นายกฯ เตือนชุมนุม 19-20 ก.ย. ระวังโควิด-19 ระบาดรอบสอง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.09.17
กรุงเทพฯ
200917-TH-protest-1000.jpg ผู้ชุมนุมแต่งกายเป็นซุปเปอร์แมน ชูป้ายประท้วงต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 3 สิงหาคม 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ เตือนประชาชนที่จะจัดการชุมนุมในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 นี้ ให้ระวังจะเป็นความเสี่ยงในการทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ตกต่ำให้เลวร้ายลงไปอีก และขอให้ผู้ประท้วงวางมือเรื่องการเมืองไว้ก่อน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเตือนเกี่ยวกับการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร์” ของประชาชนที่จะจัดขึ้น ในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ว่า อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ ทั้งเรื่องสุขภาพ และเศรษฐกิจ

“การชุมนุมจะทำให้การฟื้นเศรษฐกิจเกิดการล่าช้า เพราะจะทำลายความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ และสร้างความลังเลใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะมาเมืองไทย เมื่อถึงเวลาที่เราพร้อมจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง การชุมนุมจะสร้างความวุ่นวายในประเทศ และทำลายสมาธิการทำงานของภาครัฐในการจัดการกับโควิด และปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน จึงอยากขอให้เราเอาชนะโควิด และผ่านวิกฤตโลกครั้งนี้ไปด้วยกันให้ได้ก่อน หลังจากนั้นเราค่อยกลับมาที่เรื่องการเมือง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“การจุดชนวนการแพร่ระบาดโควิด ให้เสี่ยงที่จะลุกโชนขึ้นมาอีก นั่นจะส่งผลกระทบที่เลวร้าย และทวีคูณปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ไปสู่ระดับที่เรายังไม่เคยเจอมาก่อน ผมขอให้ทุกท่านคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก… เรากำลังเดินเข้าสู่ช่วงเวลาที่จะยิ่งยากลำบากมากขึ้น เราจึงควรวางเรื่องการเมืองเอาไว้ก่อน แล้วจับมือร่วมแรงร่วมใจกัน ผ่านพ้นความยากลำบากที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในประวัติศาสตร์โลกไปให้ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายอานนท์ นำภา แกนนำการประท้วงคนสำคัญ กล่าวทางเฟซบุ๊กว่า “รัฐธรรมนูญจะได้แก้มั้ย ผมว่าต้องดูจำนวนคนร่วมชุมนุม วันที่ 19 กันยายนนี้ ด้วย การตื่นตัวทางการเมืองครั้งนี้จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ น่าระทึกใจจริง ๆ”

ทั้งนี้ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือวิทยุในราชการศูนย์ปฎิบัติการตำรวจ เลขที่ 0007.33/160 ลงวันที่ 16 กันยายน 2563 ถึงตำรวจสังกัดตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร และตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนกองร้อยควบคุมฝูงชน เพื่อปฎิบัติภารกิจการรักษาความปลอดภัยและรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุม

“ให้หน่วยงานจัดกำลังควบคุมฝูงชนพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ประจำกาย สนับสนุน บช.น. โดยมีบัญชีรายชื่อที่ใช้ยอดกำลังพล ดังต่อไปนี้ ตชด. จำนวน 9 กองร้อย, ภ.1 จำนวน 10 กองร้อย, ภ.2 จำนวน 7 กองร้อย, ภ.3 จำนวน 6 กองร้อย, ภ.4 จำนวน 6 กองร้อย, ภ.5 จำนวน 1 กองร้อย, ภ.6 จำนวน 8 กองร้อย, ภ.7 จำนวน 8 กองร้อย, และ ภ.8 จำนวน 2 กองร้อย รวมทั้งหมด 57 กองร้อย กว่า 8,550 นาย” หนังสือวิทยุฯ ดังกล่าวระบุ

ขณะที่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ระบุว่า จะใช้เตรียมแผน “กรกฎ 52” เป็นแผนปฏิบัติการกับผู้ชุมนุม โดย มีขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการ คือ การตั้งหน่วยเฉพาะกิจ เตรียมกำลังและซักซ้อม รวมถึงดำเนินการมวลชนสัมพันธ์ ขั้นตอนที่ 2 การเผชิญเหตุ คือ ดูแลความสงบเรียบร้อย หรือระงับเหตุระหว่างการชุมนุม รักษากฎหมาย ถ่ายภาพนิ่ง และประชาสัมพันธ์ว่าผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมายเรื่องใด

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อสถานการณ์วิกฤต และจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ คือ เจ้าหน้าที่จะใช้กำลังได้ ถ้าเจรจาต่อรองไม่สำเร็จ และมีการกระทำผิดกฎหมายชัดเจน โดยเริ่มจากปฏิบัติการมือเปล่า ถึงใช้อาวุธไม่อันตราย กระทั่งถ้าสถานการณ์รุนแรง จะมีการประกาศกฎอัยการศึก และใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ และ ขั้นตอนที่ 4 การฟื้นฟู คือ การดำเนินการสอบสวน และเข้าบำรุงรักษาทรัพย์สินราชการ

โดยในวันพฤหัสบดีนี้ พ.ต.อ.วัชรวีร์ ธรรมเสมา ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 เปิดเผยว่า เบื้องต้น ทำเนียบรัฐบาลจะเคลื่อนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น โดยเฉพาะเอกสารทางราชการที่สำคัญ รวมถึงเคลื่อนย้ายรถยนต์ที่จอดในทำเนียบฯ ออกจากทำเนียบรัฐบาล เป็นการชั่วคราวก่อน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้ตึก 20 ของทำเนียบฯ เป็นศูนย์บัญชาการสถานการณ์

สำหรับในวันพฤหัสบดีนี้ ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส ทั้งใน-นอกประเทศเพิ่ม ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,490 ราย และนับตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 2563 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย

โดยมีผู้ป่วยที่รักษาหายเพิ่มขึ้น 9 ราย กลับบ้านแล้ว 3,325 ราย และยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 107 ราย ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยจากสื่อในประเทศเมียนมาว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม - ปัจจุบัน มีชาวเมียนมาที่ลักลอบเดินทางเข้าประเทศไทยและถูกจับกุมตัวแล้วอย่างน้อย 6,000 คน

ตำรวจค้นบ้านพัก ไผ่ ดาวดิน ยึดป้ายประท้วงปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ในวันเดียวกัน กลุ่มของ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ทั้งในและนอกเครื่องแบบ กว่า 20 คน ดำเนินการเข้าตรวจค้นบ้านพัก และยึดป้ายผ้าที่มีข้อความรณรงค์เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเตรียมไว้สำหรับการนำมาร่วมชุมนุม ในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่กรุงเทพฯ

"การกระทำดังกล่าวจัดเป็นการคุกคามประชาชนอย่างชัดเจน พวกเราเป็นนักศึกษาที่แสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพ ดังนั้น วันนี้มาคุกคามที่เป็นการสกัดกั้นการที่นักศึกษาจะไปร่วมชุมนุม ทำให้การเดินทางหรือการเข้าร่วมชุมนุมครั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นนั้น จะขอไม่เปิดเผย เพราะต้องถูกสกัดกั้นแน่นอน" นายนวพล ต้นงาม แกนนำกลุ่ม UNME ขอนแก่น กล่าวแก่สื่อมวลชน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็นการชุมนุมครั้งแรกหลังโควิด-19 ระบาด โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้รัฐบาลเลิกคุกคามประชาชน ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเรียกร้องครั้งดังกล่าว ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาจัดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในสถานการศึกษา และในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ

ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการปราศรัยใหญ่ และระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 มีการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยยึด 3 ข้อเรียกร้องเดิม เพิ่ม 2 จุดยืนคือ การไม่เอารัฐประหาร และรัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝันที่จะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

การเคลื่อนไหวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน มีผู้ร่วมปราศรัย ผู้ร่วมกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจับกุมตัวแล้ว 14 คน ตั้งแต่ได้รับประกันทั้งหมด โดยนายอานนท์ ถูกจับ 3 ครั้ง นายภานุพงศ์ ถูกจับ 2 ครั้ง และคนอื่น ๆ ถูกจับคนละ 1 ครั้ง กระทั่งนายอานนท์ และนายภานุพงศ์ ถูกถอนประกัน จนต้องถูกคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมาไม่นาน

และในวันที่ 19 กันยายน 2563 นี้มีการนัดชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในชื่อ “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร์” และในวันที่ 20 กันยายน 2563 จะมีการเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทำเนียบรัฐบาล

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง