ศาลรัฐธรรมนูญลงมติ ประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
2019.09.18
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้มีตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง จนได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง จึงไม่สิ้นสุดลงตามที่มีผู้ร้องเรียน
ในคดีนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 110 คน เข้าชื่อและยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เหตุเพราะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตา 170 วรรค3 ประกอบมาตร 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค1 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และ มาตรา 98 (15) หรือไม่
ในช่วงบ่ายของวันพุธนี้ ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีดังกล่าว โดยศาลฯ กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ได้ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 และต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน เห็นได้ว่า การแต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผลมาจากยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งซึ่งใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยเห็นได้จากการออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หรือการกำกับดูแลของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐใด
ทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มา หรือการเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชน
ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงไม่มีสถานะ ตำแหน่ง หน้าที่ หรือลักษณะงาน ทำนองเดียวกันกับพนักงาน หรือ ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98 (15) ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่า การเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เพราะเหตุเป็นหน้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15)
“ที่ประชุมได้ปรึกษาหารือกันแล้วได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1 (4) ประกอบกับมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (5)” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อ่านมติที่ประชุมต่อหน้าผู้ร้อง และ ผู้ถูกร้อง ในห้องพิจารณา
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่รัฐสภา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ว่ายังไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว แต่ก็เคารพในคำวินิจฉัยของศาล
“ยังไม่รู้เลย ไม่รู้เรื่อง แล้วเชื่อศาลและเคารพศาลหรือไม่ ก็เป็นไปอย่างนั้นแหละ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ศึกซักฟอก ปมถวายสัตย์ฯ
ในช่วงเช้า มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน รวมถึงการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่ไม่มีการชี้แจงแหล่งที่มางบประมาณ
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้เปิดประเด็นดังกล่าวเมื่อวันแถลงนโยบาย ได้อภิปรายกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบว่า เป็นโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ พร้อมจี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขอพระบรมราชานุญาตถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ หรือ ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
"การที่นายกรัฐมนตรี กล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบ เป็นธรรมดาที่จะทำให้ประชาชนสงสัยว่า ท่านจะเข้ารับหน้าที่โดยไม่รักษาไว้ และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นี่เป็นพฤติกรรมของคนที่ไม่เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ยึดมั่น มองแต่ว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการปกครองของท่านเท่านั้น” นายปิยบุตร กล่าว
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม ชี้แจงแทนในประเด็นถวายสัตย์ฯ ก่อนจะเดินทางออกจากรัฐสภา เพื่อไปร่วมพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
“เดี๋ยวมีคนชี้แจง ผมให้แนวทางชี้แจงไปแล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ชี้แจง” พล.อ.ประยุทธ์ ตอบผู้สื่อข่าวสั้นๆ
ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม ได้ลุกขึ้นชี้แจงในประเด็นดังกล่าวยืนยันว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญในแต่ละมาตรา ซึ่งแสดงเจตนารมณ์การถวายสัตย์ปฏิญาณ ต้องการยืนยันผู้ใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 คือ พระมหากษัตริย์ นี่ไม่ใช่หลักราชาธิปไตย ถามใครเป็นคนไว้วางใจ คนไว้วางใจ คือพระมหากษัตริย์ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี
“การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยระบุว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์การใดตามรัฐธรรมนูญ แปลว่า ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบไม่ได้ และชี้ไม่ได้ว่าถูกหรือผิด... รัฐบาลมีหน้าที่เดียวคือก้มหน้าก้มตาปฏิบัติงานด้วยกำลังใจ และมุ่งมั่นปฏิบัติให้เป็นไปตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณตามพระบรมราโชวาท และพรที่พระราชทานลงมา” นายวิษณุกล่าว