญหาเกี่ยวกับเรื่องบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งบัตรไปยังการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต” พ.ต.อ.จรุงวิทย์

โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุถึงเหตุผลของมติดังกล่าวว่า เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นหลัก และเกรงว่าเมื่อประชาชนเข้าไปในคูหาแล้วอาจจะจำไม่ได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับการยืนยันแล้วว่าสามารถดำเนินเรื่องการพิมพ์และการขนส่งได้ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าบัตรเลือกตั้งจะมีขนาด A4

ทั้งนี้ เลขาธิการ กกต. กล่าวเพิ่มเติมว่า จนถึงปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่มาลงทะเบียนเป็นพรรคการเมืองแล้วประมาณ 95 พรรคฯ และอาจจะมากถึง 100 พรรคฯ อย่างไรก็ตาม ต้องรอจนกว่าจะเปิดให้มีการรับสมัคร สส. ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคม ก่อน จึงจะสามารถระบุได้ว่ามีจำนวนพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครจำนวนกี่พรรค และกี่คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง