ดีอี เปิดตัวศูนย์ต้านข่าวปลอมอย่างเป็นทางการ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.11.01
กรุงเทพฯ
191101-TH-anti-fakenews-center-1000.jpg นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์นี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แถลงข่าว เปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เพื่อตรวจสอบข่าวออนไลน์ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคม พร้อมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) หรือ ศปอส.ตร. ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสอบสวนดำเนินคดีหากพบว่าข่าวปลอมสร้างความเสียหายกับสังคม

การเปิดตัว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) และ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) หรือ ศปอส.ตร. ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อตอนบ่ายของวันศุกร์นี้ ในพื้นที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยมีการแถลงข่าว ตอบคำถามสื่อมวลชน และพาสื่อมวลชนเข้าชมห้องปฏิบัติการบนชั้น 4 ของอาคาร 20

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว. ดีอี กล่าวในงานแถลงข่าวฯ ว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องการกำจัดข่าวปลอมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสังคมในวงกว้าง เช่น ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิด ตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศชาติ โดยยึดหลักความเที่ยงธรรม โดยปราศจากอคติในการคัดเลือกข่าว ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ในขณะที่เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน พร้อมกับให้ข้อมูลที่ถูกต้องกลับคืนไปสู่สังคมออนไลน์

“มีการผลิตทั้งข่าวจริงและข่าวไม่จริงในวันนึง 3-4 แสนข่าว หรือว่าข้อความ ไม่นับที่เป็นส่วนบุคคลที่ทำเอง คิดเองเขียนเอง และแชร์กันเองในกลุ่ม… จุดประสงค์คือให้พ่อแม่พี่น้องได้เข้าใจว่า ข่าวไหนคือข่าวปลอม ข่าวไหนคือข่าวจริง ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาในเรื่อง Fake news หรือว่าข้อมูลที่โดนบิดเบือน มันมีอยู่มาก” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

“การตั้งศูนย์นี้ ไม่มีเจตนาในการใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนรัฐบาลแต่อย่างไร และไม่มีเจตนาในการเป็นประโยชน์กับใครคนใดคนหนึ่ง เราเพียงแต่ทำอย่างไรให้ข่าวปลอมลดน้อยลง และทำอย่างไรให้ประชาชนได้มีหลักคิด ใช้สติก่อนจะเผยแพร่ออกไป” นายพุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า หน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม คือ สำนักข่าวไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาคมนักข่าว และผู้ทรงคุณวุฒิแขนงต่างๆ เป็นหน่วยงานหลัก โดยจะมีหน่วยงานร่วมกว่า 200 หน่วยงาน และจะใช้เวลาในการตรวจสอบข่าวต่างๆ 2 ชั่วโมงต่อหนึ่งข่าว

ที่ทำการศูนย์ฯ ตั้งอยู่บนชั้น 4 อาคาร 20 ที่ทำการบริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน มีลักษณะเหมือนเป็น War Room ที่มีจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางโดยรอบ 4 ด้าน ล้อมรอบด้วยเจ้าหน้าที่นั่งทำงานบนจอคอมพิวเตอร์จำนวนกว่า 30 คน ทำงานในการตรวจจับเนื้อหาที่เข้าข่ายกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยวงกว้าง โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มประกอบด้วย 1. กลุ่มภัยพิบัติ 2. กลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร หุ้น 3. กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย รวมถึงสินค้าและบริการผิดกฎหมาย และ 4. กลุ่มนโยบายของรัฐบาล ความสงบเรียบร้อยของสังคม ศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ

ในการปฏิบัติงานนั้น เมื่อศูนย์ฯ ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นข่าวปลอมแล้วจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวภายในสองชั่วโมง และหากพบว่าเป็นข่าวปลอม จะได้มีการระบุว่าเป็นข่าวปลอมบนเว็บไซต์ antifakenewscenter.com และอาจส่งต่อข้อมูลข่าวปลอมไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

ด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวน สอบสวน ดำเนินคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ เพื่อลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. ที่ปัจจุบันมีงานล้นมือ

นอกจากนั้น เบนาร์นิวส์ ได้สอบถาม พล.ต.อ.สุวัฒน์ กรณีที่มีการอ้างว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้มีการเปิดเพจบนเฟซบุ๊กจำนวนมากเพื่อนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจผิดนั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามเรื่องนี้อยู่

“เราทราบ และได้มีการติดตามตรวจสอบอยู่ เพียงแต่เรื่องนี้เป็นเรื่องความมั่นคงที่เราจะไม่แถลงข่าวหรือเปิดเผยการทำงานต่อสาธารณะ” พล.ต.อ.สุวัฒน์ ระบุ

นักสิทธิมนุษยชนระบุ รัฐต้องการปิดปากประชาชน

นายสุณัย ผาสุก นักวิจัยขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าว เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลในการเซ็นเซอร์ประชาชนเท่านั้น

“มันเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการเซ็นเซอร์อีกชิ้นหนึ่ง ที่ไม่แตกต่างจากบรรยากาศที่เคยเป็นมาในสมัยห้าปีก่อนภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร โดยอีกนัยยะหนึ่ง ไม่มีการยุติการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือที่ส่งเสริมความเกลียดชังจากฝ่ายที่สนับสนุนทหาร และพรรคพลังประชารัฐพุ่งเป้าไปที่นักเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชน นักการเมืองฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนที่กล้ารายงานข่าว สถานการณ์เรื่องการแสดงออกยิ่งเลวร้ายลง” นายสุณัย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลเลือกปฏิบัติในการจัดการข่าวปลอม โดยมองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู

“ทุกอย่างเป็น SLAPP (การฟ้องร้องเพื่อปิดปาก)... ตอนนี้ รัฐมองคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลเป็นศัตรู ทำให้คนที่พูดสวนทางกับรัฐบาลเป็นศัตรู รัฐควรยอมรับความเห็นที่แตกต่างและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ควรมีการพูดคุยก่อนการฟ้องร้อง ไม่ควรผลักคนไปเป็นศัตรู รัฐบาลเลือกปฏิบัติ ด้วยการเซ็นเซอร์เฉพาะต่อสิ่งที่กระทบกับตัวรัฐ คุณพุทธิพงศ์ พูดถึงเฉพาะเรื่องที่รัฐบาลถูกโจมตี แต่ไม่พูดถึงเรื่องของประชาชน รัฐมักจะเซ็นเซอร์ทุกอย่างที่ว่ารัฐ โดยไม่คำนึงถึง พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” นางอังคณา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ส่วน นายอาทิตย์ สุริยวงศ์กุล เครือข่าวพลเมืองเน็ต กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลควรใช้กลไกนี้ในการแก้ไขข่าวปลอม และไม่ควรใช้ไปในการฟ้องร้อง

“เจตนาของศูนย์นี้ คือ ต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สังคม ด้วยการสร้างข้อมูลที่ถูกมาแก้ข่าวที่ผิด หรือต้องการจะจับกุมคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด ซึ่งถ้าเน้นอย่างแรก ปัญหาจะน้อยกว่า เพราะเราหาทางเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ค่อนข้างละเมิดสิทธิน้อยกว่า แต่ถ้าเน้นการจับ จะเริ่มมีปัญหาแล้ว เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่า คนคนนั้นมีเจตนาให้เกิดความเสียหายหรือไม่” นายอาทิตย์ ตั้งข้อสังเกต

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง