ชาวไทยมุสลิมรู้สึกเสียดาย ซาอุดิฯห้ามต่างชาติร่วมฮัจย์

มารียัม อัฮหมัด
2020.06.23
ปัตตานี
200623-TH-hajj-cancelled-1000.jpg ผู้แสวงบุญขณะทำพิธีตอวะห์ (เดินรอบกะบะห์) และขอดุอาร์ ที่กะบะห์ (มัสยิดฮารอม) ในเมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย วันที่ 14 กันยายน 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ ชาวไทยมุสลิมในประเทศไทยเปิดเผยว่า รู้สึกเสียดายที่จะไม่ได้ไปร่วมพิธีฮัจย์ในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ประกาศว่า จะอนุญาตให้เฉพาะชาวซาอุดิอาระเบีย และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในซาอุดิอาระเบียเท่านั้น ที่สามารถเข้าร่วมพิธีฮัจย์ปี 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

ประเทศไทย ได้โควต้าสำหรับผู้แสวงบุญ 13,000 คน ในปี 2560 แต่เดินทางจริงประมาณหนึ่งหมื่นคน ล่าสุดในปี 2562 มีผู้แสวงบุญเดินทางไปจากประเทศไทยไม่ถึง 9,000 คน

นางนาปีซะ สะตำ ชาวจังหวัดปัตตานีกล่าวว่า ตนเองได้จองตั๋วเพื่อที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจย์ในปีนี้ล่วงหน้าแล้ว รู้สึกเสียใจที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียประกาศห้ามชาวต่างชาติเข้าร่วม แต่ก็ยอมรับได้เพราะเชื่อว่า อัลลอฮ์ได้กำหนดไว้แล้ว

“ฉันจ่ายเงินให้บริษัทเพื่อที่จะเดินทางไปทำฮัจย์ปีนี้แล้ว 180,000 บาท แต่เมื่อทางซาอุฯ ประกาศไม่ให้มีการเดินทางไปทำฮัจย์.. ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเสียใจ แต่ไม่เป็นไรถือว่า เป็นความประสงค์ของอัลลอฮ์ก็ต้องยอมรับ ส่วนเงินที่จ่ายไปแล้ว บริษัทประกาศแล้วว่า ถ้าใครต้องการจะไปปีหน้า ก็สามารถแจ้งชื่อได้โดยไม่ต้องเอาเงินคืน ตนเองยืนยันว่าจะไปปีหน้า” นางนาปีซะ กล่าว

“ผู้ที่มีความรู้ เขาได้ปลอบใจเราด้วยว่า การประกาศยกเลิกฮัจย์ปีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ตามประวัติศาสตร์ 1,400 กว่าปี มีการยกเลิกพิธีฮัจย์มาแล้วอย่างน้อย 40 ครั้ง นับตั้งแต่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 629 จะบอกว่าไม่เสียใจก็โกหก แต่ก็ยอมรับกับสิ่งที่ถูกกำหนด และเมื่อฟังประวัติศาสตร์ ก็สบายใจ และเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น” นางนาปีซะ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายมูฮำหมัดยูโซป มามะสาและ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทราบล่วงหน้าประมาณ 2 เดือนแล้วว่าอาจมีการยกเลิกพิธีฮัจย์

“ก่อนหน้านี้ ซาอุดิอาระเบียส่งสัญญาณถึงประชาคมมุสลิมล่วงหน้าประมาณ 2 เดือน ให้ผู้แสวงบุญทั่วโลกชะลอแผนการเดินทางแสวงบุญประกอบพิธีฮัจย์ในปีนี้ และเมื่อเดือนมีนาคม ทางการซาอุดิอาระเบียก็ประกาศยกเลิกอุมเราะห์ (การแสวงบุญเล็ก) ทำให้คาดไว้ก่อนแล้วว่า อาจมีการยกเลิกพิธีฮัจย์” นายมูฮำหมัดยูโซป กล่าว

ในวันนี้ เจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้ตอบข้อความถึงแก่เบนาร์นิวส์ว่า กระทรวงฮัจย์และอุมเราะห์ของซาอุดิอาระเบีย ได้ประกาศว่า การประกอบพิธีฮัจย์ในปีนี้ (ฮ.ศ. 1441) จะถูกจัดขึ้นโดยมีผู้แสวงบุญจำนวนจำกัด เฉพาะซาอุดิอาระเบีย และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในซาอุดิอาระเบียเท่านั้น ด้วยเหตุผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19

“กระทรวงฮัจย์และอุมเราะห์ของซาอุดิฯ ประกาศว่า การประกอบพิธีฮัจย์ในปีนี้ (ฮ.ศ. 1441) จะถูกจัดขึ้นโดยมีผู้แสวงบุญจำนวนจำกัดเฉพาะชาวซาอุดิฯ และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในซาอุดิฯ เท่านั้น และตามประกาศล่าสุดเป็นเช่นนั้น” เจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ไทย รายหนึ่งกล่าว

ทั้งนี้ ประกาศของกระทรวงฮัจย์และอุมเราะห์ของซาอุดิอาระเบีย ระบุเนื้อความส่วนหนึ่งว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีผู้ป่วยแล้วกว่า 7 ล้านคน และเสียชีวิตเกือบ 5 แสนราย ทำให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียตัดสินใจอนุญาตให้เฉพาะผู้แสวงบุญในประเทศเข้าร่วมพิธีฮัจย์ในปีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นการตัดสินใจที่คำนึงถึงความปลอดภัย และสุขภาพของผู้แสวงบุญทั่วโลก และพิธีฮัจย์จะจัดขึ้นโดยยึดถือกระบวนการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นหลัก และจำกัดจำนวนผู้แสวงบุญ”

สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้ระบุอีกว่า จนถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีผู้ติดเชื้อสะสม 161,005 ราย หายป่วยแล้ว 105,175 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,307 ราย

ในแต่ละปี มีผู้แสวงบุญกว่า 1 ล้านคน เดินทางไปยังประเทศซาะอุดิอาระเบีย สร้างรายได้ให้ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปีละกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (รายได้รวมจากฮัจย์และอุมเราะห์) โดยพิธีฮัจย์เป็นกิจกรรมที่ชาวมุสลิมปรารถนาจะเดินทางไปร่วมสัก 1 ครั้งในชีวิต อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลการระบาดของโควิด-19

ในหลายประเทศ ได้มีการประกาศห้ามประชาชนของประเทศตนเองเดินทางไปร่วมพิธีฮัจย์ โดยอินโดนีเซีย ประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก เป็นประเทศแรกที่ประกาศไม่ให้ผู้แสวงบุญ 221,000 คน เดินทางไปร่วมพิธีฮัจย์ ส่วนประเทศมาเลเซีย ที่ชาวมุสลิมมาเลเซียกว่า 31,600 คน ได้ลงทะเบียนเพื่อไปประกอบพิธีฮัจย์ แต่ทั้งหมดต้องเลื่อนแผนการเดินทางออกไป ตามการประกาศห้ามของรัฐบาลมาเลเซีย ตามมาด้วย ประเทศเซเนกัล และสิงคโปร์ ก็เช่นกัน อย่างไรก็ดี ตามประวัติศาสตร์การยกเลิกพิธีฮัจย์เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง

ทั้งนี้ ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า การยกเลิกพิธีฮัจย์ในอดีตเกิดขึ้นในหลายครั้ง และจากหลายสาเหตุ เช่น ปี ค.ศ. 865 พิธีฮัจย์ถูกยกเลิกเนื่องจาก การสังหารหมู่บนภูเขาอะรอฟะฮ์  ปี ค.ศ. 930 อะบูตอเฮร์ อัล-จานาบี หัวหน้ากลุ่มคาร์มาเตียน (Qarmatian) หรือกะรอมิเตาะห์ ในบาห์เรนได้โจมตีนครมักกะห์ โดยสังหารผู้แสวงบุญไปถึง 30,000 คน และทิ้งศพลงในบ่อน้ำซัมซัม (Zamzam) อันศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังได้ ปล้นมัสยิดใหญ่ และขโมยหินดำซึ่งชาวมุสลิมถือว่าเป็นหินสวรรค์จากอาคารกะบะห์ไปไว้ยังเกาะบาห์เรน พิธีฮัจย์จึงถูกยกเลิกไปเป็นเวลา 10 ปี (ต่อมาหินดำได้กลับมายังมักกะห์ในปี ค.ศ. 983)

ปี ค.ศ. 983 เกิดข้อพิพาททางการเมืองระหว่าง อับบาซียะห์แห่งอิรักและซีเรีย กับฟาติมิยะห์แห่งอียิปต์ พิธีฮัจย์จึงยกเลิกไปจนกระทั่ง ปี ค.ศ. 991 จึงได้กลับมามีฮัจย์อีกครั้ง ปี ค.ศ. 1831 เกิดโรคระบาดจากอินเดียแพร่ระบาดไปยังมักกะห์ ทำให้ผู้เสียแสวงบุญเสียชีวิตไปถึงสามในสี่ของทั้งหมด ทำให้พิธีฮัจย์ยกเลิก และ ระหว่างปี ค.ศ. 1837-1858 พิธีฮัจย์ถูกยกเลิก 3 ครั้งเนื่องจากโรคระบาด เป็นต้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง