ครอบครัวของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ทวงถามหาความยุติธรรม
2019.10.11
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
ภรรยาและญาติของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งหมดสติระหว่างกระบวนการซักถามในค่ายอิงคยุทธบริหาร ในจังหวัดปัตตานี และเสียชีวิตในเวลาต่อมากว่าหนึ่งเดือน ได้เดินทางยังรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ในสัปดาห์นี้
เมื่อเวลาตีสาม ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี หมดสติหลังจากเข้ากระบวนการซักถามยาวนาน 10 ชั่วโมง ณ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทั้งนี้ นายอับดุลเลาะ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยหลังจากที่นายอิบรอเฮงระ มะเซ็ง ซึ่งมีหมายจับคดีความมั่นคง 4 หมาย ซัดทอดว่า นายอับดุลเลาะให้การช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีหลายครั้ง
พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวอ้างอิงถึงรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ขณะถูกควบคุมตัว นายอับดุลเลาะสุขภาพแข็งแรงดี แต่มีอาการเครียดจากการถูกควบคุมตัว และได้รับอนุญาตให้พักภายในศูนย์ฯ
ต่อมา นายอับดุลเลาะ ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และโรงพยาบาลจังหวัดปัตตานี ก่อนส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในอำเภอหาดใหญ่ และเสียชีวิตที่นั่นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 โดยแพทย์ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจาก อาการปอดอักเสบ ติดเชื้อ และมีภาวะเป็นพิษจากการติดเชื้อ
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมนี้ นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ กรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงผลการตรวจของแพทย์ระบุว่า ไม่พบร่องรอยการถูกซ้อมทรมาน บนร่ายกายของนายอับดุลเลาะ
“แพทย์ที่เกี่ยวข้องพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตมาจากอาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง และมีภาวะพิษจากการติดเชื้อ สาเหตุนำคือ ภาวะสมองขาดเลือด และขาดออกซิเจน การไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำ อย่างที่มีการกล่าวอ้างว่า มีการใช้ถุงคลุม การใช้ผ้าเปียกปิดหน้าแล้วเทน้ำใส่ หรือแม้กระทั่งตัวผู้ป่วยหมดสติ และมีภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร” นายอับดุลอซิซ กล่าว
“แพทย์ชี้ให้เห็นว่า หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น จะต้องมีการแสดงออกถึงจุดที่เลือดออกบ้าง เช่น จะแสดงออกได้ชัดเจนที่ตา คือเยื่อบุหลอดเลือดจะแตกและมีเลือดออกตามตา เหงือก ริมฝีปากคล้ำ เยื่อบุจะขาด ใบหน้าบวมคล้ำ ผู้ที่ขาดออกซิเจนจะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนจากบริเวณริมฝีปาก ซึ่งในกรณีนายอับดุลเลาะไม่พบลักษณะดังกล่าว” นายอับดุลอซิซ กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะผู้ประสานพาครอบครัวของนายอับดุลเลาะ ได้นำญาติฯ มายังที่รัฐสภา ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการยุติธรรม เพื่อดำเนินการตรวจสอบ
“เนื่องจากจะมีกระบวนการ ด้วยวิธีการที่ไม่มีหลักฐาน จึงอยากให้มีการตรวจสอบให้มีความชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการซ้อมทรมาน และเกิดการเสียชีวิต และสืบค้นต่อไปว่า เหตุผลของการขาดอากาศหายใจ ขาดเลือด เกิดจากสาเหตุใด เรื่องเหล่านี้จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนต่อไป” นายสุรพงษ์ กล่าว
ด้าน นายโมฮำมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ ซึ่งเดินทางมายังรัฐสภาพร้อมกับนางซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า อยากจะทราบความจริงในกรณีนี้ โดยหวังว่า คณะกรรมาธิการฯ จะช่วยเหลือได้
“กรณีของอับดุลเลาะไม่ใช่เคสเดียวที่เกิดในสามจังหวัด ยังมีอยู่ก่อนหน้านี้อีกหลายเคส ที่ญาติและผมพยายามทำเรื่องนี้เพราะว่า หลังจากนี้ไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้กับคนสามจังหวัดอีกต่อไป... คนสามจังหวัดที่ถูกกระทำยังคับแค้นในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่” นายโมฮำมัดรอฮมัด กล่าว
การแสวงหาความยุติธรรม
หลังการเสียชีวิตของอับดุลเลาะ พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า กองทัพได้ตั้งคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้แทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา นักวิชาการ และภาคประชาชนขึ้นมาเพื่อตรวจสอบอย่างโปร่งใสในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบทางวินัย ในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่กระทำผิด
จากนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า กองทัพซ้อมทรมานประชาชน และระบุว่า รัฐบาลไม่อนุญาตให้ใช้ความรุนแรงในกระบวนการซักถาม
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กันยายนนี้ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ได้ตั้งกระทู้สดถามรัฐบาล ถึงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ซึ่งพลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบว่า พลเอกประยุทธ์ รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้น และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้ความยุติธรรมอย่างทั่วถึง
“ในการดำเนินการนั้น รัฐบาลได้กำชับหน่วยในพื้นที่เด็ดขาดเรื่องสิทธิมนุษยชน และกำชับว่า ถ้าเหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่จะต้องลงโทษอย่างเด็ดขาดทั้งวินัยและอาญา และจะต้องไม่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น” พลเอกชัยชาญ กล่าว
ล่าสุด ในวันศุกร์นี้ พันเอกปราโมทย์ กล่าวถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า “คือเรื่องนี้ เรามีการตั้งคณะกรรมการ และคณะกรรมการก็ได้ไปตรวจสอบ ผลของการตรวจสอบของคณะกรรมการชี้ชัดอยู่แล้วว่า เหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่”
นอกจากนั้น พลเอกชัยชาญ กล่าวแก่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า กองทัพได้เสนอค่าชดเชยให้กับครอบครัวของอับดุลเลาะเป็นเงิน 5 แสนบาทแล้ว แต่ทางญาติกล่าวว่า ได้ปฏิเสธไป
“มีการพูดถึงเงินช่วยเหลือ ตอนที่ญาติระดมทุน แต่ไม่ใช่เงินเยียวยา ซึ่งทางญาติปฏิเสธไป เพราะเขาบอกว่า ยินดีจะช่วยแต่จะมาแบบเป็นพิธี จัดพิธีมอบ ทางญาติก็เลยบอกว่า ถ้าจะช่วยก็ให้โอนเข้ามาเหมือนกับคนอื่น เขาก็เลยเงียบไป ตอนบอกจะช่วยเหลือก็ไม่ได้บอกว่าจะให้เงินเท่าไหร่ หรือมีเงื่อนไขอะไร” นายโมฮำมัดรอฮมัด กล่าว
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ครอบครัวของนายอับดุลเลาะ จึงได้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรหนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่ง พ.ต.ท.จักรกฤติ แสงจันทร์ รองผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรหนองจิก ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากญาติและทนายความแล้ว และระบุว่า พนักงานสอบสวนเริ่มทำการสอบสวนฝ่ายผู้เสียหาย ได้แก่ นางสาวซูไมยะห์ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ และญาติคนอื่นโดยมีทนายเข้าร่วมรับฟัง หลังจากนี้ จะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎรซึ่งรับเรื่องร้องเรียน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเชิญตัวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีของนายอับดุลเลาะ จะเกิดขึ้นหลังการประชุมอภิปรายร่างงบประมาณประจำปี 2563 กลางเดือนตุลาคม 2562 นี้
“เรื่องนี้ต้องให้เจ้าหน้าที่ของสภาฯ เป็นคนแนะนำว่าจะเชิญใคร และต้องมีการหารือกันก่อน การเชิญตัวจะยังไม่ใช่สัปดาห์หน้าแน่นอน เพราะจะติดอภิปรายร่างงบประมาณ หลังจากนั้นจะมีการประชุมในคณะกรรมาธิการฯ และจะได้มีการแถลงอีกทีว่า จะมีกำหนดการอย่างไร” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว
“สิ่งที่เราจะทำได้ คือการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล โดยหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้อง กองทัพ รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบ” น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์
อย่างไรก็ตาม นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า คณะกรรมาธิการฯ มีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูลจริง แต่เจ้าหน้าที่ก็อาจปฏิเสธการตอบคำถามได้
“กมธ. สามารถเชิญเจ้าหน้าที่มาสอบถามได้ ขอดูบันทึกการจับกุม บันทึกแพทย์ตอนจับกุม รวมถึงควรไปตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว รับฟังทุกฝ่ายแล้วสรุปเป็นรายงานพร้อมข้อเสนอแนะ ปกติ กมธ. มีสิทธิถาม และ กอ.รมน. ต้องให้ข้อมูล เพราะเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าไม่ตอบ ก็บันทึกในรายงานได้ว่าไม่ได้รับความร่วมมือ” นางอังคณา กล่าว
ซึ่งพันเอกปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า "ญาติสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่เราไม่กีดกั้นอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา เราไม่ตัดสิทธิ์อยู่แล้วในแง่กฎหมายเขาสามารถทำได้”
“เราพอจะมีความหวัง และเชื่ออยู่บ้างกับกระบวนการของ กมธ. เพราะก็ดีกว่านั่งรออยู่ที่บ้าน แล้วแค่ขอพร” นายโมฮำมัดรอฮมัด กล่าวแก่เบนาร์นิวส์