ประยุทธ์ ยังไม่เลือกร่วมพรรคใด หลัง 4 รัฐมนตรีพลังประชารัฐลาออกแล้ว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.01.29
กรุงเทพฯ
190129-TH-prayuth-800.jpg พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 29 มกราคม 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตนเองยังไม่เลือกร่วมพรรคการเมืองพรรคใด หลังจากที่รัฐมนตรี 4 คน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแสดงความประสงค์ว่าจะหนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ได้ยื่นใบลาออกเพื่อลงทำงานการเมืองแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ในช่วงวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคเปิดเผยบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค ตนเองจึงจะเปิดเผยว่า ตัดสินใจร่วมงานกับพรรคการเมืองพรรคใด

“ในส่วนของการตัดสินใจทางการเมืองผม ต้องรอเขามาเชิญผมก่อน เมื่อเชิญผมมาแล้ว ก็ต้องมีเวลาเอานโยบายเขามาศึกษา ว่านโยบายแต่ละนโยบาย ผมรับได้ไหม ถ้าจะมีการเสนอชื่อนายกในช่วงวันที่ 4-8 (กุมภาพันธ์ 2562) ผมก็จะพิจารณาช่วงนั้นแหละ ก็จะรู้กันตอนนั้นแหละ ว่าอยู่หรือไม่อยู่ ผมต้องรอบคอบในการตัดสินใจของผม” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

โดยเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า หากมีพรรคเชิญให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะอยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า หากร่วมงานกับพรรคก็จะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี 3 คน ที่พรรคทุกพรรคจะต้องเสนอ

“ถ้าอยู่ ก็ต้องอยู่ในบัญชีนายกฯ เดี๋ยวจะมาวุ่นวายว่า นายกฯคนนอกนายกฯคนใน ถ้าอยู่ก็อยู่ในรายชื่อแหละ” นายกรัฐมนตรี ระบุ

นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ตนจะไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อทำหน้าที่แบบรักษาการในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งนี้

“ผมลาออกแล้วใครจะทำ ไม่ออก เป็นนายกฯอยู่นี่แหละ กฏหมายเขาไม่ให้ออก ก็ไม่ให้ออก คสช. อยู่ถึงเมื่อไหร่ (มี ครม.ใหม่-นักข่าวตอบ) นั่นแหละอย่ามาถามผมซ้ำ ผมคงลาออกไม่ได้อยู่แล้วแหละ การเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ช่วงเช้าในวันเดียวกันนี้ รัฐมนตรี 4 คน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าพรรคฯ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรองหัวหน้าพรรคฯ  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเลขาธิการพรรคฯ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสํานักนายกรัฐมนตรี และโฆษกพรรคฯ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนการประชุม ครม. เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี โดยการลาออกจากมีผลในวันพุธนี้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการแระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งครั้งนี้ เพื่อการทำงานการเมืองและการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้เต็มตัว

“ในวันนั้นที่พูดไว้ เราเป็นรัฐมนตรี มีความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ ได้ปฏิบัติตัวตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ และทำตามกฎเกณฑ์กติกาจนมาถึงวันนี้ ซึ่งเราได้คุยกันแล้วว่า น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม เราจึงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อไปทำงานกับพรรคพลังประชารัฐ เต็มตัวมุ่งสู่การเลือกตั้ง” นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบตั้งแต่ต้นแล้วเกี่ยวกับแนวทางการทำงานของทั้ง 4 รัฐมนตรี และได้อวยพรให้ประสบความสำเร็จ และขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

สำหรับการลาออกของรัฐมนตรีทั้ง 4 ราย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า จะไม่กระทบกับคณะรัฐมนตรี และจะไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีหลังจากนี้

“ก็คงไม่มีปัญหาหรอกรัฐบาลนี้ทำงานต่อไปได้ 3 กระทรวงก็มีรัฐมนตรีช่วยฯ อยู่แล้ว ถ้าไม่มีรัฐมนตรีช่วยฯ ก็ต้องดูระเบียบเพิ่มเติมกำหนดไว้แล้วถ้ารัฐมนตรีไม่อยู่ รัฐมนตรีไหนไปทำรักษาการแทน... อย่างไรก็ตามเราก็มีกลไกในแต่ละกระทรวงอยู่แล้ว คงทำงานต่อไปได้ และการปรับ ครม. ก็ไม่มีนโยบายแน่นอน” นายกรัฐมนตรีระบุ

ขณะเดียวกัน นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงการลาออกของรัฐมนตรีทั้ง 4 คนว่า รัฐมนตรีทั้งหมดควรจะลาออกตั้งนานแล้ว หากต้องการแสดงความชัดเจนที่จะทำงานการเมืองผ่านพรรคการเมือง ขณะเดียวกัน ครม. และ คสช. ก็ควรยุติบทบาทด้วยเช่นกัน

“รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ควรจะลาออกตั้งนานแล้ว ตอนลาออกก็บอกเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง แต่ควรจะลาออกตั้งแต่บอกว่าเป็นส่วนนึงของพรรคแล้ว มันไม่ใช่เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่เลย เป็นการแสดงออกที่ช้าไปซะด้วยซ้ำ” นายฐิติพล กล่าว

“คสช. ควรยุติบทบาทไปได้แล้ว เพราะเรากำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง เพราะการมี คสช. มันทำให้มีพรรคที่ได้เปรียบ และส่งผลต่อเสรีภาพในการหาเสียงเลือกตั้ง คสช.ยุติบทบาท พลเอกประยุทธ์ ก็จะยุติไปด้วยโดยอัตโนมัติ รัฐบาลควรจะเป็นรัฐบาลรักษาการ การที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเต็มก็สร้างความไม่เป็นธรรม กับพรรคคู่แข่งอื่น เพราะมีกระแสที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า แล้วพลเอกประยุทธ์จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 กกต. ลงมติให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และให้วันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 โดยพรรคการเมืองจะส่งรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย โดยจะประกาศรายชื่อผู้สมัครในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง