เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่าฯ ร้องยกเลิก 4 โครงการภาคใต้

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.01.28
กรุงเทพฯ
190128-TH-protest-south-1000.jpg เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง ขณะชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องยกเลิก 4 โครงการเขื่อนและผันน้ำ วันที่ 28 มกราคม 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง ปักหลักรวมตัวชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนดำเนินการ 4 โครงการคือ เขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ โครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองนครศรีธรรมราช และโครงการประตูน้ำกั้นน้ำเค็มปากประ โดยประกาศว่าค้างแรมและหวังว่า รัฐบาลจะมีมติยกเลิกโครงการทั้งหมดตามข้อเรียกร้องในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารนี้

เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง เดินทางจากภาคใต้มายังกรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2562 และเดินเท้าจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติแผนการก่อดำเนินโครงการทั้ง 4 โครงการ ประกอบด้วย เขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ โครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองนครศรีธรรมราช และโครงการประตูน้ำกั้นน้ำเค็มปากประ ซึ่งเครือข่ายเชื่อว่า จะส่งผลกระทบให้กับประชาชนในพื้นที่มากกว่าสร้างผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์นี้ การเจรจาระหว่างผู้ชุมนุม กับตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนสู่ทำเนียบรัฐบาล

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง กล่าวว่า ผู้ชุมนุมได้ศึกษาข้อมูลของโครงการทั้ง 4 โครงการ และพบว่า โครงการจะส่งผลกระทบกับคนในพื้นที่ กระทบสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ อีกทั้งพบข้อบกพร่องของการทำข้อมูลโครงการโดยรัฐ ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณายุติแผนดำเนินโครงการทั้งหมด และขอไม่เจรจาเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยในโครงการ

“ยกเลิกโครงการทั้ง 4 โครงการ แล้วก็มาออกแบบโครงการใหม่ ดูว่าสภาพปัญหาที่มีอยู่จะแก้ยังไง เป็นจุดยืนอย่างเดียว เรามีประสบการณ์จำนวนมหาศาลในภาคใต้ ที่เกิดการสร้างแบบนี้แล้วมันก่อความยากลำบาก ถ้าโครงการเกิดขึ้น ความยากลำบากจะเกิดขึ้นกับพวกเรา และรุ่นลูกหลาน… เราตั้งกรรมการร่วมกันได้ เพื่อที่จะหาทางออกร่วมกัน ผมคิดว่า ทำเนียบรัฐบาลต้องตัดสินใจเรื่องนี้ เราไม่สามารถยอมสูญเสียที่ดิน หรืออะไรอีกต่อไปแล้ว” นายประสิทธิ์ชัย กล่าวระหว่างการเจรจากับตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยโครงการที่เครือข่ายฯ คัดค้านประกอบด้วย​ 1.โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ กั้นคลองวังหีบ หมู่ที่ 1 บ้านสระแก้ว และหมู่ที่ 5 บ้านคอกช้าง ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ใช้พื้นที่ 828 ไร่ ใช้งบประมาณ 1.6 พันล้านบาท คาดว่าจะมีการเวนคืนบ้านและที่ดินของประชาชน 3 พันครัวเรือน 2.โครงการคลองผันน้ำเมืองนครศรีธรรมราช โดยขุดคลอง 3 สาย ความยาวรวม 18.64 กิโลเมตร และสร้างประตูระบายน้ำ 7 แห่ง ใช้งบประมาณ 9.5 พันล้านบาท 3.โครงการเขื่อนคลองสังข์ ต.ท่ายาง อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ใช้งบประมาณ ก่อสร้าง 880 ล้านบาท มีที่ดินประชาชนถูกเวนคืน 260 แปลง และ 4.โครงการประตูกั้นน้ำเค็มปากประ ตั้งอยู่ที่ คลองปากประ หมู่ที่ 11 ต.ลำปำ อ.เมืองพัทลุง และชาวบ้านหมู่ที่ 4 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

นายศรเดช คำแก้ว ประชาชนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การออกมาเรียกร้องครั้งนี้ของเครือข่ายฯ เพื่อปกป้องบ้านเกิด และธรรมชาติของภาคใต้ และต้องการให้รัฐบาลพิจารณาเกี่ยวกับโครงการทั้งหมดใหม่อีกครั้ง

“เป้าหมายหลักๆ อย่างเดียวคือ ต้องการให้ยกเลิกทั้ง 4 โครงการ เหตุผลคือ การทำอีไอเอเป็นเท็จ ไม่เคารพสิทธิประชาชน เช่น เขื่อนวังหีบ วัตถุประสงค์การสร้างคือ กันน้ำท่วมเมืองทุ่งสง แต่คลองเส้นนั้นไม่ผ่านทุ่งสง ข้อมูลก็เป็นเท็จแล้ว… ที่ความเจ็บปวดชัดเจน ประตูน้ำเค็มปากประ ข้อมูลอีไอเอ เป็นการก็อปปี้โครงการอื่น” นายศรเดช กล่าว

“การโยกย้ายคนออกจากพื้นที่ใดก็แล้วแต่ เขาต้องไปสร้างอาชีพใหม่ทั้งดุ้น ยกตัวอย่าง ผมเป็นชาวประมง ถ้าวันนี้ให้ผมไปทำสวน ทำไม่เป็น ให้ชาวสวนไปทำประมง ก็ทำไม่เป็น สมมติย้ายเขาออกจากวังหีบ ไม่รู้อีกกี่ปีจะย้ายอีกไหม… นี่คือความเจ็บปวดของคนภาคใต้ เป็นการเอาข้อมูลที่เป็นเท็จมาบิดเบือนในโครงการพระราชดำริ” นายศรเดช กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งเป็นผู้ชี้แจงต่อผู้ชุมนุม ระบุว่า โครงการทั้งหมดที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกนั้น มีเพียงโครงการผันน้ำเมืองนครฯ เท่านั้นที่ดำเนินการไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบความผิดปกติ หรือได้รับผลกระทบจากโครงการสามารถร้องเรียนให้กรมชลประทานตรวจสอบได้

“กรมชลประทานไม่ได้ไปทำโครงการในพื้นที่โดยความเห็นของกรมชลประทานเอง ก่อนจะทำโครงการก็ได้ทำการขอความคิดเห็นของพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ ขอความคิดเห็นหน่วยงานต่างๆ แล้วถึงจะนำเสนอ ครม. ซึ่งการนำเสนอท่านรัฐมนตรีก็ต้องตรวจสอบอีก” นายทองเปลวกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงว่า 1. มติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีต่อโครงการเขื่อนวังหีบ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 คือเป็นเพียงการอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงไปเก็บข้อมูลโครงการ ยังไม่ใช่การอนุมัติก่อสร้าง 2. โครงการผันน้ำเมืองนครฯ อนุมัติดำเนินโครงการไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 มิใช่การดำเนินโครงการอย่างเร่งด่วนตามที่ถูกกล่าวหา และหากมีผลกระทบต่อประชาชน กรมชลประทานจะดำเนินการรับผิดชอบตามกฎหมาย

3. โครงการเขื่อนคลองสังข์ เป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง ไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบ ครม. อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบความผิดปกติของโครงการ สามารถร้องเรียนมายังกรมชลประทานเพื่อให้ตรวจสอบได้ และ 4.โครงการประตูกันน้ำปากประ เพิ่งเริ่มทำการศึกษาเท่านั้น ยังไม่มีการเสนอให้ ครม.พิจารณาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างตัวแทนเครือข่ายฯ และตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่เป็นที่พอใจของเครือข่าย จึงยืนยันที่จะรวมตัวชุมนุมบริเวณใกล้ทำเนียบต่อไป เพื่อรอการประชุม ครม. ในวันอังคาร โดยหวังให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำข้อเรียกร้องให้ยุติโครงการเข้าพิจารณา

เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องยกเลิก 4 โครงการเขื่อนและผันน้ำ วันที่ 28 มกราคม 2562 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)
เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องยกเลิก 4 โครงการเขื่อนและผันน้ำ วันที่ 28 มกราคม 2562 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง