ไทย-มาราปาตานี มีแผนพูดคุยต้นเดือนกันยายน

นาซือเราะ และ นานี ยูซูฟ
2016.08.23
ปัตตานี และ วอชิงตัน
TH-carbomb-1000 เจ้าหน้าที่หน่วยอีโอดีตรวจสอบที่เกิดเหตุคาร์บอมบ์ โดยผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ ที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส วันที่ 26 มิถุนายน 2559
เอเอฟพี

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย และโฆษกมาราปาตานี ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายจะกลับสู่ขบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอีกครั้งในต้นเดือนกันยายน หลังจากสะดุดลงในปลายดือนเมษายน ที่ผ่านมา

นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮาคิม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์เมื่อวันจันทร์นี้ว่า คณะกรรมการร่วมทางเทคนิกของทางฝ่ายไทย (ปาร์ตี้-เอ) และ ของมาราปาตานี (ปาร์ตี้-บี) และได้มีความคืบหน้าในการพิจารณาเงื่อนไขการพูดคุยหรือ TOR จนน่าที่จะสามาถจะกลับมาสู่เจรจาอย่างเป็นทางการได้อีกครั้ง

“ฝ่ายเทคนิคของทางฝ่ายไทย (ปาร์ตี้-เอ) และ ของมาราปาตานี (ปาร์ตี้-บี) มีความคืบหน้าเป็นอย่างมากในการพูดคุยเรื่องทีโออาร์ เมือวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งมีการอะลุ่มอล่วยกัน เราจะเริ่มการเจรจาเป็นทางการโดยเร็ว” นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในวันนี้ แหล่งข่าวในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการทางเทคนิก ได้เปิดเผยว่า การเจรจาเต็มคณะ น่าจะมีขึ้นในวันที่ 2 กันยายน ที่จะถึงนี้

“หลังจากที่เราคณะชุดเล็กฝ่ายไทยและมาราปาตานีเห็นชอบใน TOR ร่วมกัน ครั้งต่อไป คณะพูดคุยชุดใหญ่ก็จะเข้าไปคุยกัน ประมาณวันที่ 2 กันยายน นี้ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก” แหล่งข่าว กอ.รมน. คนดังกล่าว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้

‘พวกเขาต้องหยุดความรุนแรง’

ทางด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันอังคารนี้ว่า ตนได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงพิจารณาเพื่อกำหนดวันในการพูดคุยสันติสุขกับทางมาราปาตานีครั้งต่อไปอยู่จริง แต่ย้ำว่าฝ่ายผู้เห็นต่างต้องแสดงความจริงใจในการลดเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้

“มีการกำหนดคร่าวๆ ซึ่งได้ให้ฝ่ายความมั่นคงพิจารณาอยู่... ถ้าจริงใจต้องหยุดความรุนแรงให้ได้ก่อน ไม่ใช่เอาประเด็นความรุนแรงมาเร่งรัดการพูดคุย” พลเอกประยุทธ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

พลเอกประยุทธ์ ยังแบ่งรับแบ่งสู้ในเรื่องการพูดคุยกับทางฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของฝ่ายไทย เรียกว่า “ผู้เห็นต่างจากรัฐ” โดยพลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า การพูดคุยฯ เป็นการกระทำโดย ปาร์ตี้-เอ และ ปาร์ตี้-บี ไม่ใช่รัฐบาลไทย ส่วนรัฐบาลไทยไม่สามารถพูดคุยกับผู้เห็นต่างบนดินแดนไทยได้ เพราะละเมิดกฎหมาย

“ตราบใดที่มีความเห็นต่าง เรามองว่าทำผิดกฎหมายไทยไม่ได้ เราจะไปพูดคุยกับใครในประเทศก็ยังไม่ได้เลย จึงต้องไปคุยกันที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราเป็นรัฐบาลจะไปพูดกับคนทำผิดไม่ได้” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

นับตั้งแต่การก่อความไม่สงบระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตในการต่อสู้ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการอิสรภาพเหนือจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ไปแล้วเกือบ 7,000 ราย

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา การพูดคุยเพื่อสันติสุขสะดุดลง เพราะทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทย ที่นำโดยพลเอกอักษรา เกิดผล ไม่ยอมรับร่างทีโออาร์ ที่เป็นเหมือนกติกาในการเจรจาที่ทางคณะอนุกรรมการทางเทคนิคที่นำทีมโดย พลโทนักรบ บุญบัวทอง ได้ให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านั้นแล้ว

“ทีโออาร์เป็นเหมือนกฎกติกา ที่หากไม่มีเสียแล้ว ก็ไม่สามารถมีการแข่งขันกีฬานั้นๆได้” นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทั้งนายอาบู ฮาฟิซ และแหล่งข่าวฝ่ายไทย ไม่สามารถจะเปิดเผยเนื้อหาของทีโออาร์ได้

‘ไม่มีความหวัง’

คดีระเบิดภาคใต้ในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่ประชาชนส่วนใหญ่ไปลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันส่งผลให้รัฐบาลทหารมีอำนาจควบคุมสถาบันทางการเมืองและสามารถนำการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า

หากอย่างน้อย ร้อยละ 60 ของผู้ที่ลงประชามติทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงคะแนนไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น

“ถึงแม้ว่า ทั้งสองฝ่ายจะมีการพูดคุย แต่ก็ยังมองไม่เห็นความหวังใดๆ” ดร. ซัคคารี อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความมั่นคงในเอเชียอาคเนย์ และศาสตราจารย์ประจำ National War College แห่งกรุงวอชิงตัน กล่าวแสดงความคิดเห็น แก่เบนาร์นิวส์วันอังคารนี้

"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่งได้รับเสียงข้างมากให้ผ่านการลงประชามติไปแล้วอย่างทุลักทุเลนั้น จะยิ่งทำให้การสถาปนาการแบ่งแยกดินแดนเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ จะยังทำให้เจ้าหน้าที่ไทยพุทธพากันต่อต้านชุมชนชาวมลายู" เขาเพิ่มเติมว่า "ฐานะเจ้าหน้าที่ทหารไทย ก็ย่อมต้องการที่จะลดอำนาจของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเสมอ จนเหลือการกล่าวอ้างเพียงว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาชญากรรมการทำผิดทางกฎหมายทั่วไป โดยไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการเจรจาสันติภาพแต่อย่างใด"

ในการเสวนาเครือข่ายองค์กรประชาสังคมกับกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ที่วิทยาลัยชุมชุมชน จ.นราธิวาส ในวันนี้ นายนัจมุดีน อูมา อดีต สส. จังหวัดนราธิวาส ให้ทรรศนะว่า ในการดำเนินกระบวนการสร้างสันติภาพให้บรรลุผลนั้น ต้องมีตัวกลางที่มีศักยภาพ แต่ฝ่ายไทยและมาราปาตานีมีเพียงผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น โดยได้ยกตัวอย่างการเจรจาสันติภาพระหว่างไอร์แลนด์เหนือและอังกฤษที่มีนายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีเป็นตัวกลางที่มีศักยภาพ

“เพราะนายบิล คลินตัน มีเชื้อสายไอริช และเป็นบุคคลที่โลกยอมรับ จึงสามารถนำสู่กระบวนการสันติภาพได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดสันติภาพได้จริง ซึ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเจรจาสันติภาพที่จะเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีคนกลาง แต่ทุกวันนี้ ยังไม่มีคนกลาง หรือตัวกลางที่มีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับ” นายนัจมุดีน กล่าว

รพี มามะ จากนราธิวาส มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง