แม่ยื่นอุทธรณ์โทษประหารชีวิต สองนักโทษพม่าคดีฆ่านักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.05.23
กรุงเทพฯ
TH-kohtao-1000 เมเท มารดาของนายซอลิน หนึ่งในสองนักโทษชาวเมียนมาร์ ร่วมยื่นอุทธรณ์คดีลูกชายกับเพื่อนร่วมกันฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ วันที่ 23 พ.ค. 2559
ภาพโดย เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ในวันจันทร์ (23 พฤษภาคม 2559) นี้ มารดาและทนายความของ 2 นักโทษชาวพม่าในคดีร่วมกันฆ่าสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยื่นอุทธรณ์โทษประหารชีวิตต่อศาล โดยชี้ว่าการพิพากษาคดีนี้มีความบกพร่องไม่สมบูรณ์เพียงพอ

เมื่อเวลา 09.00 น. นางเมย เตียน เเละนางพิว ฉ่วย นุ มารดาของนายซอลิน เเละนายไว เพียว สองนักโทษชาวเมียนมาร์ ซึ่งถูกศาลจังหวัดเกาะสมุยพิพากษาประหารชีวิต ในคดีร่วมกันฆ่านายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ และนางสาว ฮานนาห์ วิคตอเรีย วิทเธอริดจ์ สองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ บนเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยทนายความ และเจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights Network/MWRN) ได้นำเอกสารหลักฐาน และคำร้องขออุทธรณ์คำพิพากษาประหารชีวิตยื่นต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ด้านนางอำพร สังข์ทอง ทนายความ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ญาติของจำเลยหวังให้ศาลพิจารณาหลักฐานที่มีให้ละเอียดมากขึ้น

“จำเลยแล้วก็ตัวแทนจำเลย คาดหวังให้ศาลพิจารณาพยานหลักฐานทุกอย่างในสำเนาอย่างรอบด้าน เพราะว่าเรายังเชื่อมั่นว่ายังมีพยานหลักฐานบางตัวที่ยังไม่ได้พิจารณา” นางอำพรกล่าว

ขณะที่นางพิว ฉ่วย นุ มารดาของนายไว เพียว กล่าวว่า จนถึงวันนี้ยังเชื่อมั่นว่าลูกชายไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด และจะขอต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด ซึ่งหลังจากการยื่นอุทธรณ์คดีแล้ว จะเดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจลูกชายที่เรือนจำบางขวาง

สำหรับประเด็นที่ทนายใช้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดเกาะสมุยมีดังนี้

1. การดำเนินคดีกับจำเลยก่อนฟ้องคดี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยในการสารภาพของจำเลย ไม่มีทนายอยู่ด้วย ไม่มีการอธิบายสิทธิของจำเลย ไม่มีการจัดล่ามให้จำเลย และการตรวจดีเอ็นเอดำเนินการโดยจำเลยไม่ยินยอม

2. คำรับสารภาพที่โจทก์อ้างต่อศาลในชั้นสอบสวน ถูกทำขึ้นโดยไม่สมัครใจ เพราะจำเลยถูกทรมานและข่มขู่ จนทำให้เกิดความเกรงกลัวว่าจะมีอันตรายต่อชีวิตและความปลอดภัย

3. จำเลยไม่เกี่ยวข้องกับอาวุธที่ใช้ก่อเหตุฆาตกรรม (จอบ) เพราะไม่ปรากฏดีเอ็นเอของจำเลยที่จอบ แต่ปรากฏข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลอื่นแทน

4. หลักฐานดีเอ็นเอที่อ้างว่า เชื่อมโยงกับจำเลย พยานวัตถุหรือหลักฐานแวดล้อมทั้งหมดที่สามารถจะยืนยันความผิดจำเลย ขาดความน่าเชื่อถือและไม่อาจรับฟังได้ เพราะกระบวนการจัดเก็บ การทดสอบ หรือการวิเคราะห์ ไม่เป็นไปตามหลักสากล

5. สำนวนของโจทก์ขาดหลักฐานชิ้นสำคัญที่จำเป็นในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ รายงานการชันสูตรพลิกศพ และขั้นตอนกระบวนการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ เอกสารเกี่ยวกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในความควบคุม และบันทึกห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ดีเอ็นเออย่างละเอียด

กรณีการข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษสองคน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 โดยคนร้ายร่วมกันก่อเหตุฆ่า และข่มขืน สองนักท่องเที่ยวหญิง-ชาย ชาวอังกฤษ ด้วยการใช้จอบตี และทิ้งศพไว้บริเวณปลายแหลมหาดทรายรี เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบสวนพยาน และหลักฐานจนนำมาสู่การจับกุมชาวเมียนมาร์ทั้ง 2 คน ดังกล่าว

สำหรับการดำเนินคดี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง 2 คน ในข้อหาข่มขืนและฆ่านักท่องเที่ยวหญิงชาวอังกฤษ และฆ่านักท่องเที่ยวชายชาวอังกฤษ แต่คณะทนายความฝ่ายจำเลยได้ใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลกว่า 5 เดือนเพื่อยื่นอุทธรณ์ในวันนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง