กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ: ไทย 'ก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์' สู่ความเป็นประชาธิปไตย
2019.07.26
วอชิงตัน

ขณะที่นายไมค์ ปอมเปโอกำลังเตรียมตัวเดินทางไปประเทศไทยในสัปดาห์หน้า เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ออกมาระบุว่า ในปี 2562 ไทย “มีความก้าวหน้าอย่างชัดแจ้งขึ้น” ในการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
นายปอมเปโอ จะเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ และนับเป็นการเยือนไทยเป็นครั้งแรกของเขา ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เขาจะเข้าร่วมการประชุมในระดับรัฐมนตรีของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมทั้งพบปะหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลใหม่ของไทย
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ความคลี่คลายจากรัฐประหารในปี 2557 ไปสู่การรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการนั้น นับเป็นความก้าวหน้าอย่างเป็นที่ประจักษ์” และ “เราสามารถที่จะทำงานร่วมกันกับประเทศต่าง ๆ ในแง่มุมของประชาธิปไตย และเราก็รอที่จะทำงานร่วมกับประเทศไทยในด้านนี้อยู่”
เจ้าหน้าที่ที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อ ได้เผยข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการเดินทางไปประเทศไทยของ นายปอมเปโอ ผ่านการประชุมทางไกลผ่านโทรศัพท์จากกรุงวอชิงตัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย หลังจากได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อปี 2557 ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยอีกครั้ง โดยสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของไทย หลังจากว่างเว้นมานานถึง 8 ปี
แม้จะดูเหมือนว่า ไทยกำลังมุ่งหน้าสู่ประชาธิปไตย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงสืบทอดกฎหมายบางประการ โดยออกมาจากคำสั่งของรัฐบาลทหารชุดก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำสั่งที่ให้ควบคุมตัวคนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง และให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมบุคคลได้ โดยไม่ต้องมีหมายจับ
กลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มออกมาคัดค้านการสืบทอดอำนาจเหล่านี้ และก็แสดงข้อกังขาว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยจริงหรือ รวมทั้งระบุด้วยว่า ประเทศมหาอำนาจตะวันตกไม่ได้พยายามบีบให้ไทยเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยอย่างจริงจัง
“ดูเหมือนว่า ผู้บริหารรัฐในวอชิงตัน และบรัสเซลส์ จะไม่ใส่ใจปัญหาที่ว่า ประชาธิปไตยของไทยตอนนี้เป็นเรื่องจอมปลอม และมุ่งฟื้นฟูความช่วยเหลือทั้งด้านการทหารและเศรษฐกิจที่ถูกระงับไปก่อนหน้า เพียงเพราะว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค” จอห์น ซิฟทัน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว
“ที่จริงแล้ว เพื่อน ๆ ของประเทศไทยควรจะเดินหน้ากดดันต่อไป แทนที่จะผ่อนปรน เพื่อให้ฝ่ายทหารของไทยเคารพในสิทธิมนุษยชน รวมทั้งฟื้นฟูระเบียบปฏิบัติที่ส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การไม่ออกมาพูดถึงประเด็นนี้ ก็เหมือนกับการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น” นายซิฟตันสรุป
เกาหลีเหนือ และ ทะเลจีนใต้
นายปอมเปโอจะเข้าร่วมการประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) ในกรุงเทพฯ ที่จะมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีจาก 27 ประเทศเข้าหารือประเด็นความมั่นคงของภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือและความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ก่อนหน้านี้ คาดหมายกันว่านายปอมเปโอจะเข้าหารือกับ นายรี ยอง โฮ รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ ในระหว่างการประชุม ARF เพื่อลดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี แต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ก็มีรายงานว่า นายรี ยอง โฮจะไม่มากรุงเทพฯ
ในวันเดียวกัน เกาหลีเหนือก็ได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง โดยยิงขีปนาวุธพิสัยไกลไปตกในทะเลญี่ปุ่น ทางสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษระบุว่า ทางการเปียงยางแถลงว่า ยิงขีปนาวุธก็เพื่อ “เตือนอย่างจริงจัง” ต่อ “เหล่าผู้กระหายสงครามในเกาหลีใต้”
ระหว่างการแถลงข่าวผ่านระบบสื่อสารทางไกล เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ถูกซักถามจากนักข่าวว่า นายปอมเปโอยังจะหารือกับเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือคนอื่นในระหว่างการประชุม ARF หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ให้คำตอบเพียงว่า “คำถามนี้เคยถูกถามมาแล้ว และคำตอบก็ยังคงเป็นเช่นเดิม เราจะไม่เปิดเผยเกี่ยวการหารือทวีภาคีที่จะเกิดขึ้นในการประชุมนั้นมากไปกว่าที่ได้เคยให้ข้อมูลไปแล้ว”
ต่อมา สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิเสธเสียทีเดียวว่า การหารือระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือจะไม่เกิดขึ้น
นอกจากนายปอมเปโอจะเป็นประธานร่วมในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนในวันที่ 1 สิงหาคม ก็ยังจะเข้าร่วมการหารือกรอบข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative - LMI) กับไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม
LMI ก่อตั้งขึ้นหลังการประชุมในปี 2552 ระหว่าง นางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเป็น รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ขณะนั้น และ รมว.ต่างประเทศของกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน ด้านการสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ทะเลจีนใต้
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศทั้งหลาย คาดหมายว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้ จะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ ในระหว่างที่นายปอมเปโออยู่ที่กรุงเทพ ฯ
“ดูเหมือนเป็นประเด็นที่ทั้งภูมิภาคมีความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหารือเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติร่วมกัน และความปรารถนาที่จะทำให้แน่ใจว่าแนวปฏิบัติดังกล่าว เป็นไปในทิศทางเดียวกับกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ”
เจ้าหน้าที่ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าสหรัฐฯ สนใจที่จะเข้าร่วมในการประกันความมีเสถียรภาพในภูมิภาค อันเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ที่เรือประมงอวนลากของจีนพุ่งชนเรือประมงฟิลิปปินส์ ในบริเวณที่เรียกว่า เรคโตแบงก์ ในทะเลจีนใต้ เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน
เจ้าหน้าที่ระบุว่าประเด็นที่ทำให้ฟิลิปปินส์ไม่พอใจอย่างยิ่งนี้ รวมทั้งการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ และความขัดแย้งอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ด้านสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค “และเมื่อเราจะมุ่งสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเด็นทะเลจีนใต้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ละเลยไม่ได้”
นอกจากนี้ ก็มีการคาดหมายว่า นายปอมเปโอจะเข้าพบหารือกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยอีกด้วย
“ความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทย เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว “ความร่วมมือในหลายด้านระหว่างประเทศของเรานั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ไม่เพียงเฉพาะกับเราทั้งสอง แต่รวมไปถึงระดับในและนอกภูมิภาคด้วย”
“ประเทศไทยแสดงบทบาทนำได้ดี ในการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เนื่องจากไทยเป็นภาคีพันธมิตรที่เนิ่นนานของสหรัฐฯ เราก็ชื่นชมและสนับสนุนไทยในความสำเร็จในบทบาทดังกล่าว”
หลังจากการประชุมในไทย นายปอมเปโอจะเดินทางไปยังประเทศออสเตรเลีย และไมโครนีเซียต่อไป