สำนักจุฬาราชมนตรี เตรียมประกาศใช้ระเบียบการสมรสบุคคลต่ำกว่า 17 ปี วันศุกร์นี้

มารียัม อัฮหมัด
2018.12.12
ปัตตานี
181212-TH-children-800.jpg ผู้ปกครองขี่จักรยานยนต์ส่งลูกไปโรงเรียนเทศบาล 2 ในตัวเมืองปัตตานี วันที่ 14 สิงหาคม 2561
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

สำนักจุฬาราชมนตรี เตรียมประกาศใช้ระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการสมรสบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ในวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการแต่งงานก่อนวัยอันควรในกลุ่มเด็กหญิงชาวมุสลิม กฎหมายอิสลามเดิม ที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูลนั้น อิสลามหญิงและชายที่จะแต่งงานจะต้องมีอายุขั้นต่ำ 15 ปี

ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี เปิดเผยในวันพุธนี้ ว่า นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ลงนามเห็นชอบ "ระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561” แล้ว เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

“จุฬาราชมนตรี เซ็นข้อตกลงระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 และทางเจ้าหน้าที่จะมีการประกาศที่มัสยิดทุกแห่งให้ผู้นำศาสนาทราบและปฏิบัติโดยทั่วกัน ในวันที่ 14 ธันวาคม นี้” ดร.วิสุทธิ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นางสาวปนัดดา อิสเฮาะ นิติกรชำนาญการพิเศษ ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ กลุ่มอำนวยการและบริหารกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง (กสม.) ศอ.บต.กล่าวว่า สาระสำคัญของระเบียบใหม่ คือ คณะกรรมการจะออกใบรับรองการสมรสแก่คู่สมรสได้ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม และคู่สมรสมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปี แต่ในกรณีมีเหตุอันควร คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อาจยกเว้นหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้

“ในส่วนของ ศอ.บต.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง โดยฝ่ายประสานงานสิทธิมนุษยชนด้านเด็กและสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะแปลเป็นภาษามลายู และเสนอให้มีการจัดสัมมนาสิทธิมนุษยชนด้านเด็กและสตรี จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับทราบและร่วมกันปฏิบัติ ที่น่ายินดี ระเบียบนี้จะมีการนำแนวทางมาใช้ทั่วประเทศอีกด้วย” นางสาวปนัดดา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวว่า กฎหมายแพ่งของไทยอนุญาตให้ผู้หญิงแต่งงานได้ เมื่ออายุครบ 20 บริบูรณ์ หรืออายุ 17 ปีลงไป ในกรณีที่ผู้ปกครองยินยอม หรือต่ำสุด 15 ปี ในกรณีศาลสั่ง

การแต่งงานของเด็กในวัยเยาว์ของหญิงมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีขึ้นตามมัสยิดต่างๆ โดยไม่มีการควบคุม ไม่มีการรายงานต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อตัวเด็กและครอบครัว ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ ข่าวการแต่งงานของเด็กหญิงไทยในนราธิวาส ที่มีอายุเพียง 11 ปี กับชายชาวมาเลเซีย อายุ 41 ปี โดยมีอิหม่ามในจังหวัดทำการสมรสให้ ได้สร้างความขุ่นเคืองแก่ชาวไทยและมาเลเซีย จนเมื่อเดือนกรกฎาคม ศาลชารีอะฮ์ในรัฐกลันตันของมาเลเซีย สั่งปรับชายคนดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 1,800 ริงกิต (ประมาณ 14,700 บาท) หลังจากที่เขายอมรับความผิดสองข้อหา ซึ่งปัจจุบัน เด็กหญิงและครอบครัวอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ของไทย

ในเรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย ได้เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมาย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

“ประเทศไทยควรออกกฎหมายห้ามการแต่งงานก่อนวัยอันควรในทุกกรณี การแต่งงานก่อนวัยอันควรกับเด็กที่ยากจนเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก โดยสามีที่เป็นผู้ใหญ่ นี่เป็นการละเมิดสิทธิของเด็กในหลายๆ ด้าน” อังคณา นีละไพจิตร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ เมื่อเดือนกรกฎาคม

เจ้าสาวเด็กเล่าประสบการณ์

นางสาวกายะ (ขอสงวนนามสกุล) เป็นหนึ่งในเด็กหญิงที่ต้องแต่งงานโดยไม่เต็มใจ ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองถูกครอบครัวให้แต่งงานตั้งแต่อายุ 15 ปี อยู่ได้ไม่นานก็เลิก แต่ยังโชคดีที่ยังไม่มีลูกก็เลยสามารถกลับไปเรียนหนังสือได้และ ทำงานไปด้วย แต่สุดท้ายก็เรียนไม่จบเพราะทางครอบครัวให้แต่งงานกับผู้ชายอีกครั้ง โดยไม่สามารถขัดคำสั่งครอบครัวได้

“การแต่งงานถึงสองครั้ง ไม่ได้เต็มใจ แต่ต้องแต่งเพราะคำสั่งพ่อแม่ ตอนนี้ มีลูกแล้วก็ต้องอยู่ด้วย เพราะเรามีลูกที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ก็รู้สึกดีและเห็นด้วยถ้ามีการแก้ระเบียบตรงนี้ เชื่อว่าเด็ก 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ถูกให้แต่งงานในช่วงอายุ 14-16 ปี ไม่ได้เต็มใจเหมือนที่เรารู้สึก” นางสาวกายะ กล่าว

นางสาวปนัดดา นิติกรชำนาญการพิเศษ กล่าวอีกว่า "ระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561” เป็นระเบียบฉบับใหม่ ที่ร่างขึ้นมาโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18(5) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยลงนาม ส่วนข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งขัดกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ตามกฎหมายอิสลามเดิม ที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูลนั้น นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธาน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า อิสลามหญิงและชายที่จะแต่งงานจะต้องมีอายุขั้นต่ำ 15 ปี ยกเว้นได้รับอนุญาตจากบิดา-มารดา ไม่มีการบังคับสถานที่ทำพิธีแต่งงาน เพียงแต่ต้องมีอิหม่ามทำพิธีให้

“กรณีคณะกรรมการทำการสมรสบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี คู่สมรสดังกล่าวต้องมีหนังสืออนุญาตจากศาลหรือดาโต๊ะยุติธรรม หรือหนังสือแสดงความยินยอมพร้อมใจจากผู้ปกครอง ซึ่งลงบันทึกไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ผู้ปกครองนั้นต้องการให้ทำการสมรส หรือสถานีตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ของการสมรสนั้นเสียก่อน” นางสาวปนัดดาระบุถึงเนื้อหาในระเบียบใหม่

โดยการแต่งงานต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด คณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม และผู้มีอำนาจ (วะลีย์) ที่มีหน้าที่ทำการสมรสตามกฎหมายอิสลาม

ในส่วนการปกป้องสิทธิของเด็กนั้น คณะกรรมการอิสลาม ยังกำหนดให้แต่งตั้ง “อนุกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ตามบัญญัติอิสลาม” ขึ้นมาชุดหนึ่งด้วย ซึ่งประกอบด้วยคณะอนุกรรมการไม่ต่ำกว่า 3 คน โดยมีฝ่ายวิชาการเป็นประธานอนุกรรมการ และให้มีสตรีซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามอยู่ด้วยอย่างน้อยหนึ่งคน ระเบียบใหม่ระบุ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ตามบัญญัติอิสลาม มีอำนาจหน้าที่ พิจารณา สอบสวน และให้ความเห็นชอบการสมรสของบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี เมื่อเห็นว่าการสมรสดังกล่าวก่อเกิดประโยชน์แก่คู่สมรสตามบัญญัติอิสลาม อนุกรรมการที่เป็นสตรี เป็นผู้รับฟังคำร้องและสอบถามผู้ร้อง กรณีผู้ร้องเป็นสตรี

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงความยินดีต่อการประกาศระเบียบดังกล่าว

“ทราบเรื่องที่มีการแก้ระเบียบ รู้สึกว่าเป็นความก้าวหน้าของสำนักจุฬาราชมนตรีเพื่อคุ้มครองเด็กผู้หญิงที่จะมีการแต่งงานก่อนวัยอันควร เพราะเป็นห่วงในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ ยังไม่เติมและให้โอกาสกับเด็กได้รับการศึกษาที่เหมาะสมเพื่อสามารถดูแลตัวเองและลูกได้เมื่อพร้อม” นางอังคณากล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ส่วนมากพอเด็กผู้หญิงเป็นสาว บางครอบครัวก็จะรีบให้แต่งงาน โดยเฉพาะ ครอบครัวที่มีฐานะยากลำบากก็อยากให้ลูกสาวแต่งงานเพื่อลดภาระก็จะเป็นการตัดโอกาสที่จะเรียนหนังสือ เราลองดูว่า ผู้หญิงถ้าหากว่าไม่มีการศึกษาหรือมีการศึกษาน้อย วันหนึ่งถ้าสามีตายหรือต้องหย่า ผู้หญิงก็จะยิ่งลำบาก เพราะเขาต้องรับผิดชอบครอบครัว ทั้งลูกและพ่อแม่อีกด้วย” นางอังคณากล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง