นายกรัฐมนตรี: บ้านเมืองต้องสงบจึงจะมีเลือกตั้ง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.05.23
กรุงเทพฯ
TH-prayuth-620 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 พฤษภาคม 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (23 พฤษภาคม 2560) นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ประเทศไทยต้องเกิดความสงบ ไม่มีเหตุรุนแรง และความขัดแย้ง จึงจะให้จัดการเลือกตั้ง และกล่าวขอบคุณประชาชนที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลในวาระครบรอบ 3 ปี ของการยึดอำนาจโดย คสช.

“วันนี้ สิ่งที่อยากให้ทุกคนคำนึงถึง ถ้าบ้านเมืองยังเป็นอย่างนี้อยู่ การวางระเบิด การใช้อาวุธสงคราม การทำให้เกิดความขัดแย้งในภาคประชาชน มีปัญหาเหมือนเดิมๆ แล้วมันจะเลือกตั้งกันได้ไหมล่ะ ผมกำหนดไปมันก็เท่านั้น มันอยู่ที่จะต้องร่วมมือกันเดินไปถึงจุดนั้น อย่าให้รัฐบาลเป็นคนกำหนดเองทั้งหมดเลย” นายกรัฐมนตรีกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล

“การกำหนดวันเลือกตั้ง ทำไม จะต้องชัดเจนถึงขนาดนั้นเชียวหรือ ต้องวันนั้นวันนี้ อะไรต่างๆ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนไม่ใช่หรือ โรดแมปไม่ได้เขียนว่าวันนี้วันนั้น โรดแมปของการทำงาน เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าวันที่เท่านั้น เวลาเท่านี้ แล้วมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมา มันก็ขยับไปหน่อยนึง เรื่องกรณีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นเล่า รัฐธรรมนูญเขาว่ายังไง กฎหมายเขาว่ายังไง เป็นไปตามนั้นหมดทุกอย่าง เว้นแต่บ้านเมืองไม่สงบสุข เอาอย่างนี้แล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า คสช. และรัฐบาลขอขอบคุณที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้เวลา และให้โอกาสในการทำงานจนครบรอบ 3 ปี ซึ่งมีปัญหาหลายอย่างที่แก้ไขได้ แต่ปัญหาหลายอย่างก็ยังแก้ไขไม่ได้ เพราะมีความสลับซับซ้อนจึงต้องใช้เวลาอีกระยะในการแก้ไข

ขณะเดียวกันนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักศึกษากลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งจัดงานครบรอบ 3 ปี การทำรัฐประหาร และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ได้เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ประชาชนบางส่วนต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เนื่องจากเชื่อมั่นว่า การมีรัฐบาลพลเรือนจะทำให้เศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของประเทศกลับคืนสู่สภาพปกติ

“จริงๆ คสช.ควรจะออกไปจากอำนาจให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ประวิงเวลาเพื่อการอยู่ในอำนาจ ถ้าเลือกตั้งความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ จะกลับคืนมา การมีรัฐบาลพลเรือนจะทำให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติ จะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าเป็นรัฐบาล คสช.เราก็ต้องเจอกับภาวะนี้ต่อไป” นายสิรวิชญ์กล่าว

ขณะเดียวกันในวาระครบรอบ 3 ปี ของการทำรัฐประหาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนข้อความบนเฟซบุ๊ค แฟนเพจส่วนตัวระบุว่า ต้องการทวงสัญญาที่ คสช. ให้ไว้ว่าจะคืนความสุข และต้องการเห็นบ้านเมืองกลับสู่ความสงบ หลังจากที่ความสงบถูกอ้างเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจจากรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เมื่อ 3 ปีก่อน

“ครบ 3 ปีแล้ว เป็น 3 ปีของประเทศไทยที่รอวันนั้นด้วยความหวัง หวังจะให้บ้านเมืองเกิดความสงบ ปรองดองและเกิดหลักนิติธรรมขึ้นในบ้านเมือง เราจะได้เลิกทะเลาะกันสักที และร่วมกันปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ อยู่ในเวทีโลกด้วยความภาคภูมิใจ” น.ส.ยิ่งลักษณ์เขียนในเฟซบุ๊ค

“ตามที่สัญญาว่าจะคืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชนและประเทศ แต่พวกเรายังไม่เห็นการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าไม่มีการปฏิรูปก็สูญเปล่า เพราะความเสียหายทางเศรษฐกิจมีมากจากการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นอย่าให้ เป็น 3 ปี ที่ต้องสูญเปล่า” อดีตนายกรัฐมนตรีระบุ

ในช่วงสายของวันจันทร์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันครบรอบ 3 ปีการทำรัฐประหารโดย คสช. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้เกิดเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 21 ราย โดยถือว่าเป็นการระเบิดครั้งที่ 3 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในรอบสองเดือน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่รัฐบาลเชื่อว่าเป็นการลอบวางระเบิดเพื่อสร้างสถานการณ์โดยใช้ระเบิดแรงดันต่ำ หลังจากเกิดเหตุหลายฝ่ายได้ประณามการลอบวางระเบิดในเขตโรงพยาบาลครั้งนี้ เนื่องจากตามหลักสากล โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ควรงดเว้นการก่อเหตุรุนแรงทุกชนิด

นายสุนัย จุลพงศธร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวผ่านช่องพีซวอยซ์ไทยแลนด์ บนเว็บไซต์ยูทูปถึงเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าโดยวิเคราะห์แรงจูงใจของผู้ก่อเหตุครั้งนี้ว่า เป็นการก่อเหตุเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.ลงจากอำนาจ

“การระเบิดสดๆ ร้อนๆ ในวาระครบ 3 ปี คสช.ยึดอำนาจประชาชน เป็นระเบิดที่ไม่ต้องแปล ความหมายคือไล่ คสช.ตรงๆ มีคนช่วยคิดสโลแกนให้ในโอกาสครบ 3 ปี ว่า เสียงระเบิดถี่ เพราะพี่ไม่ยอมไปซะที เพราะพี่ คสช.ไม่ไปซะที” นายสุนัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการสรุปแรงจูงใจในการก่อเหตุ และการระบุกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุครั้งนี้

โรดแมปสู่ประชาธิปไตย

หลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวให้คำมั่นว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งภายใน 15 เดือน ซึ่งจะอยู่ในเดือนสิงหาคม 2558 และต่อมาได้มีการกล่าวว่าการเลือกตั้ง มีเหตุให้ต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อยสี่ครั้ง

ตามมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา กำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

จากนั้นให้ กรธ. ส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้แล้วในระยะเวลา 60 วัน หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 10 วัน จากนั้นส่งกลับยัง สนช. 15 วัน ถ้า สนช. เห็นชอบ จะเข้าสู่ชั้นทูลเกล้าฯ กรอบเวลา 120 วัน และจะใช้เวลาจัดการเลือกตั้ง 5 เดือน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง