นายกฯ เมินผลโพล “หญิงหน่อย” ท็อปตำแหน่งนายก

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.11.26
กรุงเทพฯ
181126-TH-prayuth-800.jpg พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบปะพี่น้องประชาชน ที่ตลาดมีนบุรี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561
ภาพจาก ทำเนียบรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกับสื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ กรณีนิด้าโพล ระบุผลสำรวจประชาชนอยากให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด นำหน้าพล.อ.ประยุทธ์ ว่า ผลโพลที่ออกมานั้นไม่ใช่ความเห็นของประชาชนทั้งหมด ต้องไปดูที่เป้าหมายการทำโพล การตั้งคำถาม และกลุ่มเป้าหมายที่สำรวจ จะทำให้คำตอบเป็นอย่างไรก็ได้

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เว็ปไซด์ นิด้าโพล เปิดเผยผลการสอบถามความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่5)” โดยทำการสำรวจประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งหมด 1,260 หน่วยตัวอย่าง ทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 20-22 พฤศจิกายน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 25.16 อยากให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ตามมาด้วย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 24.05  นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 14.52  และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ11.67

“สิ่งที่ได้มามันไม่ใช่ได้มาจากคนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ ทำโพลมาแค่พัน สองพัน สามพันคน มันไม่ได้อะไรหรอก วันข้างหน้าก็พลิกไปทุกทีแหละ ต้องไปดูเป้าหมายว่าทำโพลเพื่ออะไร บางครั้งการทำโพลก็มีอะไรเบื้องหลัง ดังนั้น ผมไม่ได้รู้สึกอะไร ผมเชื่อมั่นในประชาชนมากกว่า ว่าประชาชนคิดอย่างไร ประชาชนเรียนรู้ไปมากพอสมควรแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า นิด้าโพลสำรวจความเห็นประชาชนแค่ 1,200 คน แต่ประชาชนทั้งประเทศมี 70 ล้านคน จะนำผลที่ได้มาประเมินได้อย่างไร พร้อมระบุว่า คสช. ไม่ได้หวั่นไหวกับผลโพลดังกล่าว

โค้งสุดท้าย ย้ายพรรค

ในวันนี้ เป็นวันสุดท้ายของนักการเมืองที่ต้องการลงสู่สนามเลือกตั้ง ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ต้องสังกัดพรรคการเมืองตามกรอบเวลา 90 วัน หลายฝ่ายจับตามองไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติว่า จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดหรือไม่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังย้ำชัดเจนว่า ตนมีความสนใจทางการเมือง เพราะทำงานการเมืองอยู่ จึงสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในประเทศไทยบ้าง จะเป็นไปตามแผนบริหารงานตามยุทธศาสตร์และแผนแม่บทหรือไม่ แต่ตนจะไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ ทั้งนั้น และวันนี้ ยังไม่มีพรรคการเมืองใดเข้ามาทาบทามให้เป็นสมาชิกพรรคฯ

“ผมถามแล้ว ฝ่ายกฎหมายบอกผมว่า ผมไม่ต้องสมัครอะไรทั้งนั้น... ขอตอบเลยว่า ไม่จำเป็นต้องไปสมัครกับพรรคการเมืองใด การทาบทามก็เป็นเรื่องการทาบทาม แต่วันนี้ ยังไม่มีการทาบทามเลยสักพรรค” นายกฯ กล่าว

“ถ้าใครทาบทามมา ผมก็จะตัดสินใจ แต่ถ้าไม่มีใครทาบทาม ก็ไม่เอา เขามีกำหนดเมื่อไหร่ ให้ทาบทามเมื่อไหร่ ให้เสนอชื่อนายกฯ เมื่อไหร่ คำตอบก็คือเมื่อนั้นแหละ แล้วผมจะรับหรือเปล่ายังไม่รู้เลย ดูใจผมก่อนว่าสิ่งที่เขาจะมาขอตรงกับใจหรือไม่ ตรงกับความคิดผมหรือเปล่า” นายก กล่าวเพิ่มเติม

ในขณะที่อดีตนักการเมือง อดีตรัฐมนตรี คนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง ต่างทยอยเข้าสังกัดพรรคการเมือง โดยพรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุด เชื่อว่าน่าจะได้เป็นพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า มีอดีต สส. จากพรรคเพื่อไทย ย้ายเข้าสังกัดพรรคฯ อาทิ กลุ่มของนายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย นายนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ ลูกชายนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากพรรคเพื่อไทยที่ถูกจำคุกในคดีทุจริตจำนำข้าวอยู่ในขณะนี้ กลุ่มของนายอำนวย คลังผา อดีตสส. ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ตระกูลอัศวเหม รวมถึงอดีต สส.จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ด้วยเช่นกัน

นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิน ชินวัตร ประกาศผ่านเฟสบุ๊คว่าได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว และยังได้โพสต์ข้อความตำหนิ อดีต สส. ที่ย้ายออกจากพรรคเพื่อไทยไปสังกัดพรรคฯ อื่น ว่าเป็นคนละทิ้งอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

“จอมยุทธ์(ดูด)ทางการเมือง ป่าวประกาศไว้ว่า...ใครย้ายขั้วไปอยู่กับเขา นอกจากจะได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ผู้สมัครก็จะไม่โดนใบแดงใบส้ม มีงบลงพื้นที่อย่างล้นเหลือ ได้เป็นรัฐบาลไม่ต้องกลัวอดอยากปากแห้ง และคดีความทั้งหมดของตัวเองและครอบครัวก็จะหลุดพ้นด้วย... ในวันที่หลายคน มีความจำเป็นที่จะต้อง “ไหลออก” เพื่อรักษาอนาคตของตัวเอง และชีวิตครอบครัวเอาไว้ ในวันที่บางคน เห็นอามิสสำคัญกว่าศรัทธาและอุดมการณ์” นายพานทองแท้ โพสต์ลงเฟสบุ๊คส่วนตัว

นักวิชาการชี้ ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แน่

นายอุเชนทร์ เชียงเสน สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250  เสียง ที่ คสช. เลือกมานั้น มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เมื่อรวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนทหารอีกเพียงร้อยกว่าเสียงก็จะได้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป

"ประยุทธ์ ไม่ประกาศ แต่ทุกอย่างก็ชัดเจนอยู่แล้ว ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แน่... กติกาปกติ ส.ส. ต้องเสนอสามชื่อ แต่ในบทเฉพาะกาล คนที่ถูกเสนอเป็นนายกฯ จะเป็นใครก็ได้ ในบัญชีก็ได้ นอกบัญชีก็ได้" นายอุเชนทร์กล่าว

ขณะที่ นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การย้ายพรรคของนักการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มต่างๆ ต้องการสร้างเสถียรภาพให้กับทหารเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป ด้วยเหตุผลทางธุรกิจหรือข้อเสนอต่างๆ ที่อาจได้รับ

“การที่ คสช. ยืนยันที่จะกำจัดทักษิณออกจากการเมือง ผมมองว่าตรงนี้ ส.ส. หลายคนมีชนักติดหลัง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า มีเงื่อนไขอื่นๆ หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือการสร้างเสถียรภาพให้ทหาร เพราะถ้าเพื่อไทยได้เสียงมาก ก็ยากที่จะปกครอง เขาต้องการอีกแค่ 126 เสียง มีโอกาสค่อนข้างสูง เพราะไม่ใช่แค่พลังประชารัฐอย่างเดียว เพราะประชาธิปัตย์ ก็มีแนวโน้มจะไปสูง ผมว่า ไม่เกินกำลังทหารหลังการเลือกตั้ง เพราะตอนนี้ เขาใช้กลไกกฎหมาย ดึง ส.ส. มาค่อนข้างที่เยอะ” นายฐิติพล กล่าว

ประยุทธ์เตรียมพบนักการเมือง 7 ธ.ค. นี้

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวถึงผลการประชุม คสช. ว่าได้มีการหารือในประเด็นที่จะร่วมพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ ในวันที่ 7 ธันวาคม นี้ ซึ่งจะเป็นการพบปะเพื่อรับฟังความคิดเห็น ชี้แจง และทำความเข้าใจในขั้นตอนข้อกฎหมายต่างๆ ว่าสิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้

“หลัง คสช. คุยกับพรรคการเมืองเสร็จ ก็น่าจะได้คำตอบชัดเจนเกี่ยวกับการปลดล็อคให้พรรคการเมือง เราก็จะพยายามปลดล็อคให้เร็วที่สุด ขอให้เข้าใจตรงนี้ จากนั้นก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติตามกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพระราชกฤษฎีกาต่างๆ เรื่องการหาเสียงต่างๆ เป็นเรื่องของ กกต. ส่วน คสช. รับผิดชอบเฉพาะเรื่องปลดล็อค” นายกฯ ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง