แอมเนสตี้ : รัฐบาลไทยจำกัดเสรีภาพและปราบปรามผู้เห็นต่างบนอินเทอร์เน็ต

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.04.23
กรุงเทพฯ
200423-TH-speech-covid-1000.jpg นักเรียนไทยประท้วงคัดค้านคำตัดสินของศาลที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ หลังจากการเลือกตั้งเพื่อยุติการปกครองโดยรัฐบาลทหารไม่ถึงปี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563
รอยเตอร์

ในวันพฤหัสบดีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เผยแพร่รายงานระบุว่า ทางการไทยใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพื่อเร่งปราบปรามผู้วิจารณ์รัฐบาลบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) รัฐบาลพยายามพุ่งโจมตีผู้ที่เผยแพร่ข่าว ซึ่งรัฐมองว่าเป็นข่าวปลอม

แอมเนสตี้ เผยแพร่ รายงานชื่อ “มีคนจับตาดูอยู่จริง ๆ : ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย”  (They are always watching) ซึ่งใช้การสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักการเมือง นักกฎหมาย และนักวิชาการ จนได้ข้อสรุปที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้กฎหมายปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง และมีประชาชนหลายสิบคนถูกดำเนินคดีอาญา

น.ส.แคลร์ อัลการ์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการระดับโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุในจดหมายข่าวที่ส่งถึงสื่อมวลชนว่า รัฐบาลไทยพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว โดยการคุกคามและดำเนินคดี เพื่อปิดปากผู้ที่เห็นต่างบนโลกออนไลน์

“การโจมตีเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ของรัฐบาล เป็นการกระทำที่น่าละอาย เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบโดยผู้ที่กล้าตั้งคำถามกับพวกเขา การปราบปรามยิ่งหนักข้อมากขึ้น เนื่องจากดูเหมือนว่าทางการได้ใช้โอกาสที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นข้ออ้าง เพื่อกำจัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และจำกัดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย” น.ส.แคลร์ กล่าว

รายงานดังกล่าว ระบุว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียให้ข้อมูลว่า ถูกคุกคามและข่มขู่ หากโพสต์ข้อความวิจารณ์ทางการและข้อความนั้นกลายเป็นไวรัล

“การโจมตีอย่างเป็นระบบต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นนี้ ถือว่าขัดกับความพยายามของประเทศไทยในการสร้างภาพว่า เป็นประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม” น.ส.แคลร์ กล่าว

แอมเนสตี้ระบุว่า รัฐบาลใช้กฎหมายเผด็จการหลายฉบับเพื่อปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ประกอบด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2559 ให้อำนาจทางการในการตรวจสอบและปราบปรามเนื้อหาออนไลน์ และดำเนินคดีกับบุคคลจากการละเมิดกฎหมายที่มีเนื้อหากว้างขวาง นอกจากนั้น มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาที่มีเนื้อหากว้างขวาง ยังกำหนดโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จากการกระทำที่ถือเป็นการยุยงปลุกปั่น มาตรา 326 ถึง 333 ของประมวลกฎหมายอาญาเอาผิดทางอาญากับการหมิ่นประมาท โดยให้อำนาจทางการคุมขังบุคคลที่ถูกมองว่า ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศของเจ้าหน้าที่

ในความพยายามอย่างเป็นระบบ เพื่อกำหนดเนื้อหาการถกเถียงในโซเชียลมีเดีย ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของรัฐบาล ซึ่งก่อตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อตรวจสอบเนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่อาจให้ข้อมูลบิดเบือนกับประชาชน แต่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาบุคคลที่สาม ที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นอิสระ เพื่อมาตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่ถูกมองว่าเป็นข่าวปลอม

แอมเนสตี้ชี้ว่า รัฐบาลพยายามเร่งใช้กฎหมายที่เข้มงวด เพื่อเซ็นเซอร์ข้อมูลที่ถูกมองว่าเป็นเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 โดย ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 รัฐบาลใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ) ซึ่งตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเซ็นเซอร์ หรือแก้ไขข้อความที่ถูกมองว่าเป็นเท็จหรือบิดเบือน โดยอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเกิดความเข้าใจผิด และกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสองปี

“ทางการไทยต้องยุติการใช้กฎหมายอาญาต่อผู้วิจารณ์อย่างสงบ และป้องกันไม่ให้มีการจำกัดเพิ่มเติมต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก โดยอ้างว่าเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 คนทั้งหมดที่ถูกจับกุมเพียงเพราะแสดงความเห็นของตน ต้องได้รับการปล่อยตัว และให้ยกเลิกข้อหาต่อพวกเขาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข จนกว่าจะมีการดำเนินการดังกล่าว ระหว่างนี้ประชาคมระหว่างประเทศควรแสดงท่าทีอย่างชัดเจนต่อทางการไทยว่า จะไม่ยอมอดทนให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเช่นนี้อีก” น.ส.แคลร์ ระบุ

เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อไปยัง นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เพื่อให้ชี้แจงเกี่ยวกับรายงานของแอมเนสตี้ ซึ่งพาดพิงถึงรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐบาล แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

ทั้งนี้ ในห้วงเวลาเกือบ 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ดำเนินคดีกับพลเรือนหลายคดี โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ คสช. ยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีคนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,349 คน, มีคนถูกจับกุมอย่างน้อย 625 คน, มีคนถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 อย่างน้อย 98 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 119 คน, มีคนถูกตั้งข้อหาชุมนุมเกินห้าคน อย่างน้อย 421 คน และพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน โดยเป็นสถิติจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2562

ในขณะที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของแอมเนสตี้ฯ โดยกล่าวแก่บีบีซีไทย วันนี้

"การทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของไทย แม้จะเริ่มต้นโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็จริง แต่หลักการ เหตุผลและการดำเนินการเป็นไปในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ของคณะกรรมการชุดนี้เป็นตัวแทนจากสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม ฝ่ายวิชาการ"

"การทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเราใช้ระบบ fact-checking คือ เมื่อมีข้อมูลออกมา เราต้องไปตรวจสอบศูนย์ฯ ไม่สามารถคิดเองเออเองได้ว่า ข้อมูลนั้นจริงหรือปลอม แต่เมื่อมีแนวโน้มว่า คนแชร์ออกไปเยอะ ก็จะหยิบข้อมูลชิ้นนั้นมาตรวจสอบกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ หากพบว่าข้อมูลไม่เป็นความจริง ก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเรามาด้วย โดยเราขอให้ตอบกลับมาภายใน 2 ชั่วโมง จากนั้นทางศูนย์ฯ จึงนำมาทำอินโฟกราฟิก ส่วนข้อมูลไหนที่เรายังไม่ได้รับคำยืนยันจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เราก็จำเป็นต้องทิ้งไว้ก่อน"

"ขอยืนยันว่าประเด็นต่าง ๆ ที่ศูนย์ฯ เสนอนั้น เราไม่ได้เป็นคนกำหนดหรือชี้นำ" นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวย้ำ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง