แรงงานข้ามชาตินับหมื่นกลับประเทศ หลังไทยประกาศเข้ม พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.07.03
กรุงเทพฯ
TH-migrants-620 แรงงานข้ามชาติทำการคัดปลา ใกล้ท่าเรือ อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558
เอเอฟพี

นายสุทธา สายวาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า ภายหลังการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว (พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ) ในวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายจำนวนมากเดินทางออกและกลับประเทศ เนื่องจากเกรงกลัวการถูกลงโทษโดยกฎหมายฉบับดังกล่าว กำหนดบทลงโทษนักค้ามนุษย์ที่ลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศ แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และนายจ้างที่มีการว่าจ้างแรงงานเหล่านั้น

นายสุทธา ได้เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การลงพื้นที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด ทำให้ทราบว่า นับตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ มีแรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศผ่านด่านแม่สอดฯ กว่า 2 หมื่นคนแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแรงงานกลุ่มดังกล่าว จะเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทยอีกครั้ง เพราะตลาดงานในประเทศไทยมีมากกว่าเมียนมา

“เราให้เขาลงทะเบียนก่อนผ่านด่านกลับ จากวันที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ถึงวันอาทิตย์มีประมาณ 20,000 กว่าคน เฉพาะคนที่ลงทะเบียนกับเรา ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นพวกที่ทำงานในชั้นใน เช่น กรุงเทพฯ แม่สอดไม่มีปัญหาอะไร มาเช้ากลับเย็นกลับได้” นายสุทธากล่าว

“แรงงานที่กลับจะไม่ใช่แรงงานตามโรงงาน ส่วนใหญ่เป็นคนรับใช้ที่บ้าน หรือตามร้านอาหาร หรือทั่วๆ ไป เพราะโรงงานส่วนใหญ่จะทำถูกกฎหมาย มีบัตรสีชมพูอยู่แล้ว แต่ยังไงก็เชื่อว่าแรงงานคงกลับมาทำงานที่ไทยอีก เพราะอยู่ทางนั้น เขาไม่มีงานทำ” นายสุทธากล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในแต่ละพื้นที่เปิดเผยข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายขอเดินทางกลับบ้านเป็นจำนวนมาก โดยที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี มีชาวกัมพูชาเดินทางกลับเฉลี่ย 500 คนต่อวัน ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย ชาวลาวกลับประเทศมากกว่าปกติประมาณ 1,200 คน และที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีชาวเมียนมาเดินทางกลับประเทศแล้วกว่า 3,000 คน หลัง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ถูกประกาศใช้

พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ พ.ศ. 2560 ถูกประกาศใช้ เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวเดิมที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดความทันสมัย และเป็นสากลมากยิ่งขึ้นโดยเป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559

ซึ่ง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ นายจ้างที่จ้างต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือนายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาท ต่อต่างด้าว 1 คน เป็นต้น ส่วนโทษของแรงงานต่างด้าวก็มีเพิ่มขึ้น เช่น คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คนต่างด้าวที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วน แต่ไม่แจ้งนายทะเบียน มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

รัฐบาลเตรียมใช้ ม.44 ชะลอโทษแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน

หลังจาก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ มีผลบังคับใช้และแรงงานเดินทางกลับประเทศจำนวนมาก จนเกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์กฎหมายฉบับนี้ ทำให้รัฐบาลหาวิธีแก้ไข ล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า เตรียมใช้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งชะลอการเอาผิดนายจ้างและลูกจ้างต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมายเป็นเวลา 120 วัน เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหา

“ถ้าอย่างอื่นไม่มีก็ต้องใช้มาตรา 44 แต่วันหน้าถ้ากฎหมายออกมาแล้วก็ต้องทำ ต้องรู้จักกฎระเบียบ ทำให้ถูกต้อง ไม่ใช่อะไรก็ไม่เอาสักอย่าง ให้รัฐผ่อนปรนไปเรื่อย แล้วเมื่อไหร่จะกลับสู่ความถูกต้อง ผมเข้าใจความเดือดร้อน แต่ถามว่าที่ผ่านมามีความสุขมากๆ แต่ไม่มีใครบอกว่าถูก หรือผิดกฎหมาย จะเอาอย่างไร จะไม่มีกฎหมายหรืออย่างไร” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สั่งห้ามไม่ให้ตำรวจทุกหน่วยใช้ช่องว่างทางกฎหมายเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ จากทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าว หลังจากมีกระแสข่าวว่า หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางกลุ่มหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการข่มขู่เรียกรับเงินจาก แรงงาน และนายจ้างที่กระทำผิดกฎหมาย

นักสิทธิฯและนักธุรกิจแนะแนวทางแก้ปัญหา

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมเรือประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่แรงงานกลับประเทศนั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้ อุตสาหกรรมทั้ง 6 ภาคส่วน ได้รับความเดือดร้อน เรียงลำดับจากภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากไปน้อย ได้แก่ อุตสาหกรรมภาคการก่อสร้าง ภาคการเกษตร ภาคบริการ ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ภาคประมง และภาคบริการประเภทคนงานรับใช้ในบ้าน

“พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ นี้ เป็นกฎหมายที่ดีในการใช้ควบคุมแรงงาน เพียงแต่รัฐควรให้เวลาแรงงานต่างด้าวได้จดทะเบียนให้ถูกกฎหมายเสียก่อนเป็นเวลา 3 เดือน ถ้าใช้ ม.44 ก็ขยายการบังคับไปเลย แล้วเปิดให้แรงงานเข้าสู่ระบบจดทะเบียน พอพ้นกำหนดไปแล้วคุณก็ปิดไปเลย ไม่ต้องเปิดให้จดทะเบียนแล้ว จะทำให้การแก้ปัญหาไม่วุ่นวาย” นายมงคลกล่าว

ขณะเดียวกัน นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวเป็นกฎหมายที่ดี แต่จำเป็นต้องให้เวลาทุกภาคส่วนปรับตัวก่อนบังคับใช้กฎหมายจริง

“อาจจะผิดจังหวะไปหน่อย ถ้าวางสเต็ปดีๆ เช่น อาจเอาขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมด ให้รู้ตัวเลข จะได้รู้ว่าจะกำหนดยุทธศาสตร์ในมิติการคุ้มครองต่ออย่างไรบ้าง หลังจากนั้นค่อยประกาศ พ.ร.ก. ออกมาตามหลัง ถ้าอย่างนี้ทุกคนปรับตัวได้ ปรับตัวทัน ก็จะไม่สร้างความตระหนกตกใจ” นายสมพงศ์กล่าวต่อเบนาร์นิวส์

“ยาแรงมันก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ช่วยในการควบคุม แต่กลายเป็นว่าสังคมไม่ยอมรับ จริงๆ มันก็เหมือน พ.ร.ก. ไล่คนกลับบ้าน ถ้าออกมาตรา 44  จริง ใน 120 วัน ก็ต้องถอยหลังกลับมาหนึ่งก้าว ดูว่าจะเดินต่ออย่างไรที่หลายฝ่ายไม่เจ็บปวด และหลายฝ่ายได้รับประโยชน์” นายสมพงศ์กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง