ข่าวภาคใต้ต้องไม่ละเมิดสิทธิและสร้างความหวาดระแวง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.06.02
สงขลา
TH-south-media-1000 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ที่สามจากซ้าย) ร่วมเสวนาการรายงานข่าวของสื่อชายแดนใต้ วันที่ 2 มิ.ย. 2559
เบนาร์นิวส์

ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวในงานเสวนาเกี่ยวกับการรายงานข่าวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การนำเสนอข่าว โดยสื่อกระแสหลักที่พึ่งพาข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมากเกินไป และโดยไม่มีความเข้าใจวัฒนธรรม และบริบทสังคมที่ละเอียดอ่อนของภาคใต้ ในหลายๆ ครั้ง ทำให้เกิดปัญหารุนแรงขึ้น

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการ กสม. ได้กล่าวในการเสวนาในหัวข้อ “ปัญหาการนำเสนอข่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กระทบสิทธิและสร้างความหวาดระแวง” ที่จัดขึ้นโดย คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันนี้ว่า นอกจากนี้แล้ว สื่อก็มักนำเสนอเพียงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่ได้นำเสนอผลกระทบของเหตุการณ์ที่ตามมาภายหลัง ซึ่งทำให้หลายครั้งการนำเสนอกลับกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้รุนแรงขึ้นไป

งานเสวนาดังกล่าว เพื่อเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน จรรยาบรรณ และหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเขียนข่าว โดยในการเสวนาครั้งนี้มี เจ้าหน้าที่ทหาร นักวิชาการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

“ในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ไม่ปกติ บางครั้งการเสนอข่าวตรงไปตรงมา ก็ทำให้เกิดปัญหาอันตรายต่อตนเอง และแหล่งข่าว การนำเสนอภาพข่าวต้องระวังเป็นพิเศษไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นายวัส กล่าว

ด้านพันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าวว่า สื่อจำเป็นต้องมีความเข้าใจบริบทสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ ซึ่งหากสื่อมีความสับสนหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด สามารถติดต่อขอข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคง ก่อนนำเสนอข่าวได้

“ในภาคใต้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยังมีปัญหาอื่นอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรง การแก้ปัญหาต้องแก้ทั้งระบบ การนำเสนอข่าวแบบไม่เข้าใจ อาจทำให้สื่อกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับของกลุ่มก่อความไม่สงบได้” พันเอกปราโมทย์กล่าว

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การใช้วาทะกรรมแบ่งแยกพวกเขา พวกเรา จะทำให้สถานการณ์ในภาคใต้แย่ลง สื่อจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรอบคอบในการใช้คำ และการใช้ข้อมูล

“ไม่มีความจริงที่แท้ ไม่มีความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ในข่าว และสื่อไม่มีหน้าที่จะเสนอว่าอะไรจริง อะไรเท็จ สิ่งที่สื่อต้องตระหนัก คือ ต้องหาข้อมูลมากกว่าจากหนึ่งแหล่งเสมอ” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังเห็นตรงกันว่า การที่สื่อนำเสนอข่าวแบบมีอคติ จะยิ่งทำให้สถานการณ์ความไม่สงบทวีความรุนแรง ฉะนั้น การนำเสนอข่าวของสื่อในสถานการณ์ภาคใต้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่ได้จากอินเตอร์เน็ต เพราะหากสื่อนำเสนอข่าวหนึ่งข่าวใดโดยที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน รอบด้าน หรือมีความคาดเคลื่อนอาจทำให้สื่อเองตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ในขณะเดียวกันการนำเสนอข่าวความรุนแรงมากเกินไป ก็จะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวงด้วยเช่นกัน ผู้สื่อข่าวในพื้นที่จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำความเข้าใจกับบรรณาธิการข่าวผู้รับผิดชอบสื่อส่วนกลางถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อสื่อกระแสหลักจะได้สามารถนำเสนอข่าวที่ช่วยเหลือให้สถานการณ์ในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง