คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา สงขลา

นาซือเราะ
2016.06.03
สงขลา
TH-powerplant-1000 ชาวบ้านอำเภอเทพา สงขลา พร้อมด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์ (3 มิถุนายน 2559) นี้ ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่เพื่อรับทราบข้อเท็จจริง หลังจากเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ศูนย์ประสานงานหน่วยพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติ และเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกร้องขอให้ กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสม. เดินทางลงพื้นที่ในวันนี้ เพราะได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน โดยวันนี้ ได้เดินทางมาเพื่อตรวจสอบจุดก่อสร้างโครงการหลายจุด รวมทั้ง บริเวณท่าเรือน้ำลึก ซึ่งชาวบ้านมีความกังวลว่าการก่อสร้างโครงการ จะทำให้เกิดการกัดเซาะจนส่งผลกระทบ ซึ่งทุกปัญหาจะได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในอนาคตอาจมีการลงพื้นที่เพิ่มเติม

“ก็พบว่าที่นี่มีความสมบูรณ์อยู่ ชาวบ้านยังสามารถจับปลาด้วยมือได้ หลังจากนี้ ก็จะเรียกทุกฝ่ายมาให้ข้อมูล และอาจลงพื้นที่อีก ถ้ายังมีข้อสงสัย” นางอังคณากล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

นางเจะตีเมาะ มุนี ชาวอำเภอเทพา เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า โครงการส่งผลให้ชาวบ้านประมาณ 240 ครัวเรือน ต้องย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้าง และอนาคตของศาสนสถาน โรงเรียน อันได้แก่ มัสยิด 3 แห่ง กุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง โรงเรียนตาดีกา 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเนาะอีก 1 แห่ง ยังเป็นที่ไม่แน่นอน

“เขามาบอกว่าจะคงมัสยิดไว้เพื่ออนุรักษ์ ขอถามว่ามัสยิดเขาสร้างไว้เพื่อละหมาด ไม่ได้ประดับเพื่ออนุรักษ์ แล้วจะเอาไว้ทำไม ในเมื่อตรงนั้นจะไม่มีชุมชนแล้ว ทุกคนต้องย้าย แล้วใครจะมาละหมาดอีก” นางเจะตีเมาะ

นางเจะตีเมาะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านที่พยายามต่อต้านโครงการก่อสร้างนี้ เคยถูกข่มขู่ โดยนายมิด ชายเต็ม หนึ่งในผู้คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถูกนักการเมืองท้องถิ่น เข้ามาข่มขู่ มีการกระทืบประตูบ้าน และยิงปืนขึ้นฟ้า ซึ่งตอนนี้ คดียังไม่มีความคืบหน้า

ด้านพระทวี ปลนนจิตโต เจ้าอาวาสวัดป่าปากบางเทพาราม ที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการให้ข้อมูลว่า ทางวัดไม่ได้สนับสนุนหรือคัดค้านโครงการ แต่ได้รับข้อมูลที่สับสน

“วัดไม่ต่อต้าน ไม่สนับสนุน แล้วแต่ชาวบ้านเขาจะเอายังไง ส่วนเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าก็เข้ามาให้ข้อมูล บางกลุ่มบอกว่าจะขอพัฒนาวัด ไม่เอาวัดออก ในขณะที่อีกกลุ่ม ซึ่งก็มาจากการไฟฟ้าเหมือนกัน ก็บอกให้ออกไปจากที่นี่ ถ้าไม่ย้ายจะมีปัญหา” พระทวีกล่าว

นางมารีเยาะ สมาน ชาว อ.เทพา เปิดเผยว่า ทะเลเทพายังมีความสมบูรณ์อยู่บ้าง ไม่ได้เสื่อมโทรมเหมือนอย่างที่คนบางกลุ่มกล่าวอ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

“ทุกวันนี้ จับปลากับมือ เมื่อวานได้ปลามาขายพันกว่าบาท ใครว่าที่นี่ไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่สมบูรณ์จริง ที่นี่จะมีปลาให้จับกับมือได้หรือ” นางมารีเยาะ กล่าว

รายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่มีมูลค่าโครงการราว 134,660 ล้านบาท เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ประกอบด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้าจำนวนสองเครื่อง กำลังผลิตติดตั้งเครื่องละ 1,100 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตติดตั้ง 2,200 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินประเภทซับบิทูมินัส หรือบิทูมินัส

ตามแผนการก่อสร้างโครงการ เครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าเครื่องที่ 1 จะก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบได้ ในปี 2564 จากนั้นในปี 2567 จะเริ่มใช้งานเครื่องที่สองได้

ขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติโครงการฯ ประมาณปลายปี 2559 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณเดือนเมษายน 2560 โดยใช้พื้นที่ประมาณ 2,960 ไร่ ใช้ถ่านหินในการเผาไหม้วันละ 23 ล้านกิโลกรัม ใช้น้ำทะเลในกระบวนผลิตวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้โครงการยังสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหินยื่นไปในทะเลถึง 3 กิโลเมตร ซึ่งประเด็นนี้เองทำให้ชาวบ้านกังวลว่า จะเกิดผลกระทบกับวิถีประมงพื้นบ้าน และส่งผลเสียรุนแรงต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีวัฒนธรรมชุมชน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง