ผู้ประท้วงรัฐบาลเผชิญแรงต้านกลุ่มอนุรักษ์นิยม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.10.14
กรุงเทพฯ
201014-TH-protesters-1000.jpg คณะราษฎรใหม่ ผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยหลายพันคน ระหว่างการชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเผชิญกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมในเสื้อเหลืองประกบสองข้างทาง กรุงเทพฯ วันที่ 14 ตุลาคม 2563
รอยเตอร์

ในวันพุธนี้ การประท้วงรัฐบาลของกลุ่มคณะราษฎรใหม่ เผชิญกับการต่อต้านการประท้วงจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มารอเฝ้ารับเสด็จขบวนรถพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ วัดพระรัตนศาสดาราม แต่ท้ายที่สุดสามารถยึดพื้นที่ข้างทำเนียบ เพื่อเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ กลุ่มคณะราษฎรได้รีบเข้ามาจับจองพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่ตอนเช้า เพราะเกรงว่าทางกลุ่มประชาชนเสื้อเหลืองจะจับจองพื้นที่ไปหมด จนไม่สามารถตั้งเวทีและเตรียมการเคลื่อนไหวได้ โดยในช่วงบ่ายได้มีการปะทะกันด้วยหมัดและเท้า รวมทั้ง มีการขว้างปาขวดน้ำเข้าหากัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามระงับเหตุ

นายอานนท์ นำภา ทนายความและแกนนำผู้ประท้วงคนสำคัญ ได้เรียกร้องให้ผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นนักศึกษาและคนเสื้อแดงที่มาร่วมอยู่ในความสงบ

“ขอให้พี่น้องทุกคนควบคุมอารมณ์ เรายืนยันแนวทางสันติวิธี อย่าหวั่นไหวกับการยั่วยุ ไม่ว่าเขาจะเป็นฝ่ายใด เราจะไม่ใช้กำลัง ถ้าใครที่ใช้กำลัง เราถือว่าไม่ใช่พวกเรา” นายอานนท์ กล่าว

ก่อนหน้าการชุมนุมในวันนี้ นายอานนท์ ได้คาดหวังทางกลุ่มจะสามารถทำการประท้วงได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องสามประการ คือ “1. ประยุทธ์ต้องออกไปจากการเป็นนายกรัฐมนตรี 2. เปิดประชุมวิสามัญทันที เพื่อรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชน 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นำสถาบันกษัตริย์กลับมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามครรลองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง”

รถบรรทุกขนคนใส่เสื้อเหลืองมา

ส่วนด้านอดีตแกนนำกลุ่มเสื้อเหลือง เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตหลวงพ่อพุทธอิสระ ต่างได้นำมวลชนมาร่วมรับเสด็จตามจุดต่าง ๆ ตามเส้นทางพระราชดำเนิน จากพระราชวังดุสิตไปยังพระอุโบสถ วัดศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ได้ประเมินว่า มีกลุ่มเสื้อเหลืองมาร่วมอย่างน้อย 25,000 คน ที่มาแสดงพลังพิทักษ์สถาบันพระกษัตริย์

อย่างไรก็ตาม ได้ปรากฎว่ามีรถยนต์บรรทุกของกรุงเทพมหานคร ขนคนใส่เสื้อเหลืองมายังถนนราชดำเนินกลาง จนกลายเป็นที่สงสัยถึงความชอบธรรมของกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ในขณะเดียวกัน ประชาชนจำนวนหนึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้สวมเครื่องแบบ แต่ใส่เสื้อเหลืองแทน

ด้านกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ประเมินจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม เมื่อเวลาหนึ่งทุ่มไว้ที่ 8,000 คน ส่วนผู้จัดการชุมนุมกล่าวว่า มีประชาชนร่วมชุมนุมถึงหนึ่งแสนคน

นายวรสิทธิ์ รัตนสิทธิโรจน์ อายุ 70 ปี อดีตครู ชาวจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนเองยังเชื่อมั่นว่าเยาวชนยังมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

“ผมคิดว่าความเป็นคนไทยทุกคนก็อยากให้ประเทศก้าวหน้า ทันสมัย เด็กเขาก็ห่วงอนาคตของเขา ผมดีใจที่เขามีส่วนร่วม แต่ผมเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดกาล ผมเชื่อว่าเด็กเขาไม่ได้เกลียด เพียงแค่อยากเสริมให้ดีขึ้น เรื่องสถาบัน ผมเชื่อว่าเด็กเขาถูกปลูกฝังมาอยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์มีคุณต่อประเทศไทย” นายวรสิทธิ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในตอนเย็น กลุ่มผู้ชุมนุมได้ผ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล พร้อมตะโกนขับไล่พลเอกประยุทธ์ จนสามารถยึดพื้นที่ด้านถนนพิษณุโลก และสะพานมัฆวานฯ ไว้ได้ และได้วางแผนชุมนุมข้ามคืน

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา ได้มาถึงยังสะพานชมัยมรุเชฐ ด้านทิศตะวันออกของทำเนียบรัฐบาล ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมชูสามนิ้ว เพื่อเป็นการประท้วง และตะโกนด้วยคำที่ไม่เหมาะสม แต่ขบวนเสด็จฯ สามารถผ่านไปได้ด้วยดี

ขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกร รัศมีโชติ มาถึงยังสะพานชมัยมรุเชฐ ปะเข้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม วันที่ 14 ตุลาคม 2563 (ภาพ ฐิติ ปลีทอง)
ขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกร รัศมีโชติ มาถึงยังสะพานชมัยมรุเชฐ ปะเข้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม วันที่ 14 ตุลาคม 2563 (ภาพ ฐิติ ปลีทอง)

นางสาวผึ้ง นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ตนเองออกมาร่วมการประท้วง เพราะต้องการเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

“ฉันต้องการประชาธิปไตยที่เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ที่ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่แท้จริง ที่ออกมาวันนี้ มาทำเพื่อตัวเอง เพราะเป็นอนาคตของเราเอง” นางสาวผึ้ง กล่าว

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความห่วงใยผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมในวันนี้ โดยเฉพาะเยาวชนและนักศึกษา จึงขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เรียกลูกหลานกลับบ้าน เพื่อความปลอดภัย และหลีกเลี่ยงจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ประเทศไทยได้ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายต่าง ๆ มาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และผ่านการรัฐประหารมามากกว่า 20 ครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ ได้แถลงว่า โอกาสการเกิดรัฐประหารมีเท่ากับศูนย์ หากว่าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสร้างเงื่อนไข จนนำไปสู่ความรุนแรงเป็นที่เดือดร้อนต่อประชาชน

ในตอนดึกของคืนวันพุธ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมสลายตัว แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังคงดำเนินการชุมนุมต่อไป

ยกระดับชุมนุมไปแยกราชประสงค์

นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่ม "คณะราษฎร" กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมสลายการชุมนุมในคืนนี้ โดยตนเองจะอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลและจะยุติการชุมนุมในช่วงเช้า 6.00 น. หากได้ประกาศจะยกระดับการชุมนุมไปที่แยกราชประสงค์ในวันพรุ่งนี้ วันพฤหัสบดีที่ 15 ต.ค. เวลา 16.00 น.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยสถิติที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมว่า นับตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรก ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2563 มีการชุมนุมอย่างน้อย 246 ครั้ง ใน 62 จังหวัด มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างน้อย 65 ราย ใน 23 คดี โดยมีถึง 33 รายที่ยังเป็นนักศึกษา มีเจ้าหน้าที่ติดตามและคุกคามผู้ร่วมชุมนุมถึงบ้านหรือสถานศึกษาอย่างน้อย 145 ครั้ง และมีผู้ที่เผยแพร่หรือเขียนข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ลงบนโซเชียลมีเดีย และถูกคุกคามอย่างน้อย 34 ราย

ซึ่งล่าสุดเมื่อวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวผู้ร่วมชุมนุมที่รวมตัวก่อนหน้าวันชุมนุมใหญ่จำนวน 21 คน โดยนำตัวไปควบคุมไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ในจังหวัดปทุมธานี และในวันนี้ ทางศาลแขวงดุสิต ได้ปฏิเสธคำขอประกันตัวของผู้ต้องหา 19 ราย รวมทั้งนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน เพราะเหตุผลว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ผู้ต้องหาทั้ง 19 มีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และมีและมีพฤติการณ์ต่อสู้เจ้าพนักงาน”

ในตอนค่ำ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่เพื่อดูสถานการณ์การชุมนุม โดยกล่าวว่า เหตุการณ์ยังคงไม่รุนแรง

“คิดว่าในวันนี้เมื่อเทียบกับอดีต คิดว่ายังมีความอลุ่มอล่วยพอสมควร แม้ว่าจะมีการตะลุมบอน มีการขว้างปา แต่ยังไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายอยากจะเสนอให้มันเป็น อย่างไรก็ตามก็ยังประมาทไม่ได้” นายพิธา กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง