ชาวบ้านจากพื้นที่ชายแดนใต้ วอนรัฐช่วยแก้ปัญหาที่ดินทำกิน

โดย นาซือเราะ
2015.07.03
TH-land-relocation-620 นายกิตติ แสงพงศ์ชวาล ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ศอ.บต. นายอาทิตย์ กุ้งอุย ปลัดอำเภอบังนันสตา อส.ทพ.อนุรักษ์ ชาลีวรรณ์ ผู้บังคับกองร้อยทหารพราน 3302 บันนังสตา และนายมะยากี สะระยะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบือซู ตรวจสอบที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ วันที่ 3 ก.ค. 2558
เบนาร์นิวส์

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2558 ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการฯ ศอ.บต. กล่าวว่า ที่มาของการตั้ง“ศูนย์ช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพ” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ในการจัดการผลประโยชน์ในพื้นที่ทำกินของตนเอง หลังเหตุการณ์ความไม่สงบ มีพี่น้องบางส่วนพาครอบครัวย้ายออกมาอยู่ข้างนอกพื้นที่ที่ดินทำกินของตนเอง

“เรื่องนี้เป็นการต่อเนื่องจากปัญหาเมื่อสามปีก่อน ครม.มีนโยบายออกมาในเรื่องของการเยียวยาที่ดินทำกิน ให้กับผู้ที่ไม่กล้าอยู่ในพื้นที่ แล้วพาครอบครัวย้ายมาอยู่ข้างนอก แต่เรื่องดังกล่าวไม่มีกฎหมายรับรอง ทำให้ไม่สามารถทำได้ ต้องยกร่างกฎหมายใหม่ และการยกร่างกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และ นายภานุ อุทัยรัตน์ เลขา ศอ.บต. เห็นว่า ปัญหาของพี่น้องจำเป็นต้องได้รับการแก้ปัญหาโดยด่วน จึงให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ “ศูนย์ช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับความเดือนร้อนเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพ” ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้”

ชาวบ้านย้ายถิ่นฐานเนื่องจากเหตุรุนแรงในพื้นที่

จากข้อมูลของหนึ่งในงานวิจัยเรื่องการย้ายถิ่น เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เพื่อประเมินสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงปี 2547-2549 ศึกษาผลกระทบกรณีการอพยพย้ายถิ่น และหาข้อเสนอแนะ ในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน และชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้ร่วมประเมินสถานการณ์ในพื้นที่

การประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 160 คนใน 27 ตำบล 9 อำเภอ สรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่สามารถลดอิทธิพล และการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบในหมู่บ้านได้ รวมทั้ง ชาวบ้านยังขาดความเชื่อมั่นต่อมาตรการของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่เห็นด้วยว่า พื้นที่กว่าครึ่งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมีการขยายตัวออกไป ขณะเดียวกัน ก็เห็นว่าชาวบ้าน ทั้งพุทธและมุสลิม สามารถปฏิบัติศาสนกิจ รักษาวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมของตนเองได้ ต้องการร่วมสร้างสันติสุข และอยากให้โรงเรียนของรัฐเปิดการเรียน การสอนตามปกติ แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็ตาม และผลกระทบที่สำคัญที่สุดจากเหตุการณ์ความไม่สงบ คือการประกอบอาชีพเพื่อปากท้องของชาวบ้าน

พื้นที่: วิจัย พบไทยพุทธย้ายออกมากกว่า

สำหรับการอพยพย้ายออก เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทำการศึกษาจาก 27 ตำบล 9 อำเภอ พบว่าตั้งแต่ปี 2547 จนถึง มิถุนายน 2550 มีชาวไทยพุทธอพยพย้ายออกจากพื้นที่รวม 319 คนเท่านั้น และทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิมในพื้นที่ต่างก็ไม่คิดที่จะอพยพย้ายออกจากพื้นที่ แม้เหตุการณ์จะมีความรุนแรงขึ้นก็ตาม

ข้อเสนอแนะจากการวิจัยการศึกษาเพื่อสร้างความสงบในพื้นที่ และแก้ปัญหาการอพยพ เสนอว่า ควรมีการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นที่ถูกต้อง ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ให้ได้ โดยการปราบปรามจับกุมผู้ก่อความรุนแรงตามกฎหมาย และช่วยแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผลไม้ราคาตกต่ำ เพราะเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมเรื่องอาชีพให้ประชาชนมีรายได้”

พบประชาชนเดือดร้อนในที่ดินทำกิน 247 ราย เนื้อที่ 3712 ไร่

นายกิตติ แสงพงศ์ชวาล ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ศอ.บต. กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟู ผู้ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับที่ดินและทรัพย์สิน สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งผลให้ราษฎรจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าไปประกอบอาชีพหรือทำกิน และอาศัยในที่ดินของตนเองได้ เนื่องจากความหวาดกลัวต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ และต้องการให้ ศอ.บต. ขายหรือเช่าที่ดินของตนเอง ซึ่ง ศอ.บต. ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีระเบียบ กฎหมายรองรับ

“เพื่อเป็นการช่วยเหลือราษฎรในเบื้องต้นที่สามารถดำเนินการได้เลย ศอ.บต. ได้แจ้งให้จังหวัด  สั่งการให้อำเภอจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.อ.) จัดตั้ง ศูนย์ช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพ เนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเพื่อรับเรื่องและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น”

โดยศูนย์ช่วยเหลือฯ มีหน้าที่ในการช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ 3 กรณี อาทิ หนึ่ง กรณีมีที่ดินทำกิน แต่ไม่กล้าเข้าไปทำกินเอง เนื่องจากหวาดกลัวต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ และให้คนอื่นทำแทน ให้อำเภอมอบหมายให้สมาชิก อส. ทำหน้าที่รวมกับปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำตำบล โดยหมุนเวียนการเข้าไปดูแลผลประโยชน์แทนเจ้าของที่ดิน และตรวจสอบด้วยว่ามีกี่รายจำนวนเท่าใด

สอง กรณีที่ดินปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่า และย้ายถิ่น ให้อำเภอประสาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่หาคนเข้าไปทำประโยชน์แทน หรือกรีดยาง ในที่ดินดังกล่าว และแบ่งปันผลประโยชน์ให้เจ้าของที่ดินอย่าง เป็นธรรม

และสาม กรณีที่ดินปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่า ให้อำเภอจัดกำลังเข้าแวะเวียนไปดูแล เพื่อไม่ให้ใครหรือกลุ่มใดเข้าไปแสวงหา และใช้ประโยชน์ หรือทำลายทรัพย์สินในที่ดินดังกล่าว หากเจอผู้กระทำผิด ให้ดำเนินการจับกุม และดำเนินคดี

“พี่น้องประชาชนที่เข้ามายื่นความจำนง ทั้งหมด 247 รายมีเนื้อที่ทั้งหมด 3712 ไร่ แยกเป็นที่มายื่นเพื่อขอความช่วยเหลือ จำนวน 124 ราย มีเนื้อที่  1884 ไร่ ที่ยื่นเรื่องเพื่อต้องการขาย จำนวน 39 ราย เนื้อที่ 1191 ไร่ ที่ยื่นเพื่อต้องการให้แก้ไขปัญหาโดยจัดชุดดูแลความปลอดภัย จำนวน 84 ราย เนื้อที่ 637 ไร่ ทั้งหมดยังเป็นความเดือดร้อนของพื่น้องไทยพุทธ ในส่วนของพี่น้องอิสลาม ยังไม่มีการยื่นเรื่องเข้ามา”

ศูนย์ช่วยเหลือฯ ตั้งมาเดือนกว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการติดต่อประสาน ไปยังเจ้าของที่ เพราะบางคน มีการเปลี่ยนที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ ทำให้มีปัญหาในการติดต่อ ในเบื้องต้น

“จากระบบฐานข้อมูลประชากร จะไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ เพราะส่วนใหญ่ที่ย้ายออกไป ไม่มีการแจ้งทะเบียน จำนวนมาก” พวกเขาไม่ได้ไปไหนไกล เพราะพวกเขายังมีที่ดินทำกินอยู่ที่เดิม เพียงแค่ย้ายเพราะไม่กล้าอยู่ ห่วงเรื่องความปลอดภัยนอกจากนี้ก็ยังพบว่า ประชาชนที่ย้ายจริงตามทะเบียน ในระบบข้อมูลประชากร มีเพียง 4-5 ครอบครัว ย้ายไป จ.สงขลา จ.พัทลง จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ คนกลุ่มนี้ย้ายออกไปแล้วขายที่ดินของตัวเอง เพื่อไปอยู่กับลูก”

“จากข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ พบว่า พี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดที่มีความเดือดร้อนเรื่องนี้ หลายครอบครัว ได้เคยย้ายเข้ามาอยู่ในช่วงที่สถานการณ์ลดลง เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นเขาก็จะย้ายออกไปก่อน ไม่ได้ย้ายไปอย่างถาวร”

ศอ.บต.เข้าช่วยเหลือแล้ว 1 ราย

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2558 นายกิตติ แสงพงศ์ชวาล ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ศอ.บต. นายอาทิตย์ กุ้งอุย ปลัดอำเภอบันนังสตา รับผิดชอบงานเยียวยา อส.ทพ.อนุรักษ์ ชาลีวรรณ์ ผู้บังคับกองร้อยทหารพราน 3302 บันนังสตา และนายมะยากี  สะระยะ  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 บ้านบือซู ลงพื้นที่ ตรวจสอบที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาหลังจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านบางส่วน ย้ายครอบครัวออกจากพื้นที่ และทิ้งสวน และที่ดินทำกินในพื้นที่กว่า 200 ไร่ ไว้

นายมะยากี สะระยะ ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านบือซู อ.บนังสตา จ.ยะลา “พื้นที่นี้ เดิมมีพี่น้องทั้งไทยพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกัน สัดส่วนเท่ากัน แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้หลายครอบครัว ย้ายออกไปอยู่ในเมือง และทิ้งสวนให้กับลูกจ้าง บางคนใช้คนพื้นที่ บางคนใช้คนนอกพื้นที่มาดูแล พวกเขาจะไม่ค่อยเข้ามาในพื้นที่ และมักใช้วิธี ให้ลูกจ้างนำเงินออกไปให้ในเมือง หลายครอบครัว จะยกสวนยางให้ทหารที่เข้ามาอยู่ ช่วยกันดูแลสวนให้ คนกลุ่มนี้น่าสงสาร ซึ่งบางครอบครัวก็เจอปัญหาลูกจ้างแบ่งเงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยทำให้เดือดร้อนซ้ำ การที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาร่วมดูแลด้วยอาจทำให้แก้ปัญหาได้ในระยะเบื้องต้น”

นายอาทิตย์ กุ้งอุย ปลัดอำเภอบันนังสตา รับผิดชอบงานเยียวยา กล่าวว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหานี้ล่าสุดศอ.บต. ได้มีนโยบายให้อำเภอบันนังสตา โดยศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) จัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพ” เพื่อให้การช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้น และสามารถดำเนินการได้ทันที

เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้าน 1 ราย คือ นางสายขิม  ศิริพร เจ้าของสวนยางพารา บ้านบือซู เดือดร้อนจากลูกจ้างกรีดสวนยางพาราแบ่งปันผลประโยชน์ไม่เป็นธรรม และต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยดูแลเรื่องของความปลอดภัย โดย ศอ.บต. ได้นัดผู้ร้อง และปลัดอำเภอมาพูดคุยแก้ปัญหา นัดลูกจ้างมาพูดคุยแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนกลางในการพูดคุยในครั้งนี้ จึงช่วยแก้ปัญหาของพี่น้องได้ในเบื้องต้น”

นางสายขิม กล่าวว่า “ป้าเป็นคนในพื้นที่อำเภอบันนังสตาแต่กำเนิด มีที่ดินทำกินทั้งสิ้น 50 ไร่ ใช้เป็นสวนยางพาราทั้งหมด 3,000 ต้น และสวนผลไม้  ที่นี่เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีพี่น้องชาวพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกัน  แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ก็ไม่กล้าอยู่  รู้สึกไม่ปลอดภัย  จึงพาครอบครัวย้ายออกไปอยู่ในเมืองยะลา เพราะคิดว่าถ้ายังอยู่ในพื้นที่บ้านบือซู อาจเกิดอันตรายกับตัวเองและครอบครัวได้ ก็ได้ทิ้งสวนให้ลูกจ้างดูแล ทั้งของตัวเองและของเพื่อนบ้านอีก เราให้ลูกจ้างคนเดียวกันดูแลมา 5 ปีแล้ว ลูกจ้างกลุ่มนี้มาจากจังหวัดนครพนม ที่ผ่านมาไว้ใจเขาตลอด จึงไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ แรกๆเขานำเงินมาให้เป็นปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาเริ่มแบ่งเงินให้ไม่เท่ากับที่ได้รับจริง รายได้ต่ำกว่าที่ควรจะได้อย่างมาก วันนี้ปัญหาแก้แล้ว รู้สึกดีใจมาก ขอบคุณรัฐบาล และศอ.บต. ที่เห็นความสำคัญของประชาชน

ชาวพุทธภาคใต้ ขอรัฐเร่งแก้ปัญหา

ด้านนาง วรรณเพ็ญ ไม่ขอเอ่ยนามสกุล ชาวบ้านบือซู ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า เธอเป็นอีกรายที่พาครอบครัวออกจากพื้นที่ มาอยู่ในเมืองยะลา เพราะกลัวสถานการณ์ ไม่กล้าอยู่ ยอมทิ้งสวนยางพาราและสวนผลไม้กว่า 80 ไร่ และให้ลูกจ้าง ดูแลรวมทั้งนำเงินส่วนแบ่งมาให้ในเมืองยะลา

“ตลอดที่ผ่านมา พยายามทำเรื่องขายฝากกับรัฐ แต่ก็ไม่เคยได้รับการดูแล เคยร้องเรียนไปที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายปีก่อน แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า เพราะสิ่งที่เราต้องการคือ ขอขายฝาก แต่รัฐไม่มีนโยบายนี้ ทางครอบครัว และครอบครัวของเพื่อนบ้าน อีกหลายครอบครัวจึงเดือดร้อนจนถึงทุกวันนี้ อยากเรียกร้องขอให้รัฐบาลชุดนี้ช่วยดูปัญหาพี่น้องไทยพุทธในพื้นที่ด้วย”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง