นายกมาเลย์-ไทย สัญญาร่วมแก้ปัญหาชายแดนใต้

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.10.24
181024-TH-MY-mahathir-620.jpg นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (ซ้ายมือ) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการพบปะที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 24 ต.ค. 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในระหว่างการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย มีความเห็นร่วมกันที่จะขยายความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ในการจำกัดการปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังการเปลี่ยนแปลงตัวผู้อำนวยความสะดวกและหัวหน้าชุดพูดคุยของไทย

มาเลเซีย ได้ตกลงใจเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุข ระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยและฝ่ายกลุ่มแบ่งแยกดินแดน มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเมื่อนายมหาเธร์ชนะการเลือกตั้งเมื่อกลางปีนี้ ก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวผู้อำนายความสะดวกเป็นนายอับดุล ราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจ ส่วนฝ่ายไทยนั้น ได้แต่งตั้งพลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่สี่ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขแทน พลเอกอักษรา เกิดผล ในการดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับกลุ่มมาราปาตานี ที่มีรายงานว่าจะมีจำนวนกลุ่มผู้เห็นต่างเข้าร่วมมากขึ้น

“ตอนนี้ คุณมีปัญหาในภาคใต้ เราสัญญาว่าจะช่วยด้วยวิธีการใดๆ ก็แล้วแต่ที่เป็นไปได้ เพื่อยุติความรุนแรงในภาคใต้” นายกมาเลเซียกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีไทยที่ทำเนียบรัฐบาล

“ไทย มาเลเซีย เราไม่มีปัญหาระหว่างกัน จริงๆ แล้ว เรามีประวัติความร่วมมือกันมาอย่างยาวนาน เมื่อมาเลเซียประสบปัญหาการก่อการร้ายมาก่อน ประเทศไทยช่วยเราหลายอย่าง เพื่อการยุติการก่อเหตุเยี่ยงนั้น และเรารู้สึกเป็นบุญคุณต่อประเทศไทยและประชาชนไทย” นายมหาเธร์กล่าว โดยกล่าวถึงครั้งเมื่อรัฐบาลไทยในสมัยนั้น ได้อำนวยการเจรจาให้กลุ่มโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา หรือ จคม. วางอาวุธในปี 2532

ด้านพลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ตนได้แลกเปลี่ยนทัศนะกับนายมหาเธร์ว่า การพูดคุยเพื่อยุติปัญหาความรุนแรง เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ และจริงๆ แล้วเป็นประโยชน์ต่อทั้งภูมิภาค จึงต้องได้รับการแก้ไข

“ผมได้พูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยฯ ที่ฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ และได้ทำให้เกิดความเข้าใจในข้อห่วงกังวลและข้อจำกัดของกันและกันเป็นอย่างดี การพูดคุยจะดำเนินต่อไป โดยมีมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน โดยจะอยู่บนพื้นฐานและกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศจะขยายขอบเขตความร่วมมือในเรื่องความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มมาตรการในด้านความมั่นคงให้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการต่อต้านการก่อการร้าย แนวคิดสุดโต่ง และอาชญากรรมข้ามชาติ

ก่อนการมาเยือนประเทศไทยหนึ่งวันของนายกฯมาเลเซีย ได้เกิดเหตุความไม่สงบ โดย ร.ต.อ.ประสาทวิทย์ ดวงกมล รอง สว.สอบสวน สภ.เมืองยะลา กล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ ขว้างระเบิดใส่หน้าร้านยางรถยนต์แห่งหนึ่งในตัวเมืองยะลา แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนวันนี้ มีเหตุยิงนายมะรอนิง จาโก อายุ 58 ปี กำนันตำบลตะลุโบะ ได้รับบาดเจ็บ และกระสุนเฉี่ยวนางซัลมา ดามะ อายุ 52 ปี ถูกบริเวณน่องด้านขวา ได้รับบาดเจ็บ ถูกนำส่งโรงพยาบาลเมืองปัตตานี อาการปลอดภัย

“กลุ่มคนไทยพื้นที่รักสันติ” ชุมนุมเรียกร้องให้ประเทศมาเลเซียยุติการให้ที่พักพิงแก่ขบวนการกอ่เหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ วันที่ 24 ต.ค. 2561 (มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)
“กลุ่มคนไทยพื้นที่รักสันติ” ชุมนุมเรียกร้องให้ประเทศมาเลเซียยุติการให้ที่พักพิงแก่ขบวนการกอ่เหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ วันที่ 24 ต.ค. 2561 (มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)

 

ในวันนี้ “กลุ่มคนไทยพื้นที่รักสันติ” ประมาณสามสิบคน ได้ไปรวมตัวกันที่หน้าสถานกงสุลมาเลเซียในจังหวัดสงขลา เพื่อยื่นหนังสือผ่านทางกงสุลใหญ่ เรียกร้องให้มาเลเซียงดให้ที่พักพิงแก่ขบวนการก่อเหตรุนแรง

"ให้รัฐบาลมาเลเซียดำเนินการปราบปรามจับกุมผลักดันอาชญากรที่กระทำความผิดต่อกฎหมายความมั่นคงของไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้บงการ ผู้ปฏิบัติการ สมาชิกผู้ให้การสนับสนุนทุกรูปแบบ ซึ่งร่วมกันก่อเหตุในประเทศไทยทำผิดกฎหมาย แล้วหลังก่อเหตุได้หลบหนีจากประเทศไทยเข้าไปอยู่กบดานในประเทศมาเลเซีย และใช้เป็นฐานก่อการร้ายกับประชาชนในประเทศไทย” แกนนำผู้ชุมนุมกล่าวโดยขอสงวนชื่อและนามสกุล

การเจรจาที่มีความหมาย

แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเจรจา แต่ผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์ชายแดนใต้ กล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมีการดำเนินการบางอย่างเพื่อให้การเจรจาเกิดผลอย่างแท้จริง

“ในการทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพให้กับชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างแท้จริง มาเลเซียต้องส่งสัญญาณถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในขณะที่ต่อสู้กับรัฐไทยด้วยอาวุธนั้น ทางกลุ่มต้องยุติการโจมตีพลเรือนอย่างทันที ในกรณีนี้ มาเลเซีย ต้องไม่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อความรุนแรงที่ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน” นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“อีกด้านหนึ่ง มาเลเซียต้องคุยกับไทยว่ากระบวนสันติภาพต้องมีความไว้วางใจจากประชาชนมลายูมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งความไว้วางใจจะไม่เกิดขึ้น หากว่าทางการไทย ยังใช้การวิสามัญฆาตกรรมและปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล” นายสุณัย กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์อิสระด้านสถานการณ์ชายแดนใต้ กล่าวว่า การเจรจานั้นจะไม่มีความหมาย หากว่าระดับแกนนำของบีอาร์เอ็นไม่ร่วมเจรจาด้วย โดยนางสาวรุ่งรวี กล่าวว่า บีอาร์เอ็นพร้อมที่จะร่วมเจรจาหากว่าไทยอนุญาตให้มีนานาชาติร่วมสังเกตการณ์

“บีอาร์เอ็นมีท่าทีพร้อมที่จะเข้าร่วมการพูดคุย หากรัฐบาลไทยยอมรับให้มีผู้สังเกตการณ์นานาชาติ ถ้ารับตรงนี้ได้ ก็มีโอกาสที่การพูดคุยสันติภาพจะเดินต่อ อย่างมีความหมาย ส่วนท่านมหาเธร์จะมีความสามารถหรือมีความปรารถนาจะโน้มน้าวฝ่ายไทยในเรื่องนี้หรือไม่ อันนี้คงต้องขึ้นอยู่กับท่าน” นางสาวรุ่งรวี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“หากมหาเธร์ต้องการให้การเจรจาดำเนินไปอย่างมีความหมาย ผู้อำนวยความสะดวกต้องโน้มน้าวทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เพียงโน้มน้าวให้บีอาร์เอ็นร่วมเจรจา แต่ต้องคะยั้นคะยอให้ทางไทยเพิ่มความน่าเชื่อถือของกระบวนการ ด้วยการอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์นานาชาติเข้าร่วมด้วย”

 

มารียัม อัฮหมัด จากจังหวัดปัตตานี มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง