พระมหาอภิชาติ ผู้เผยแพร่แนวคิดรุนแรงต่อต้านมุสลิม ถูกจับแล้ว

มารียัม อัฮหมัด
2017.09.20
ปัตตานี
170920-TH-buddhist-monks-1000.jpg พระภิกษุสงฆ์ร่วมสวดมนต์ในวันวิสาขบูชา จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2559
เอเอฟพี

พระมหาอภิชาติ ปุณณฺจนฺโท แห่งวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในการประกาศใช้วิธีรุนแรงแบบเดียวกับพระวีระทูของเมียนมา ในการตอบโต้ขบวนการก่อเหตรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ถูกเจ้าหน้าที่นิมนต์ไปจากวัดแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสงขลา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แหล่งข่าวกล่าวกับเบนาร์นิวส์

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พระมหาอภิชาติ ปุณณฺจนฺโท ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งนิมนต์ไปจากวัดแห่งหนึ่ง ในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และไม่สามารถติดต่อได้

หลังจากพระมหาอภิชาติ ถูกนิมนต์ไป เมื่อวันอังคารนี้ ได้มีการตั้งข้อสงสัยว่าพระมหาอภิชาติ ถูกจับกุมตัวไปและถูกตั้งข้อหายุยุงปลุกปั่นหรือไม่ อย่างไร

“ผมถามทางค่ายเสนาณรงค์ ทางค่ายบอกว่าได้ส่งตัวพระอภิชาติไปให้ตำรวจกองปราบปราม แต่ทางตำรวจกองปราบปราม ไม่ตอบ ผมคิดว่าท่านอาจจะโดนตั้งข้อหา ม.116 ยุยงปลุกปั่น และอาจจะโดนจับสึก” นายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

อย่างไรก็ตาม เบนาร์นิวส์ยังไม่สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่เพื่อขอคำอธิบายว่า มีการดำเนินการตั้งข้อหาพระมหาอภิชาติหรือไม่

พระมหาอภิชาติ ปุณณฺจนฺโท เป็นพระสงฆ์ที่ชื่อเสียงไปในทางที่มีแนวคิดรุนแรงในการตอบโต้ฝ่ายก่อการร้ายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในอดีตได้เรียกร้องให้เผามัสยิด หากพระสงฆ์ยังคงถูกทำร้ายและสังหารต่อไป โดยยก วีระทูโมเดล พระฮาร์ดคอร์ ที่ใช้แนวคิดรุนแรงแห่งเมียนมา ที่มีการขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากเมียนมา จนเป็นข่าวไปทั่วโลกในขณะนี้

ในวันนี้ องค์กรพัฒนาเอกชนและแกนนำพุทธศาสนา ประกอบด้วย นส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมด้วย กลุ่มด้วยใจ จังหวัดสงขลา นายอับดุลสุโก ดินอะ โรงเรียนจริยธรรมศึกษา อ.จะนะ จ.สงขลา สมาคมฟ้าใส สุขภาวะเด็ก เยาวชนชายแดนใต้ และเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวพระมหาอภิชาติ กลัวเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้รุนแรงยิ่งขึ้น

แม้ว่ามูลนิธิผสานวัฒนธรรม จะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของบุคลากร หรือผู้นำทางด้านศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม ที่มีลักษณะก้าวร้าว ส่อไปในทางยุยงให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ไว้วางใจระหว่างศาสนาในสังคมก็ตาม แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจต่อบุคลากรทางศาสนา นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง และประเด็นอ่อนไหวทางด้านศาสนา จึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด โปร่งใส และอธิบายได้ ทั้งนี้เพราะการกระทำดังกล่าวแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา กลับอาจเป็นการซ้ำเติมทำให้ปัญหาบานปลายยิ่งขึ้นก็เป็นได้ นส.พรเพ็ญ กล่าวในแถลงการณ์

นส.พรเพ็ญ กล่าวในแถลงการณ์ต่อไปว่า หากทางราชการต้องการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม หรือการแสดงออกทางความคิดเห็นที่อาจเข้าข่ายว่า สร้างให้เกิดความแตกแยกในสังคม ควรดำเนินการอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และอยู่ในกรอบของกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นแนวทางสันติวิธี โดยเน้นการทำความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาที่อ่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ทั้งในระดับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียน และในระดับระหว่างประเทศ

ในจำนวนประชากรไทยประมาณ 67 ล้านคน มีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 4 ล้านคน โดยมีชาวไทยมุสลิมหรือชาวมลายูที่นับถืออิสลาม อาศัยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณสองล้านคน ซึ่งยังมีประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธและที่มีเชื้อสายจีนอีกจำนวนมาก

แต่นับตั้งแต่การเกิดเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบุกปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ได้ปืนไปกว่าสี่ร้อยกระบอก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จวบจนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 ราย บาดเจ็บอีกประมาณ 12,000 ราย ซึ่งมีทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันเหตุการณ์ความรุนแรง ได้นำไปสู่การเกลียดกลัวชาวมุสลิม (Islamophobia) ในส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย

ทั้งนี้ ชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แย้งว่า สาเหตุของความเกลียดกลัวมาจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ และรายงานข่าวที่มีแต่แง่มุมของความรุนแรง

และในเดือนมิถุนายน ชาวบ้านในจังหวัดขอนแก่น เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้งดอนุญาตการก่อตั้งมัสยิดบ้านเลิงเปือย เพราะชาวบ้านมีความกังวลว่า จะนำมาซึ่งเหตุการณ์รุนแรงเช่นเดียวกันที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง