ผู้พิพากษาคณากร มีอาการปลอดภัยแล้ว

มารียัม อัฮหมัด และ มาตาฮารี อิสมะแอ
2019.10.05
ยะลา
191005-th-judge-1000.jpg ประชาชนนำช่อดอกไม้มาวางที่หน้าศาลจังหวัดยะลา เพื่อเป็นการให้กำลังใจนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ที่ยิงตัวเองได้รับบาดเจ็บเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา วันที่ 5 ตุลาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในวันเสาร์นี้ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ที่เมื่อวานนี้ได้พยายามฆ่าตัวตายในห้องพิจารณาคดี เพื่อประท้วงผู้บังคับบัญชาเพราะถูกก้าวก่ายคำตัดสินในคดีสังหารโหดชาวบ้าน 5 ราย ที่คอกเลี้ยงไก่ชน ในอำเภอบันนังสตา เมื่อปี 2561 มีอาการดีขึ้นแล้ว และสามารถพูดจากับผู้เข้าเยี่ยมได้

ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ ได้ไปติดตามดูอาการของคณากร ที่โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดยะลา ซึ่งแพทย์ได้ให้ผู้ป่วยออกมาจากห้องไอซียู แต่ยังคงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในวันนี้ นายอนิรุจ ใจเที่ยง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา ได้มาเยี่ยมอาการ เป็นเวลาประมาณ 20 นาที แต่ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้น

"ขณะนี้อาการปลอดภัยดีแล้ว ส่วนรายละเอียดต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอน" นายอนิรุจ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ก่อนหน้าการตัดสินคดีผู้ต้องหา 5 คน ซึ่งถูกฟ้องในคดียิงชาวบ้านเสียชีวิต 5 ราย เหตุเกิดในอำเภอบันนังสตา ยะลา เมื่อเดือนมิถุนายน 2561  นายคณากร ได้เผยแพร่ข้อความทางเฟซบุ๊ค ในทำนองสั่งเสียหากว่าตัวเองได้ฆ่าตัวตายสำเร็จ และหาหนทางขอความอนุเคาระห์จากสังคมให้ช่วยเหลือทางการเงินแก่ครอบครัว ด้วยการแจ้งข้อมูลบัญชีธนาคารของบุตรสาวเอาไว้ด้วย

“ผมทำการไลฟ์เพื่อแจ้งให้ประชาชนถึงการที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 แทรกแซงการพิพากษาคดี สั่งให้ลงโทษจำเลยทั้ง 5 กระทำความผิด ทั้งที่พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิด แต่ผมไม่ยอมทำตาม ผมคงถูกไล่ออกโดยไม่ได้รับบำเหน็จ” นายคณากร กล่าวในข้อความทางเฟซบุ๊ค ก่อนที่จะมีการลบออกไป

ในระหว่างการอ่านคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดยะลา นายคณากร ได้ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ค และอ่านคำพิพากษายกฟ้องแก่จำเลยทั้ง 5 ราย โดยไม่ยอมพิพากษาประหารชีวิตจำเลยสามราย และจำคุกตลอดชีวิตจำเลยอีกสองราย

“ในสายตาของผม มันจะต้องได้พยานหลักฐานที่มีน้ำหนักพอลงโทษ การลงโทษคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ว่าคนนั้นถูกลงโทษ ครอบครัวของเขาเหมือนกับว่าจะถูกลงโทษไปด้วย เพราะฉะนั้นเราไม่มั่นใจจริงๆ เราก็อย่าไปลงโทษเขา แต่ผมไม่กล้ายืนยันว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด เขาอาจจะกระทำความผิดก็ได้ แต่กระบวนการยุติธรรมมันจะต้องทำให้มันโปร่งใส ให้มันหนักแน่น ให้มันลงโทษคนได้ โดยที่ไม่มีใครมาเถียงเราได้ว่าไม่มาบอกว่าเราลงโทษคนผิด คนผิดก็คือผิดคนเท่านั้นเอง” นายคณากรกล่าวในวีดีโอคลิปที่มีการเผยแพร่ทางออนไลน์

จากนั้น ญาติของจำเลยรายหนึ่งกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า นายคณากร “ลุกจากบัลลังก์ ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัว แล้วใช้ปืนยิงตัวเอง แล้วก้มหลบลงเพราะกลัว”

เหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างความตื่นตัวถึงความบริสุทธิ์ของกระบวนยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. กล่าวว่า ในวันจันทร์หน้า จะมีการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเพื่อหารือในเรื่องนี้

“ในฐานะเลขานุการ ก.ต. จะทำหน้าที่นำเรื่องนี้รายงานต่อที่ประชุม ซึ่งก็ต้องดูว่าเมื่อมีการนำเรื่องรายงานต่อที่ประชุมเเล้ว ก.ต. จะมีความเห็นอย่างไรต่อไป” นายสราวุธ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ทั้งนี้ ก.ต. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม มีหน้าที่ในการพิจารณาเเต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนชั้น มีอำนาจให้คุณให้โทษผู้พิพากษาที่กระทำความผิด เเละยังมีหน้าที่ที่สำคัญอีกอย่าง คือ การคุ้มครองความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษา

ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค4 กล่าวว่า คดีดังกล่าวนี้ เป็นคดีสำคัญแต่ไม่ใช่คดีความมั่นคง โดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องมีจำเลย 5 คน ได้แก่นายสุกรี มูเซะ  นายสะแปอิง สะเตาะ  นายแวอาแซ แวยูโซะ  นายมัสสัน เจะดือเระ  และนายอับดุลเลาะ มะสาเม็าะ โดยศาลชั้นต้นจังหวัดยะลา พิพากษาให้ ยกฟ้อง จำเลยทั้ง 5 ราย เนื่องจากพยานและหลักฐานไม่เพียงพอ ให้เชื่อได้ว่า จำเลยทั้ง 5 ราย กระทำความผิดจริงตามฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยระหว่างอุทธธรณ์

“กอ.รมน. ไม่เคยมีใครเข้าไปก้าวก่ายในกระบวนการยุติธรรม การสั่งฟ้องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและดุลยพินิจของศาล มีการยกฟ้องคดีตั้งมากมาย ก็ไม่เคยปรากฏว่าผู้พิพากษาจะถูกย้าย หรือถูกปลด ไล่ออก และคงไม่มีใคร ที่จะมีอำนาจทำเช่นนั้นได้” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันนี้

ด้านนายอาบูฮาฟิซ อัล-ฮากิม โฆษกกลุ่มผู้เห็นต่าง มาราปาตานี ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊คว่า “เหตุการณ์ในศาลยะลาเป็นเพียงการเปิดโปงกรณีหนึ่งต่อหลายๆ กรณีที่เคยมีในอดีต นำความลำบาก ความเจ็บปวด ความกลัวและความแค้นในหมู่ ครอบครัวที่เป็นเหยื่อ และ ประชาชนทั่วไปด้วย”

“ข้าพเจ้าเห็นว่า สุดท้ายสิ่งที่เราเคยวิจารณ์และติเตียนอยู่เสมอก็ปรากฎขึ้นมาว่า ระบบยุติธรรมของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกี่ยวพันธ์กับคดีความมั่นคงในภาคใต้ ไม่โปร่งใส ไม่ให้ความเป็นธรรมที่แท้จริงแก่ผู้ต้องหา โดยมีอำนาจมืดที่เหนือกว่ามาครอบงำ เป็นตัวกำกับให้เป็นไปตามความต้องการของผู้กุมอำนาจ” นายอาบูฮาฟิซ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ iLAW ซึ่งเป็นกลุ่มเอกชนที่ให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่า คดีความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นคดีที่ต้องรายงานต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาคเสมอในระเบียบปี 2562 แต่ไม่ปรากฏชัดว่าในคดีที่เกิดก่อนหน้านั้น ต้องรายงานต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาคหรือไม่

“ซึ่งหากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่เชื่อฟังตามคำแนะนำของอธิบดีผู้พิพากษาภาค กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิดหรือมีโทษ เพียงแต่อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายสำนวน การเรียกสำนวนคืน หรือสั่งย้ายชั่วคราวได้ อยู่แล้วตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นอำนาจทางอ้อมที่อาจเกิดต่อผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง