นายกฯ ปกป้องเจ้าหน้าที่ที่มีคำสั่งขอรวบรวมข้อมูลนักศึกษามุสลิม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.09.17
กรุงเทพฯ
190917-TH-angkhana-1000.jpg นางอังคณา นีละไพจิตร ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซในปีนี้ ขณะให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์ ถึงการสนับสนุนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในกรุงเทพฯ วันที่ 17 กันยายน 2562
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุป้องการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีคำสั่งให้มหาวิทยาลัยรายงานข้อมูลรายละเอียด ประวัติ จำนวน ความเคลื่อนไหวของนักศึกษามุสลิมในมหาวิทยาลัยดังกล่าว

เจ้าหน้าตำรวจต้องการข้อมูลดังกล่าวเพื่อการสืบสวนและเพื่อสร้างฐานข้อมูลความมั่นคง พลเอกประยุทธ์ตอบผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

"ต้องยอมรับว่าบางครั้งในเรื่องการตรวจสอบหรือดำเนินการอะไรเราทำไม่ได้ เนื่องจากไม่มีฐานข้อมูล หรือที่เรียกว่า "บิ๊ก ดาต้า" (Big data) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยืนยันว่าไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิอะไรของใคร เรื่องนี้ขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วยว่าเค้าทำเพื่ออะไร และการจะไปจับผิดถ้าคนคนนั้นไม่ได้ทำผิดกฎหมายก็ไม่สามารถไปทำอะไรได้อยู่แล้ว"

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตสมาชิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้โพสต์สำเนาคำสั่งของตำรวจ บนหน้าเฟสบุ๊คของเธอ ซึ่งชื่อของมหาวิทยาลัยถูกปกปิด ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่า มีคำสั่งเดียวกันถูกส่งไปยังสถาบันอื่นใดอีก

โดยในสำเนาคำสั่งจากหน่วยสันติบาลจังหวัด.. ขอทราบข้อมูลนักศึกษา อาทิ 1. มีนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามศึกษาอยู่หรือไม่ จำนวนเท่าใด และนับถือนิกายอะไร 2. เป็นนักศึกษาในพื้นที่ หรือ นักศึกษาที่มาจากนอกพื้นที่ จำนวนเท่าใด นับถือนิกายอะไร 3. ในมหาวิทยาลัยมีการจัดตั้งกลุ่ม หรือชมรมของนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามหรือไม่ หากมี ขอทราบชื่อกลุ่ม/ชมรม ชื่อประธานกลุ่ม/ชมรม พร้อมประวัติโดยสังเขป จำนวนสมาชิกในกลุ่ม แนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่ม/ชมรม

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. กล่าวว่า “หนังสือฉบับดังกล่าว มาจากกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล มีจุดประสงค์เพื่อทำฐานข้อมูลและบริหารงานข่าวกรองเกี่ยวกับสถานการณ์ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลในเขตพื้นที่รับผิดชอบ”

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ "ไม่มีกฎหมายรองรับ” ในการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวและทำการราวกับว่า รัฐบาลทหารยังคงอยู่ในอำนาจ

“ไม่มีกฎหมาย [ที่] ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ ในการขอข้อมูลต่างๆของนักศึกษาแต่ละคน ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับศาสนาหรืออะไรก็ตาม” นายยิ่งชีพกล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในวอชิงตัน

“นี่เป็นวิธีปฏิบัติตามปกติ เมื่อตอนที่พวกเขาอยู่ในอำนาจนานเกือบห้าปี และพวกเขาก็รู้สึกว่า เขาสามารถทำอะไรก็ได้” นายยิ่งชีพกล่าวถึง รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศไทย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 จนถึงการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมปีนี้ และเราก็ยังคงอยู่ในรัฐบาลประยุทธ์ 2

อังคณา: ‘รู้สึกว่าบทบาทถูกจำกัด’

นางอังคณา นีละไพจิตร เพิ่งได้รับรางวัลรามอนแมกไซไซ 2562 รางวัลอันทรงเกียรติในเดือนนี้ จากการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารว่า เธอลาออกจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเดือนกรกฎาคม เพราะรู้สึกว่าทำงานได้ยาก โดยไม่เห็นผล

“เรารู้สึกว่าถูกจำกัดบทบาทหลายอย่าง ไม่มีอิสระ แม้ว่าตามหลักการ กรรมการสิทธิฯ ต้องมีอิสระเป็นกลาง แต่พอเราไปอยู่ในฐานะกรรมการสิทธิฯ เรารู้สึกว่า เราทำงานหลายเรื่องได้ยาก ทั้งด้านกฎหมาย หรือทัศนคติหรืออคติของกรรมการบางคน ... ดิฉันอาสาทำงานภาคใต้ต่อ แต่เราก็ไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ โดยประธานบอกว่า จะรับผิดชอบงานภาคใต้เอง ทั้งงานส่งเสริมและตรวจสอบ ยอมรับว่า จุดนี้เป็นจุดที่เรารู้สึกว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”

นางอังคณา เป็นปากเป็นเสียงให้กับคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม ไม่ได้รับสิทธิอย่างที่ควรได้รับ ผู้ที่ถูกกล่าวหาละเมิดสิทธิในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ประชากรส่วนมากเป็นชาวมุสลิม ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ โดยกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนและเหตุการณ์รุนแรงอื่นๆ มานานหลายทศวรรษ

เธอกลายเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ หลังจากที่นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้เป็นสามี ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ฉุดกระชากขึ้นรถยนต์ไป ท่ามกลางสายตาผู้คนบนถนนรามคำแหง และไม่มีผู้พบเห็นเขาอีก ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547

นางอังคณา กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า ความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะนำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชนมากขึ้นได้ เพราะตอนนี้ หน่วยงานความมั่นคงมีความพัฒนาไปเยอะมากในเรื่องของเทคโนโลยี นิติวิทยาศาสตร์ ถ้าใช้หลักวิชาการในการมาคลี่คลายปัญหา หรือจับกุมได้

“แต่อย่างไรก็ดี เรายังเจอปัญหาการปิดล้อมตรวจค้น ตอนทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชน เราได้รับเรื่องร้องเรียนในลักษณะเดียวกันมาก เช่น ตั้งแต่เดือนธันวาคม 59 ถึง พฤษภาคม 60 มีข้อร้องเรียนมากกว่า 100 เรื่อง ในนั้น 100 เรื่อง เป็นการร้องเรียนด้วยข้อความซ้ำกัน คือ ถูกจับกุม เอาไปไว้ในห้องเย็น ไม่อนุญาตให้นอน เอาถุงดำคลุมหัว หรือเอาน้ำเทใส่หน้า ไม่น่าเชื่อว่าทั้ง 100 คน ร้องเรียนด้วยเรื่องเดียวกัน ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ ซึ่งเราคิดว่าสำคัญมาก”

“แต่ตอนเข้าไปตรวจสอบในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็ไม่พบหลักฐานการถูกทำร้าย เพราะกระบวนการแบบนั้นไม่ทิ้งร่องรอย แม้ว่าคนที่มาร้องเองก็บอกว่า มีการตี เอาผ้าพันไว้ เลยไม่เจอบาดแผล แต่ในรายงาน เราก็เขียนไว้ว่า เราไม่พบหลักฐานการที่เจ้าหน้าที่กระทำการละเมิดสิทธิ”

“พูดตรงๆ เราเห็นหลายคนที่ชาวบ้านคิดว่า เป็นผู้ก่อความไม่สงบ เวลาที่เสียชีวิต เราไม่ค่อยเห็นมีการร้องเรียน แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่กระทบต่อคนบริสุทธิ์ ชาวบ้านจะรวมตัวกันวิจารณ์มาก ชาวบ้านในพื้นที่จะรู้ว่าใครเป็นใคร”

เมื่อเดือนที่แล้ว นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ อายุ 34 ปี เสียชีวิต หลังจากอยู่ในอาการโคม่านานร่วมเดือนที่โรงพยาบาล หลังจากที่มีคนพบว่าเขานอนหมดสติในห้องขัง เพียงไม่กี่ชั่วโมงจากที่เขาถูกนำตัวกลับมาจากการสอบสวน ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ในจังหวัดปัตตานี

ทางการไทยปฏิเสธข้อกล่าวหาการทรมานผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่ทหารได้กล่าวว่า กล้องวงจรปิดไม่ได้ออนไลน์ไว้ ในระหว่างการสอบสวน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพ และอิมราน วิตตาชิ ในวอชิงตัน มีส่วนในรายงานนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง