ผู้ชุมนุมถวายหนังสือถึงในหลวง ร.10 เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.09.20
กรุงเทพฯ
200920_TH_Protest_letter-620.jpg น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ตัวแทนนำหนังสือเข้ายื่นต่อทำเนียบองคมนตรี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดกั้นไม่ให้เดินขบวนไปยังทำเนียบองคมนตรี ด้านข้างพระบรมมหาราชวัง วันที่ 20 กันยายน 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันอาทิตย์นี้ ผู้ชุมนุม “19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร” ได้ถวายหนังสือถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ รัชกาลที่ 10 เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแนวทาง 10 ข้อ ที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเสนอ ด้านนายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชี้ว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญของการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่าจะยังไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเร็ววันนี้

การยื่นหนังสือดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมได้มอบหมายให้ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง เป็นตัวแทนนำหนังสือเข้าไปยื่นต่อทำเนียบองคมนตรี แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้น โดย พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้ทำหน้าที่ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลในการรับหนังสือแทน โดย น.ส. ปนัสยา ได้อ่านหนังสือดังกล่าวต่อหน้า พล.ต.ท.ภัคพงศ์ โดยมีเนื้อความดังนี้

“1. ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกลุ่มเครือข่ายผลประโยชน์ที่ถูกแต่งตั้งมาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจของระบบเผด็จการ ลาออกทั้งหมด 2. ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจะต้องมีการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และต้องร่างใหม่ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา โดยเฉพาะหมวดพระมหากษัตริย์ 3. ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ตามแนวทางที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เรียกร้อง 10 ข้อ” น.ส.ปนัสยา อ่านหนังสือดังกล่าวต่อหน้า พล.ต.ท.ภัคพงศ์

“ด้วยเหตุที่พระองค์ในฐานะใจกลางศักดินาและทรงพระราชอำนาจควบคุมองคาพยพระบอบเผด็จการทั้งหมด จึงขอให้พระองค์รวมถึงองคาพยพที่อยู่ใต้อำนาจของพระองค์ยอมรับและปฏิบัติตามข้อเสนอของพวกเรา ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีข้อใดมีเนื้อหาล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไม่ หากแต่เป็นไปเพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ และเป็นทางออกของวิกฤติศรัทธาที่กำลังเกิดขึ้นกับพระองค์ในกาลปัจจุบัน จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว เพราะหากเนิ่นช้า ราษฎรที่กำลังทุกข์ยากจะตั้งคำถามต่อความเอาใจใส่ราษฎรของพระองค์” น.ส.ปนัสยา ระบุ

ด้าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ ระบุว่า ตนเองในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์จะเป็นผู้รับหนังสือจากผู้ชุมนุม และดำเนินการต่อในส่วนที่เกี่ยวข้อง

“รับปากว่าพี่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง… องคมนตรี ไม่เกี่ยวกับการเมือง… พี่จะส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็แล้วแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพิจารณา พี่ก็เสนอตามขั้นตอน สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะพิจารณาตามขั้นตอน แล้วก็จะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบ” พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวหลังรับหนังสือ

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความขอบคุณ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทุกคน ที่ช่วยกันทำให้สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่และประชาชนได้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการยั่วยุ เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดโดยไม่จำเป็น และขอให้คนไทยทุกคนร่วมมือร่วมใจ ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่

กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทำการปัก “หมุดคณะราษฎร์ 2” ที่หน้าเวทีที่ใช้ปราศัยในสนามหลวง วันที่ 20 กันยายน 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)
กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทำการปัก “หมุดคณะราษฎร์ 2” ที่หน้าเวทีที่ใช้ปราศัยในสนามหลวง วันที่ 20 กันยายน 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

 

ปัก หมุดคณะราษฎร์ 2”

สำหรับ การชุมนุม “19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร” เริ่มขึ้นในช่วงสายของวันเสาร์ โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้นัดรวมตัวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เพื่อจัดชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากเคยจัดการชุมนุมมาแล้วก่อนหน้านี้ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ มธ. รังสิต

โดยแม้ มธ. จะไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมใช้สถานที่ภายในมหาวิทยาลัยรวมตัว แต่ผู้ชุมนุมได้พยายามผลักดันจนสามารถเปิดประตูเข้าไปได้ และเริ่มปราศรัยที่สนามฟุตบอล ก่อนที่จะย้ายการชุมนุมมาที่ท้องสนามหลวง โดยตั้งเวทีหันหลังให้กับประตู มธ. จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล ระบุว่ามีผู้ร่วมชุมนุมครั้งนี้ราว 1.5 แสนคน ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเองประเมินว่า มีประชาชนร่วมราว 2 แสนคน การชุมนุมครั้งนี้ บนเวทีมีการปราศรัยถึงความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และความจำเป็นของการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการปราศรัยตลอดคืนจนถึงช่วงเช้าวันอาทิตย์

ในวันอาทิตย์ กิจกรรมเริ่มขึ้นในเวลาราว 06.00 น. โดยผู้ชุมนุมได้เจาะพื้นสนามหลวงบริเวณหน้าเวทีปราศรัย เพื่อปักหมุดคณะราษฎรอันใหม่ ทดแทนหมุดคณะราษฎรเดิมที่หายไปจากลานหน้าพระราชวังดุสิตในปี 2560 โดยหมุดใหม่ ระบุข้อความว่า “ณ ที่นี้ ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง เวลาย่ำรุ่ง 20 กันยายน 2563”

ต่อมาในเวลาประมาณ 08.00 น. แกนนำการชุมนุมได้เคลื่อนที่ด้วยรถบรรทุกบนถนนราชดำเนิน มีเป้าหมายไปยังทำเนียบองคมนตรี เพื่อยื่นหนังสือต่อองคมนตรีให้นำถวายแด่ ในหลวงรัชกาลที่ 10 อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้ ตั้งแถวสกัดไว้สองชั้นทำให้ผู้ชุมนุมส่ง น.ส. ปนัสยา เป็นตัวแทนไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตกลงยื่นหนังสือดังกล่าวต่อ พล.ต.ท.ภัคพงศ์

“ถ้าไม่มีการดำเนินการ ครั้งหน้าเราได้เจอกัน จริง ๆ ก็ไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไหร่ แต่ว่าก็ยอมรับว่ามันทำได้แค่นี้ จะมีการติดตามว่าผลเป็นยังไง ถ้าไม่มีความคืบหน้าเลย คราวหน้าเราเห็นดีกัน” น.ส.ปนัสยา กล่าวแก่สื่อมวลชนหลังยื่นหนังสือ

ขณะเดียวกัน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บันทึกเทปการปราศรัย และการให้สัมภาษณ์ของผู้ชุมนุมไว้ทั้งหมด ซึ่งจะได้ใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในอนาคต หากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย

“การทำผิดส่วนที่หนึ่ง ตั้งแต่ออกจากมหาลัยธรรมศาสตร์เข้าสู่สนามหลวง ถ้าสนามหลวงเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการ ถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนใช้ แต่การชุมนุมโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ ถือว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเข้าไปในท้องสนามหลวงแล้ว อยู่เกินเวลาที่กำหนด ถือว่าเป็นการกระทำผิดในส่วนที่สอง การกระทำความผิดส่วนที่สาม คือการปักหมุดตรงนี้ ถือว่าเป็นส่วนเกินไม่ใช่สิ่งที่พึงมีในท้องสนามหลวง ทางกรุงเทพมหานครต้องพิจารณาต่อไป ส่วนผู้ที่กระทำความผิด ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการบันทึกภาพและเสียงไว้หมด” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว

“หลังจากนี้ทีมพนักงานสอบสวนก็คงจะต้องเอาเทปต่าง ๆ ที่ได้มาพิจารณาว่า การปราศรัย การให้สัมภาษณ์ พาดพิงต่าง ๆ เป็นความผิดหรือไม่อย่างไร และจากนั้นก็จะมีการดำเนินคดี ถ้าการกระทำนั้นมีความผิด” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายกิตติพันธ์ อ่อนจันทร์ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี อายุ 18 ปี หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองมาร่วมการชุมนุมครั้งนี้ ด้วยหวังว่าจะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อ และดีใจมีผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก

“ผมถือว่าวันนี้เป็นการจุดเทียนเล่มแรก เป็นการจุดไม้ขีดไฟก้านแรก ชัยชนะตอนนี้อาจจะยังไม่ได้ แต่ชัยชนะจะค่อย ๆ เกิดขึ้นมาให้เราเห็นเรื่อย ๆ เหมือนผึ้งต่อย ต่อยคนให้เจ็บไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเขาจะทนไม่ไหวไปเอง” นายกิตติพันธ์ กล่าว

หลังการยื่นหนังสือของผู้ชุมนุม แกนนำการชุมนุม ได้ประกาศชัยชนะของการชุมนุม และนำผู้ชุมนุมเคลื่อนสู่ท้องสนามหลวงอีกครั้ง และประกาศยุติการชุมนุม โดยระบุว่า ในวันที่ 24 กันยายน 2563 จะมีการชุมนุมอีกครั้งที่อาคารรัฐสภา

นักวิชาการ : การเปลี่ยนแปลงจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์ ชี้ว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นหมุดหมายที่ดีของการเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะยังไม่เกิดในระยะเวลาอันใกล้

“ผมคิดว่า ไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอะไรมากมาย แต่อย่างน้อยมันเป็นเหมือนจุดสำคัญอันนึง ที่ทำให้เห็นว่ามีการเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ในการปฏิรูปประเทศในภาพรวม พูดถึงโครงสร้างอำนาจจริง ๆ เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ส่วนการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ น่าจะต้องใช้เวลา ต้องรอให้คนรุ่นนี้โตขึ้นมาแทนที่คนกลุ่มที่เป็นอนุรักษ์นิยมและฝ่ายทหารก่อน เพราะตอนนี้คนกลุ่มเดิมไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพราะมันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์” นายฐิติพล กล่าวผ่านโทรศัพท์

นายฐิติพล ระบุว่า ไม่น่าจะไม่มีความรุนแรงในระยะเวลาอันใกล้ เพราะฝ่ายใดก่อขึ้นมา ก็จะขาดความชอบธรรม และข้อเรียกร้องของนักศึกษาอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็นการชุมนุมครั้งแรกหลังโควิด-19 ระบาด โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้รัฐบาลเลิกคุกคามประชาชน ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเรียกร้องครั้งดังกล่าว ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาจัดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในสถานการศึกษา และในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ

ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการปราศรัยใหญ่ และระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 มีการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยยึด 3 ข้อเรียกร้องเดิม เพิ่ม 2 จุดยืนคือ การไม่เอารัฐประหาร และรัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝันที่จะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ร่วมปราศรัย ผู้ร่วมกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจับกุมแล้ว 14 คน ได้รับประกันทั้งหมด โดยนายอานนท์ ถูกจับ 3 ครั้ง นายภานุพงศ์ ถูกจับ 2 ครั้ง และคนอื่น ๆ ถูกจับคนละ 1 ครั้ง กระทั่งนายอานนท์ และนายภานุพงศ์ ถูกถอนประกัน จนต้องถูกคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมาไม่นาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง