ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวหาคณะทหารไทยกระชับอำนาจ ปิดกั้นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.01.28
TH-prayuth-620 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ในระหว่างพิธีสวนสนามเนื่องในการเกษียณอายุ ฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพบก ณโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก วันที่ 29 กันยายน 2558
เอเอฟพี

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมนไรท์วอทช์” ได้กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กระชับอำนาจของตนเองให้มากขึ้นและปราบปรามปิดกั้นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนักในรอบปีที่ผ่านมา

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี ฉบับที่ 26 ที่ชื่อว่า World Reports 2016: Politics of Fear Threaten Rights ในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคมนี้

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า “วิกฤติสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยย่ำแย่มากขึ้น มองไม่เห็นเลยว่าจะจมลึกลงไปในระบอบเผด็จการทหารของ คสช. ต่อไปอีกเท่าไหร่”

“คณะทหารใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องรับผิดใดๆ และใช้เวลาส่วนใหญ่ของปีที่แล้วคุกคาม และดำเนินคดีผู้เห็นต่าง ปิดกั้นการชุมนุม เซ็นเซอร์สื่อ และจำกัดการแสดงออกทางการเมืองที่คณะทหารไม่เห็นด้วย” นายอดัมส์ กล่าว

ในรายงานการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในกว่า 90 ประเทศ ในปี 2558 ที่มีความยาว 659 หน้า ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กระชับอำนาจมากขึ้น และปราบปรามปิดกั้นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนักในรอบปีที่ผ่านมา คณะทหารไม่ได้ทำตามคำสัญญาที่กล่าวว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชน และนำพาประเทศไทยกลับคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง”

เนื้อหาของรายงานดังกล่าวยังมีต่อไปว่า “ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คสช. ซึ่งมีหัวหน้า คือ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดใดๆ ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังไม่ใส่ใจต่อความกังวลของสหประชาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลประเทศต่างๆ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 การบังคับใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก 2457 ได้ถูกแทนที่ด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายแก่ผู้ที่ดำเนินการต่างๆ ในนามของ คสช. เมื่อเดือนพฤศจิกายน คณะทหารเสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่ควรรับประกันการนิรโทษกรรมต่อการใช้กำลังทหาร เพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ”

นอกจากนั้น รายงานฉบับดังกล่าว ยังได้กล่าวถึงปัญหาต่างๆ ของประเทศไทย เช่น การที่คณะทหารสัญญาเลื่อนการนำพาประเทศกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนออกไปเรื่อยๆ การห้ามกิจกรรมทางการเมืองและการชุมนุมอย่างสันติในที่สาธารณะ การใช้อำนาจตามอำเภอใจจับกุมคุมขังหลายร้อยกรณี โดยเพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน และการปฏิบัติอย่างมิชอบต่อผู้ที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหาร การที่ คสช. ดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีของผู้ที่ต่อต้านคณะทหาร และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์ที่มีอย่างน้อย 56 กรณี

รายงานฉบับดังกล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่การรัฐประหาร การที่รัฐบาลไทยเพิกเฉยคำร้องขอของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) และรัฐบาลหลายประเทศ ด้วยการส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปประเทศจีน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 และการส่งตัวนักกิจกรรมชาวจีน 2 คน กลับไปประเทศจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558  รวมทั้ง การที่บุคลากรของกองทัพที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบ ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยังไม่มีใครถูกลงโทษ

“ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องกดดันคณะทหารอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เปลี่ยนท่าที ยุติการปราบปรามปิดกั้นสิทธิมนุษยชน และทำตามคำสัญญาด้วยการนำพาประเทศกลับสู่การกครองโดยพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” นายอดัมส์ กล่าว

คำโต้ตอบจากรัฐบาลไทย

ในวันนี้ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมากล่าวโต้ตอบรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ฉบับนี้ มีความคลาดเคลื่อนและไม่ได้ครอบคลุมความคืบหน้าในการปฏิรูปที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยหนังสือพิมพ์มติชน ได้สัมภาษณ์นายเสข ที่ได้กล่าวว่า “รัฐบาลไทยรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่รายงานดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน และมิได้สะท้อนถึงความคืบหน้าของการปฎิรูปซึ่งมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามโรดแมป เพื่อนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดอง และบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพ ตามกรอบระยะเวลาที่ระบุไว้ชัดเจน โดยจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ในเดือนมิถุนายน 2560 และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือนกรกฎาคม 2560”

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ขณะนี้ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดในภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม มีความคืบหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเตรียมเปิดเผยรายละเอียดร่างแรกต่อสาธารณชน ในวันที่ 29 มกราคมนี้ หลังจากนั้น จะลงพื้นที่เพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชน เพื่อนำมาปรับแก้ให้เป็นร่างสุดท้ายภายในเดือนเมษายน ก่อนนำไปทำประชามติ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแก่มติชนต่อไปถึงเรื่องเสรีภาพของประชาชนว่า ขอยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล เห็นได้ว่าสื่อหลายสำนักสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี แต่มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันความแตกแยกในสังคมด้วย เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการปฏิรูป เพื่อนำสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคง และความสามัคคีภายในชาติ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง