ชมรมอิหม่ามฯ บาเจาะ ยกเลิกความร่วมมือกับ ศอ.บต. ในโครงการปรับปรุงมัสยิด 300 ปี

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.03.31
นราธิวาส
TH-mosque-1000 เด็กๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณมัสยิด 300 ปี ตะโละมาเนาะ หรือมัสยิดวาดีลอัลฮูเซ็น ในอำเภอบาเจาะ นราธิวาส อาศัยใต้ถุนมัสยิดเป็นที่วิ่งเล่นช่วงปิดภาคเรียน วันที่ 31 มีนาคม 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์ (31 มีนาคม 2560) นี้ ชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ทางชมรมฯ ได้ตัดสินใจยุติความร่วมมือกับศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี ตะโละมาเนาะ เพราะความไม่โปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายมูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา รองประธานชมรมฯ ได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวที่มัสยิดตะโละมาเนาะ หรือ มัสยิดวาดีลอัลฮูเซ็น ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาบูโด ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ในวันนี้ โดยได้กล่าวว่า ทาง ศอ.บต. ไม่ได้รักษาสัญญาในการดำเนินโครงการ และทางชมรมฯ ไม่ได้มีอำนาจร่วมตัดสินใจ

"ตอนนี้ทางชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ได้ขอยุติโครงการแล้ว เพราะ ศอ.บต.ไม่ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ทำให้เราต้องยุติโครงการ เมื่อคำมั่นสัญญาที่ ศอ.บต. บอกว่าจะให้เราดำเนินการ แต่เขาไม่ให้เรา เราก็ยังหยวนๆ ด้วยการขอเป็นคณะกรรมการร่วม แต่การเป็นกรรมการร่วมแบบไม่ได้มีอำนาจอะไรเลยในการตัดสินใจ เราก็เลยขอถอนตัวออกมา” นายมูฮำมัดซุลฮัน กล่าว

นายมูฮำมัดซุลฮัน กล่าวว่า เมื่อปลายปี พ.ศ. 2555 ศอ.บต. ได้ประชุมกันที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลลุโบะสาวอ พร้อมอนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์และทัศนียภาพมัสยิดตะโละมาเนาะ โดยเห็นชอบให้ชมรมอิหม่ามฯ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและดำเนินโครงการด้วย แต่ในปี 2556 เมื่อนายภาณุ อุทัยรัตน์ เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการ คนใหม่ ทาง ศอ.บต. ได้จัดจ้างผู้รับเหมาเอง แต่กลับกลายเป็นว่าบริษัทรับเหมา ซึ่งคือ บริษัทชาติธนา จำกัด ถูกฟ้องล้มละลาย และศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2559

ในวันนี้ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ซึ่งพ้นวาระจากตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการ ครม.ส่วนหน้า" กล่าวว่า "เป็นเรื่องจริงที่บริษัทผู้รับจ้างงานจ้างเหมาปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี เป็นบริษัทที่ถูกฟ้องล้มละลาย แต่เป็นการถูกฟ้อง หลังจากที่ทำสัญญากับ ศอ.บต. แล้ว โดยช่วงที่ทำสัญญา บริษัทยังไม่ล้มละลาย สัญญาจึงถูกต้องสมบูรณ์"

เรื่องราวมัสยิดสามร้อยปีที่เก่าแก่เกือบสี่ร้อยปี

มัสยิดตะโละมาเนาะ หรือมัสยิดวาดีลอัลฮูเซ็น ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาบูโด ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส สร้างในปี พ.ศ. 2167 มีอายุ 393 ปี เป็นมัสยิดเรือนไม้ตะเคียง สลักไม้ยึดแทนตะปู หรือสกรูเหล็ก เป็นการสร้างแบบศิลปะไทยพื้นเมืองประยุกต์ ผสมผสานกับศิลปะแบบจีน และมลายู ตัวมัสยิดสร้างเป็นอาคาร 2 หลังติดกัน มีขนาด 14.20 x 6.30 เมตร ส่วนที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นหลังคา หลังแรกจะมีหลังคา 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาชั้น 3 มีโดมเป็นเก๋งจีน ส่วนที่ 2 จะมีหลังคา 2 ชั้น หลังคาชั้นที่ 2 เป็นจั่วรูปฐานรองรับอยู่บนหลังคาชั้นแรก รอบฐานจะแกะสลักเป็นเถาก้าน เจาะเป็นลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม ด้านในจะมีบันได ซึ่งสมัยก่อนใช้ขึ้นไปบนหออะซานหลังคาชั้นที่ 2 เพื่อตะโกนเรียกละหมาด เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มัสยิดแห่งนี้ ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกชาติจากกรมศิลปากร ปัจจุบัน ยังคงใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

โครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี ตะโละมาเนาะ ตั้งงบประมาณ 149,830,000 บาท มี ศอ.บต. เป็นเจ้าของโครงการ ได้จัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ โดยว่าจ้างกิจการร่วมค้าห้างหุ้นส่วนจำกัดสนธิเศรษฐกับบริษัทชาติธนาจำกัด เข้ารับเหมาทำโครงการ และลงนามในสัญญาจ้างกัน เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2559

โครงการนี้ได้แบ่งโซนการพัฒนา คือ โซนที่ 1 ซ่อมแซมดูแลรักษามัสยิด และปรับปรุงในส่วนที่ชำรุดไห้คงตามสภาพเดิม เวนคืนบ้านของชาวบ้าน ที่บดบังทัศนียภาพมัสยิด 5 หลัง หอจดหมายเหตุข้อมูล UTM  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซีย ย้ายโรงเรียนตาดีกา ที่อยู่ด้านข้างมัสยิดและสร้างอาคารใหม่ 2 ชั้น

โซนที่ 2 บริเวณภายนอกมัสยิดเนื้อที่ 10 ไร่ ขององค์การบริหารส่วนตำบลลุโบะสาวอ สร้างอาคารแหล่งพัฒนาวิทยาลัยอิหม่าม แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ตะโละมาเนาะ

และโซนที่ 3 บริเวณทางเข้าด้านหน้า มีประตูทางเข้า หรือ ปินตูกรือบัง อาคาร สำนักงานบริหารจัดการโครงการ สร้างอาคารที่พัก 12 ห้อง ไว้รองรับแขกจากต่างถิ่นมาเยือน และศูนย์อาหารและสินค้าพื้นเมือง

จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ พบว่า แม้ว่าผู้รับเหมาจะมีปัญหา แต่ยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยในโซนที่ 2 ยังมีการทำงานในส่วนของอาคารแหล่งพัฒนาวิทยาลัยอิหม่าม แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ตะโละมาเนาะ

จากการตรวจสอบต่อมาทราบว่า บริษัทที่ประสบปัญหาได้ให้เอกชนรายอื่นรับเหมาช่วง และได้เริ่มงานในพื้นที่ไปแล้ว 2 งวดงาน แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เนื่องจากชื่อบริษัทคนละชื่อกันกับที่ทำสัญญาเอาไว้ ขณะนี้ กำลังพิจารณาว่าต้องยกเลิกสัญญาหรือไม่ และหากยกเลิกสัญญา จะเยียวยาเอกชนรายใหม่ที่เริ่มงานไปแล้วอย่างไร เพราะไม่สามารถเบิกเงินงวดงานได้ ขณะนี้ฝ่ายอัยการกำลังพิจารณาข้อกฎหมายอยู่

นายมูฮำมัดซุลฮัน กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางชมรมได้รายงานเรื่องโครงการปรับปรุงมัสยิดสามร้อยปีให้ทางโอไอซีรับทราบในเชิงบวกมาโดยตลอด แต่อาจจะถึงเวลารายงานปัญหาตามข้อเท็จจริง

“มีการรายงานเชิงบวกตลอด อยากให้โอไอซีเห็นว่าประเทศไทยเขาดูแลคนมุสลิมสามจังหวัด เรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าทางโอไอซีถามมา เราก็ต้องตอบตรงๆ ก็ขอดุอาฮ์ว่า ให้โครงการยุติไป และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ให้ประเทศไทย" นายมูฮำมัดซุลฮัน กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง