ยูเอ็นโอดีซีจับมือทีไอเจ หาแนวทางปราบปรามค้ามนุษย์ภูมิภาค

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2017.08.10
กรุงเทพฯ
TH-migrant-worker-1000 แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในเรือประมงไทย ในอำเภอสัตหีบ จังหวัดระยอง ภาพเมื่อ 1 กันยายน 2554
เอเอฟพี

สถานการณ์การค้ามนุษย์เป็นปัญหาสำคัญที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค จากการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย สปป.ลาว กัมพูชา และ เมียนมา เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย และมีความเสี่ยงสูงในการตกเป็นเหยื่อขบวนการการค้ามนุษย์ ถูกบังคับใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

ในวันพฤหัสบดีนี้ สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาญชากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้เปิดเผยรายงานผลการวิจัย “ปัญหาการค้ามนุษย์จากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และ เมียนมา มายังประเทศไทย” (Trafficking in Persons from Cambodia, Lao PDR, and Myanmar, to Thailand) รวมถึง พบปัญหาใหม่ๆ เช่น การใช้แรงงานคนงานชาวลาวในการทำไม้เถื่อน ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายพื้นที่ทำงานไปเรื่อยๆ และติดตามตัวได้ยาก รวมทั้งการใช้เด็กในการโปรโมทเซ็กซ์ทางเวบแคม โดยมีการย้ายฐานจากฟิลิปปินส์มายังประเทศไทย

รายงานดังกล่าว ประมาณตัวเลขของแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 4 ล้านคน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากขึ้นเกือบสองเท่าตัว เมื่อเทียบกับตัวเลข10 ปีที่แล้ว โดยจำนวนนี้เป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายถึง 4 – 23% ซึ่งอาจจัดได้ว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เพื่อเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ประมง ก่อสร้าง คนรับใช้ในบ้าน ภาคบริการด้านต่างๆ รวมถึง การถูกบังคับให้เป็นขอทาน และ การค้าประเวณี

โดย นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมในคดีอาชญากรรมมีความล่าช้า และการปฏิบัติต่อเหยื่อจากการค้ามนุษย์ที่เลวร้ายจำเป็นต้องถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปราย นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า เราต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวกรอง ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายการค้ามนุษย์ เพื่อที่จะได้ปราบปรามผู้ลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมาย หรือผู้ค้ามนุษย์ ตามชายแดนได้อย่างสิ้นซาก

ทั้งนี้ ยังเสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและปราบปรามเครือข่ายการค้ามนุษย์ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากที่ผ่านมา ยังไม่มีการร่วมมือในการสอบสวนข้ามพรมแดนอย่างทันท่วงที

“สิ่งสำคัญตอนนี้ คือ การตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษในระดับภูมิภาค ในการรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวกรอง ระหว่างประเทศ ที่ตื่นตัวกว่านี้ เร็วกว่านี้ เพื่อจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที” นายเจเรมี กล่าว “เรากำลังพูดถึง ประเทศไทย สามารถเป็นศูนย์กลางของประเทศต่างๆในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้.... เพราะประเทศไทยมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษภายในประเทศอยู่แล้ว และเราต้องการประเทศที่เป็นศูนย์กลางที่สามารถกระจายข้อมูล ข่าวกรองต่างๆ ไปยังสามประเทศ คือ กัมพูชา พม่า สปป.ลาว ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” นายเจเรมี กล่าวเพิ่มเติม

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ขวา) ร่วมกับ นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ซ้าย) เผยแพร่รายงานผลการวิจัย “ปัญหาการค้ามนุษย์จากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และ เมียนมา มายังประเทศไทย” 10 สค. 2560 ที่ ตึก UN ESCAP กรุงเทพฯ (วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์)

เน้นกระบวนการยุติธรรม จัดการกับองค์กรอาชญากรรม

ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ชี้ว่า สาเหตุสำคัญที่เปิดช่องให้เกิดการลักลอบค้ามนุษย์ เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เสมอภาคทางสังคม ความยากจน การขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการขาดโอกาสในการหาเลี้ยงชีพอย่างถูกกฎหมาย เป็นแรงผลักดันให้คนยอมที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อหาสิ่งที่ดีกว่าให้กับตัวเองและครอบครัว ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศที่แย่กว่า มาสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจดีกว่า

แม้ว่าประเทศไทยจะพยายามอย่างมากในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ แต่รูปแบบการกระทำความผิดที่ซ่อนเร้น ทั้งฝ่ายผู้ค้ามนุษย์ ไปจนถึงเหยื่อทำให้ยากที่จะตรวจสอบถึงต้นตอของอาชญากรรมประเภทนี้ อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาล และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานในทุกระดับที่เกี่ยวข้องสามารถสืบสวน จับกุมผู้ต้องสงสัย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

“ประเทศไทยเรามีกฎหมายที่ดี ถือได้ว่าเป็นประเทศต้นแบบได้ดีทีเดียว ส่วนการบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเข้าใจลักษณะพิเศษที่ว่า ผู้ที่เป็นแรงงานอพยพผิดกฎหมาย กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์ ส่วนใหญ่จะเป็นเหยื่อ ดังนั้น การเน้นกระบวนการยุติธรรมที่ดูแลเหยื่อที่ดี จะนำมาสู่ประสิทธิภาพที่จะนำมาสู่การจัดการกับองค์กรอาชญากรรมและกระบวนการค้ามนุษย์ได้อย่างดีด้วย” นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กล่าว

โดยในรายงานฉบับดังกล่าว ยังได้ระบุถึงผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องเป็นเพื่อน เป็นญาติ ของเหยื่อ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆ ที่เรียกรับเงินจากผู้กระทำความผิด เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงาน และ ค้ามนุษย์ ผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทย

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกพลโทมนัส คงแป้น และจำเลยคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา รวม 62 ราย จากจำเลยรวม 102 คน ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา ยังคงประเทศไทยไว้ในกลุ่มประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ระดับ 2 ที่ต้องเฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) เป็นปีที่สามติดต่อกัน

อิทธิพลแรงงานข้ามชาติต่อความเติบโตของเศรษฐกิจ

รายงานยังระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศของไทย ในช่วง 20 ปี ได้ทำให้ประเทศไทยที่มีการส่งออกแรงงานมาก่อน กลายเป็นประเทศที่มีการรับเข้าแรงงานจากประเทศอื่นเพียงอย่างเดียว โดยตัวเลขอ้างอิงของธนาคารโลก ระบุ จีดีพี แสดงดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และตัวบ่งชี้มาตรฐานการครองชีพของประชากรต่อหัว ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงเวลา 10 ปี และในช่วงเวลาเดียวกัน สถิติการว่างงานอย่างเป็นทางการ ยังลดลงอยู่ในอัตราต่ำกว่า ร้อยละ 1 อีกด้วย

หากภายหลังการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว ในวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่มีบทลงโทษที่รุนแรง ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายจำนวนมากเดินทางออกและกลับประเทศกว่า 20,000 คน

ซึ่ง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ นายจ้างที่จ้างต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือนายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาท ต่อต่างด้าว 1 คน เป็นต้น

ส่วนโทษของแรงงานต่างด้าวก็มีเพิ่มขึ้น เช่น คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คนต่างด้าวที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วน แต่ไม่แจ้งนายทะเบียน มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ปัญหาความยากจนทำให้ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านต้องยอมมาหางานทำในเมืองไทย เช่น นางสาวแป้ง แก้วจันทร์หอม อายุ 18 ปี ขึ้นรถประจำทางจากบ้านเกิดอำเภอสาละวัน สปป.ลาว เข้ามาในประเทศไทย เมื่อเกือบสองปีที่แล้ว ที่ได้เลิกเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลางคัน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องทั้งหมดห้าคน และพ่อแม่ที่มีอาชีพทำนา

“ทุกคนในหมู่บ้านหนูเข้ามาทำงานในประเทศไทยหมดค่ะ เพราะได้เงินดีกว่า อยู่ที่บ้านไม่มีอะไรทำ ได้เงินน้อยด้วย” แป้งพูดกับเบนาร์นิวส์ ขณะชงกาแฟ อยู่ร้านล้างรถแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ชายของกรุงเทพมหานคร

แป้งเดินทางเข้ามาถึงรังสิต ปธุมธานี ได้ด้วยบัตรผ่านแดนเพียงใบเดียว ตอนที่ข้ามแม่น้ำโขงมา โชคดีที่แป้งได้ทำงานในโรงงานที่เจ้าของใจดี พาเธอไปรายงานตัวและขึ้นทะเบียน จนได้รับพาสปอร์ต

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง