นักเคลื่อนไหวไทยที่หลบหนีในสปป.ลาว โยงกลุ่มต้านกษัตริย์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ ภิมุข รักขนาม
2018.09.17
กรุงเทพฯ
180917-TH-federation-622.jpeg หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานข่าวการคุมตัวคนขายเสื้อยืดสีดำพร้อมตราสัญลักษณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเชื่อมโยงกับองค์การสหพันธรัฐไท วันที่ 11กันยายน 2561 ในกรุงเทพฯ
เอพี

เจ้าหน้าที่รัฐและนักวิเคราะห์กล่าวว่า นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทยคนหนึ่งที่เกือบไม่มีใครรู้จักเป็นผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการล้มเจ้า ซึ่งผนึกกำลังกับบรรดาผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถูกห้ามดำเนินการและยุบพรรคไปแล้ว

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและหัวหน้าคณะรัฐบาลจากการรัฐประหารชี้แจงเหตุผลในการจับกุมบุคคล 4 ราย ที่เป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวที่เรียกตัวเองว่า องค์การสหพันธรัฐไท

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการดำเนินการของกลุ่มดังกล่าวว่า เข้าข่ายกบฏ โดยมีความพยายามที่จะ “ส่งเสริมการปกครองแบบสหพันธรัฐและล้มล้างสถาบันกษัตริย์”

เจ้าหน้าที่และนักสังเกตการณ์ทางการเมืองกล่าวว่า นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ได้ริเริ่มขบวนการเคลื่อนไหวนี้โดยได้รับแรงสนับสนุนจากนายสุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และนายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือ “โกตี๋” ผู้สนับสนุนอดีตพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร

"ชูชีพ สมคบกับคอมมิวนิสต์เก่าอย่างสุรชัย แซ่ด่าน พวกแดงฮาร์ดคอร์แบบโกตี๋ และพวกหนุนระบอบทักษิณ ในแนวคิดสหพันธรัฐ" เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ข้อมูลเกี่ยวกับองค์การสหพันธรัฐไท หรือนายชูชีพมีอยู่ไม่มากนัก แต่ดูเหมือนว่า นายชูชีพเป็นผู้ก่อตั้งองค์การดังกล่าว และใช้นามแฝงทางออนไลน์ว่า ลุงสนามหลวง ซึ่งหมายถึงท้องสนามหลวงที่ติดกับพระบรมมหาราชวังและเป็นพื้นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ

พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ เชื่อว่านายชูชีพปฏิบัติการอยู่ในสปป.ลาว และระบุไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ทางกรุงเทพฯ ได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของสปป.ลาวในการจับกุมตัวนายชูชีพแล้ว

รองนายกฯ กล่าวต่อไปว่า ตนไม่มีข้อมูลใด ๆ ว่าพรรคการเมืองไทยอยู่เบื้องหลังกลุ่มดังกล่าว

“มันมาจากแหล่งเดียวที่ฝั่งลาว แล้วก็มีเครือข่ายอยู่ในไทย ” พล.อ.ประวิตรกล่าว “อย่างนี้เป็นกบฎ” 

พล.ต. ปิยะพงษ์ กลิ่นพันธุ์ โฆษกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของคณะรัฐบาลทหารได้กล่าวปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ อสสท. อย่างไรก็ตาม พล.อ. ประยุทธ์ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวไว้เมื่อวันที่ 11 กันยายนว่า เจ้าหน้าที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนความเชื่อมโยงกับกลุ่มดังกล่าว

"ถามหน่อยว่า คำว่าสมาพันธรัฐไท มันถูกกฎหมายไหม ตามรัฐธรรมนูญคือประเทศไทยใช่ไหมล่ะ แล้วความหมายของสหพันธรัฐคืออะไร มันล้มระบอบการปกครองหรือเปล่าเนี่ย มันเข้าข้อหากบฏหรือเปล่า อั้งยี่ ซ่องโจรหรือเปล่า” นายกฯ กล่าว

ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองกล่าวตำหนิรัฐบาลว่า การกวาดล้างครั้งนี้เป็นการกระทำเกินเหตุ

หนึ่งในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมคือ นางวรรณภา คำพิพจน์ วัย 30 ปี ซึ่งถูกควบคุมตัวในข้อหาแจกเสื้อส่งเสริมขบวนการที่มุ่งล้มล้างระบบการปกครองในปัจจุบัน เสื้อยืดสีดำดังกล่าวมีตราสัญลักษณ์ประจำกลุ่มเป็นธงขนาดจิ๋วสีแดงและขาว

ทนายความของนางวรรณภาบอกว่าเธอปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

นายแพทย์ เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ซึ่งสนับสนุนตระกูลชินวัตร บอกกับหนังสือพิมพ์เนชั่นในสัปดาห์ก่อนว่า รัฐบาลกำลังเร่งเร้าสถานการณ์ เพราะอาจหวังผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง ส่วนบุคคลอื่น ๆ ให้ความเห็นว่า การกวาดล้างครั้งนี้กลับช่วยส่งเสริมให้คนไทยรู้จักองค์การนี้มากขึ้น

“ที่จริงแล้ว กลุ่มนี้ไม่มีพลังอำนาจแม้แต่น้อย” หมอเหวงกล่าว “องค์การนี้ไม่มีน้ำยาอะไรจริง ๆ รัฐบาลทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ไปเอง”

ยกโขยงละทิ้งอุดมการณ์

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มมีบทบาทตั้งแต่ปี 2485 จนถึงช่วงปี 2533 พอถึงปี 2520 รายงานต่าง ๆ ประมาณกันว่ามีนักต่อสู้ราว ๆ 6,000 ถึง 8,000 คน แต่ในช่วงต้นปี 2523 สมาชิกจำนวนมากละทิ้งอุดมการณ์เมื่อรัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมให้สมาชิกของพรรค

นายชูชีพได้อธิบายไว้ในช่องยูทูบของตนว่า การปกครองแบบสหพันธ์เป็นระบอบที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก “เพราะมอบความเสมอภาคให้ประชาชนโดยผ่านการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปยังรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาค แทนที่จะรวมอำนาจไว้เพื่อผูกขาดงบประมาณ อันทำให้เกิดการคอร์รัปชัน”

เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่อขอความเห็นจากผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนนายชูชีพได้ ซึ่งรวมถึงนายสุรชัย วัย 75 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช นายสุรชัยได้รับคำพิพากษาว่ากระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปี 2551 และ 2553 และต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี 2556

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองรายหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า นายศิธา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า นายชูชีพแสดงบทบาทต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อเริ่มโจมตี นายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำมวลชนออกชุมนุมบนท้องถนนเพื่อขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรก่อนที่จะเกิดรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2549

นายศิธากล่าวเสริมว่า อดีตพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งถูกทหารยึดอำนาจไป ได้หลบหนีไปพำนักในประเทศต่าง ๆ หลังจากนั้น นายชูชีพก็เดินทางออกนอกประเทศไปยังประเทศอังกฤษหรือฝรั่งเศสก่อนหลบหนีเข้าไปในสปป.ลาว เจ้าหน้าที่ได้บอกกับ เบนาร์นิวส์ ว่า ผู้สนับสนุนอีกคนหนึ่งคือนายวุฒิพงษ์ก็หลบหนีไปยังประเทศลาวด้วยเช่นกัน

ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการตัดสินใจของรัฐบาลที่สั่งให้มีการกวาดล้าง อสสท. ว่า

ไม่ว่าจะจับอะไร หรือใคร เป็นการแสดงอำนาจของ คสช. อีกส่วนนึง มันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการถึงขนาดนั้น เพราะ การเคลื่อนไหวบางอย่างไม่ได้สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐไทย...” ดร. ฐิติพลกล่าว “แต่สำหรับทหาร ทุกอย่างถูกตีความว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ไปหมด”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง