แอมเนสตี้ฯ และผู้แทนยูเอ็น กล่าวหาไทยเรื่องการดำเนินคดีหมิ่นฯ กับผู้เห็นต่าง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.02.08
กรุงเทพฯ
TH-democracy-1000 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันครบรอบ 2 ปี การทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 22 พฤษภาคม 2559
เบนาร์นิวส์

องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ในลอนดอน และผู้แทนพิเศษการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออก องค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวหาทางการไทยว่า ได้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อการกดดันผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ในเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพเทิดทูนของคนไทย จึงเป็นเรื่องปกติสามัญที่ชนในชาติพึงเคารพยึดปฏิบัติ

โดยในวันพุธ (8 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกรายงาน “พวกเขาไม่สามารถทำให้เราเงียบได้”: เมื่อนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลอื่นในประเทศไทยโดนเอาผิดทางอาญา” (“They Cannot Keep Us Quiet”: The Criminalization of Activists, Human Rights Defenders and Others in Thailand) ที่มีเนื้อหากล่าวหาว่าประเทศไทยได้ยัดเยียดข้อหาให้กับนักเคลื่อนไหว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลอื่นๆ

“ทางการไทยกำลังทำการยัดเยียดข้อหาและลงโทษผู้เห็นต่างจากรัฐบาลโดยการเล็งเป้าหมายไปยังภาคประชาสังคมและนักเคลื่อนไหวทางด้านการเมือง ที่ดำเนินกิจกรรมในการแสดงออกในสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม” เนื้อหาของแถลงการณ์แอมเนสตี้ฯ ท่อนหนึ่งกล่าวไว้

“ทางการไทยได้สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ซึ่งทำให้ผู้คนไม่กล้าแสดงออก พูด หรือชุมนุมอย่างสันติ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกจับกุม หรือการดำเนินคดี" นางสาวจำปา พาเทล ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียอาคเนย์และแปซิฟิก แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งมาจากลอนดอน

“การเข้มงวดต่อการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลไม่มีความอดทนต่อความเห็นที่แตกต่างในเรื่องที่สำคัญๆ ของประเทศชาติ” นางสาวจำปา พาเทล กล่าวเพิ่มเติม

แอมเนสตี้ฯ ได้ยกตัวอย่างการดำเนินคดีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่อีสาน ที่ถูกจับกุมตัวในคดีการเผยแพร่รายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ซึ่งในขณะนี้ ถูกฝากขังเป็นผัดที่หก

และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า นายเดวิด เคย์ ผู้ตรวจสอบพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ได้กล่าวแสดงความกังวลถึงกรณีการสอบปากคำนายนายจตุภัทร์ โดยไม่เปิดเผย ทั้งยังกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

กระทรวงการต่างประเทศตอบโต้

ในช่วงค่ำของวันอังคารที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ทางเวบไซต์ เพื่อตอบโต้นายเดวิด เคย์ โดยมีเนื้อหาแถลงการณ์ส่วนหนึ่งว่า

“สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติที่สร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ประชาชนชาวไทยเคารพเทิดทูน และผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนานกว่า 700 ปี ถึงปัจจุบัน ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์คงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการเป็นศูนย์รวมที่หล่อหลอมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนในชาติ การที่ไทยหรือชาติใด ๆ จะตรากฎหมายที่เหมาะสมเพื่อการปกป้องคุ้มครองสถาบันฯ ที่มีคุณูปการยิ่งต่อชาติบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องปกติที่สามัญชนในชาติพึงเคารพยึดปฏิบัติ”

อีกท่อนหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงการดำเนินคดี นายจตุภัทร์ว่า “สำหรับกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นั้น คดีดังกล่าวยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นกระบวนการอิสระที่รัฐบาลไม่อาจแทรกแซงได้ ทั้งนี้ นายจตุภัทร์ฯ เคยได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 แต่ต่อมาถูกถอนประกันเนื่องจากนายจตุภัทร์ฯ ได้กระทำผิดซ้ำ ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขการประกันตัว”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง